ยูเซปพลัส: เช็กเงื่อนไข สิทธิประโยชน์ ป่วยกลุ่มไหนรักษาฟรี เริ่ม 16 มี.ค.

FILE PHOTO : REUTERS/Shannon Stapleton
ปรับปรุงข้อมูลล่าสุด วันที่ 9 มีนาคม 2565

รู้จัก “ยูเซปโควิดพลัส” เช็กอาการผู้ป่วยสีแดง เหลือง เขียว กลุ่มไหนเข้าข่ายรักษาฟรี-ไม่ฟรี มีผลบังคับใช้ 16 มี.ค.นี้ 

จากกรณีคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2565 มีมติเห็นชอบหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการกำหนดค่าใช้จ่ายในการดำเนินการผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตกรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด-19 หรือยูเซปโควิดพลัส (UCEP COVID-19 Plus) โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 16 มีนาคม 2565 เป็นต้นไป

“ประชาชาติธุรกิจ” สรุปหลักเกณฑ์ เงื่อนไขของยูเซปโควิดพลัส ที่มีการปรับปรุงครั้งล่าสุดเพื่อใช้รองรับการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 กลุ่มสีเหลือง สีแดง รวมถึงผู้ป่วยกลุ่มสีเขียวที่มีอาการไม่รุนแรง ดังนี้

ยูเซปโควิดพลัส คืออะไร

ระบบยูเซปโควิดพลัส (UCEP COVID-19 Plus) เป็นการดำเนินการเพื่อรองรับผู้ติดเชื้อโควิดในกลุ่มผู้ป่วยสีเหลือง สีแดง ที่ถือเป็นผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตสามารถเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลทุกแห่งที่ใกล้ที่สุดได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นโรงพยาบาลตามสิทธิที่ตัวเองมีอยู่จนพ้นวิกฤตและสามารถคลื่อนย้ายได้อย่างปลอดภัย แต่ไม่เกิน 72 ชั่วโมง โดยไม่มีค่าใช้จ่าย โดยมีแนวทางรักษาตามสิทธิ ยูเซปโควิดพลัส ดังนี้

การรักษาโควิดตามสิทธิ UCEP

1. สถานพยาบาลต้องจัดให้มีการรักษาพยาบาลโดยฉุกเฉิน โดยไม่มีเงื่อนไขในการเรียกเก็บค่ารักษาพยาบาล

2. กรณีที่มีปัญหาการวินิจฉัยในการคัดแยกผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตให้ปรึกษาศูนย์ประสานคุ้มครองสิทธิผู้ป่วยฉุกเฉิน ของสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติได้ตลอดเวลา 24 ชั่วโมง

3. สถานพยาบาลต้องให้การดูแลรักษาผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตตามแนวทางที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด

4. กรณีมีความจำเป็นต้องส่งต่อผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตไปรับการรักษายังสถานพยาบาลอื่น สถานพยาบาลต้องจัดการให้มีการส่งต่อตามความเหมาะสม

5. สถานพยาบาลจะได้รับค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นในช่วงเวลานับตั้งแต่รับผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตตามแนวทางที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด

6. สถานพยาบาลเรียกเก็บค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นไปที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติตามแนวทางที่กำหนด

7. สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติตรวจสอบความถูกต้อง สรุปค่าใช้จ่ายและแจ้งให้กองทุนของผู้มีสิทธิได้รับการรักษาพยาบาลตามกฎหมายให้ทราบภายใน 30 วัน นับตั้งแต่เวลาที่ได้รับเอกสารครบถ้วนแล้ว

8. กองทุนของผู้มีสิทธิได้รับการรักษาพยาบาลตามกฎหมาย ต้องจ่ายค่าใช้จ่ายในอัตราตามบัญชีและอัตราค่าใช้จ่ายแนบท้ายหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ให้สถานพยาบาลภายใน 15 วัน นับจากวันที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติแจ้งกองทุนของผู้มีสิทธิได้รับการรักษาพยาบาล

9. กรณีส่งต่อผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตจากสถานพยาบาลแห่งหนึ่งไปยังสถานพยาบาลอีกแห่งหนึ่ง จะได้รับค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาตั้งแต่รับผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตตามแนวทางที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด

กลุ่มผู้ป่วยสีเขียว

สำหรับผู้ป่วยกลุ่มสีเขียว คือ ผู้ที่ไม่มีอาการ หรืออาการไม่รุนแรง ไม่นับเป็นผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตแต่สามารถเข้ารับการรักษาฟรีในโรงพยาบาลตามสิทธิของแต่ละคน เช่น สิทธิประกันสุขภาพถ้วนหน้า สิทธิประกันสังคม หรือสิทธิรักษาพยาบาลของข้าราชการ

แนวทางการรักษา : แบบ Home Isolation (HI), Community Isolation (CI) หรือ Hotel Isolation

อาการผู้ป่วยกลุ่มสีเขียว

  • มีไข้อุณหภูมิ 37.5 องศาเซลเซียสขึ้นไป
  • ลิ้นไม่รับรส จมูกไม่รับกลิ่น
  • ไอ มีน้ำมูก เจ็บคอ
  • ตาแดง มีผื่น และถ่ายเหลว

กลุ่มผู้ป่วยสีเหลือง

ผู้ป่วยกลุ่มสีเหลือง แพทย์วินิจฉัยว่าเข้าเกณฑ์วิกฤตฉุกเฉินตามเกณฑ์สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) โดยจะได้รับสิทธิในการถูกส่งต่อผู้ป่วยฉุกเฉินรุนแรงจากโรงพยาบาลหนึ่งไปเข้ารับการรักษาใน ICU ของอีกโรงพยาบาลได้

แนวทางการรักษา : สามารถเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลได้ในโรงพยาบาลทุกแห่ง โดยไม่กำหนดระยะเวลา 72 ชั่วโมงแรก เนื่องจากมีอาการที่รุนแรงกว่าผู้ป่วยโควิดสีเขียว จึงไม่เหมาะที่จะทำการกักตัวรักษาที่บ้านหรือชุมชนได้ และควรเข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาล เพื่อได้รับการดูแลจากแพทย์

กลุ่มผู้ป่วยสีแดง

ผู้ป่วยกลุ่มสีแดง แพทย์วินิจฉัยว่าเข้าเกณฑ์วิกฤตฉุกเฉินตามเกณฑ์สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) เช่นเดียวกับ กลุ่มสีเหลืองจะได้รับสิทธิในการถูกส่งต่อผู้ป่วยฉุกเฉินรุนแรงจากโรงพยาบาลหนึ่งไปเข้ารับการรักษาใน ICU ของอีกโรงพยาบาลได้เช่นกัน

แนวทางการรักษา : สามารถเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลได้ในโรงพยาบาลทุกแห่ง โดยไม่กำหนดระยะเวลา 72 ชั่วโมงแรก เนื่องจากเป็นกลุ่มผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง ต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ในโรงพยาบาลอย่างใกล้ชิดที่ห้อง ICU เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับเครื่องช่วยหายใจ

อาการผู้ป่วยกลุ่มสีเหลือง-แดงที่เข้าขั้นวิกฤต

1. หัวใจหยุดเต้น มีสิ่งอุดกั้นทางเดินหายใจ หายใจลำบากเฉียบพลัน มีภาวะช็อก มีภาวะโคม่า มีอาการซึมลง เมื่อเทียบกับระดับความรู้สึกตัวเดิมหรือกำลังชักเมื่อแรกรับที่จุดคัดแยก

2. มีอาการไข้สูงกว่า 39 องศาฯ นานกว่า 24 ชั่วโมง หรือ หายใจเร็วกว่า 25 ครั้งต่อนาที ในผู้ใหญ่ หรือ Oxygen Saturation แรกรับ Room Air น้อยกว่าร้อยละ 94 หรือ 39 องศาฯ โรคประจำตัวที่มีการเปลี่ยนแปลง หรือจำเป็นต้องติดตามอาการอย่างใกล้ชิด ตามดุลยพินิจของแพทย์ หรือ ในเด็ก

หากมีอาการหายใจลำบาก ซึมลง ดื่มนม หรือรับประทานอาหารน้อยลง หรือ Exercise-induced hypoxia in COVID-19 patients: มีการลดลง Oxygen Saturation Room Air มากกว่าหรือเท่ากับร้อยละ 3 หรือ ผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงสูงตามดุลยพินิจของผู้คัดแยก

3. มีอาการเหนื่อยหอบ หายใจเร็ว มีปัจจัยเสี่ยงอาการรุนแรงหรือโรคร่วม เช่น อายุมากกว่า 60 ปี โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคปอดเรื้อรังอื่นๆ ไตเรื้อรัง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคหัวใจแต่กำเนิด โรคหลอดเลือดสมอง เบาหวานที่คุมไม่ได้ ภาวะอ้วน น้ำหนักเกิน 90 กิโลกรัม หญิงตั้งครรภ์ ตับแข็ง ภูมิคุ้มกันต่ำ และเม็ดเลือดขาวน้อยกว่า 1,000 เซลล์ต่อไมโครลิตร อื่น ๆ หรือตามดุลยพินิจของผู้คัดแยกขั้นตอนรับบริการ

ขั้นตอนการใช้สิทธิ UCEP

  • ผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตเข้าโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด
  • โรงพยาบาลประเมินอาการและคัดแยกระดับความฉุกเฉิน
  • ศูนย์ประสานคุ้มครองสิทธิ ผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตตรวจสอบความถูกต้องครบถ้วนของข้อมูล
  • กรณีเข้าเกณฑ์ฉุกเฉินวิกฤต จะได้รับความคุ้มครองตามสิทธิ UCEP ทันทีแต่ไม่เกิน 72 ชั่วโมง
  • กรณีไม่เข้าเกณฑ์ฉุกเฉินวิกฤตให้รีบประสานโรงพยาบาลตามสิทธิหากประสงค์รักษาต่อต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายเอง

เปิดงบประมาณ UCEP

นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค. ได้แถลงข้อมูลงบประมาณที่ใช้ในการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ซึ่ง สปสช.ได้นำเสนอในที่ประชุม ศบค.ว่าทั้ง 3 ระบบประกันสุขภาพใช้งบประมาณรวมทั้งหมดในการจ่ายค่าบริการรักษาโควิด

  • ปี 2563 จ่ายไป 3,841 ล้านบาท
  • ปี 2564 จ่ายไป 97,747 ล้านบาท
  • ปี 2565 จ่ายไปแล้ว 32,488 ล้านบาท และอยู่ระหว่างการของบฯเพิ่มอีก 51,065 ล้านบาท

เมื่อเฉลี่ยค่ารักษาต่อผู้ป่วย 1 ราย แบ่งตามระดับอาการและประเภทโรงพยาบาล ดังนี้

กลุ่มผู้ป่วยสีเขียว 

  • โรงพยาบาลรัฐ 23,248 บาท
  • โรงพยาบาลเอกชน 50,326 บาท

กลุ่มผู้ป่วยสีเหลือง

  • โรงพยาบาลรัฐ 81,844 บาท
  • โรงพยาบาลเอกชน 92,752 บาท

กลุ่มผู้ป่วยสีแดง

  • โรงพยาบาลรัฐ 252,182 บาท
  • โรงพยาบาลเอกชน 375,428 บาท