ศบค.รับติดโควิดวันละเป็นแสน ที่ปรึกษาใหญ่ชี้สงกรานต์เชื้อกระจายหนัก

นพ.อุดม คชินทร ที่ปรึกษาศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.)

นพ.อุดม คชินทร ที่ปรึกษา ศบค. ยอมรับมีผู้ติดโควิดวันละเป็นแสนราย หวั่นสงกรานต์เชื้อแพร่กระจาย ไม่ห้ามเดินทาง แนะเคร่งมาตรการ สธ. ใส่แมสก์ ดูแลตัวเอง

วันที่ 8 เมษายน 2565 ที่ทำเนียบรัฐบาล เวลา 09.10 น. นพ.อุดม คชินทร ที่ปรึกษาศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ให้สัมภาษณ์ก่อนการประชุม ศบค.ชุดใหญ่ ตามรายงานของมติชน ถึงมาตรการช่วงเทศกาลสงกรานต์ ซึ่งยังพบว่า มีผู้ติดเชื้อจำนวนมากกว่า ตัวเลขผู้ติดเชื้อยังคงที่แต่ถ้าดูตัวเลขผู้ติดเชื้อปอดอักเสบ ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2565 มีประมาณ 500 ราย

แต่ตอนนี้ขึ้นไปถึง 1,800-1,900 ราย เพิ่มขึ้นคิดเป็น 3-4 เท่า ส่วนผู้ป่วยที่ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจมีจำนวน 800 กว่าราย เพิ่มขึ้นคิดเป็นเกือบ 8 เท่า ส่วนจำนวนผู้ป่วยตายเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์มีเพียง 10-20 ราย แต่วันนี้ขึ้นมาถึง 89 ราย เพิ่มขึ้นคิดเป็น 3-4 เท่า

นพ.อุดมกล่าวว่า หมายความว่าจำนวนผู้ป่วยยังมีจำนวนมากวันละ 5-6 หมื่นราย ซึ่งยังมีที่ยังไม่ได้ตรวจอีกประมาณ 2-3 เท่า ทำให้รวมติดเชื้อวันละกว่าแสนราย ที่กลัวคือจะกระจายในช่วงสงกรานต์ เพราะจะมีการรวมตัวกัน

การประชุม ศบค.ครั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะ ผอ.ศบค. จึงอยากมาย้ำเรื่องมาตรการโดยเฉพาะกับผู้ว่าราชการจังหวัดต่าง ๆ ที่ต้องไปเคร่งครัดมาตรการ เนื่องจากจะไม่เพิ่มมาตรการใด ๆ ทั้งสิ้นแล้ว ขณะนี้มีแต่ผ่อนอย่างเดียว แต่เมื่อเราผ่อนประชาชนต้องช่วยกันดูแลตัวเองเพื่อตัดวงจรระบาด ทำให้กราฟผู้ติดเชื้อที่สูงราบลงมาให้ได้

นพ.อุดมกล่าวต่อว่า เราไม่ได้ห้ามที่จะเดินทางไปไหน แต่ขอให้ใส่หน้ากากอนามัย และเว้นระยะห่าง หากเว้นไม่ได้ต้องใส่หน้ากากตลอดเวลา เทศกาลสงกรานต์นี้กลับบ้านได้ แต่ต้องจริงจังกับการรักษามาตรการ ที่สำคัญตอนนี้ต้องฉีดวัคซีน เพราะสามารถป้องกันได้จริง ๆ และเหตุที่ต้องฉีดเข็มกระตุ้น เพราะไวรัสมีการกลายพันธุ์ ซึ่งขณะนี้ไทยเพิ่งฉีดเข็ม 3 ประมาณ 35% ถือว่าต่ำมาก

“ส่วนกลุ่ม 608 ฉีดเข็มกระตุ้นได้ไม่ถึง 40% ด้วยซ้ำ ซึ่งองค์การอนามัยโลก หรือ WHO ออกมาระบุว่าจำเป็นต้องฉีดเข็มกระตุ้นเพื่อป้องกันเชื้อโอมิครอน ขณะที่องค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา หรือ FDA ระบุว่าต้องฉีดเข็ม 4 ด้วย แต่คนยังไปเชื่อข้อมูลเก่าที่ไม่ถูกต้อง จึงไม่ไปฉีดกัน นอกจากนี้ยังมีข้อมูลของอิสราเอล ที่มีการฉีดเข็ม 5 แล้ว มีข้อมูลว่าหากฉีดเข็ม 3 จะติดเชื้อ 360 รายต่อแสนคน และหากฉีดเข็ม 4 จะติดเชื้อเพียง 177 คนต่อแสนคน

“ส่วนข้อมูลของไทยพบว่าการฉีดเข็ม 4 สามารถป้องกันอาการรุนแรงได้กว่า 90% ดังนั้น การฉีดเข็ม 3 และ เข็ม 4 สามารถลดอัตราความรุนแรง และการเสียชีวิตได้ ทั้งนี้ ข้อมูลจากต่างประเทศระบุว่าการฉีดเข็มกระตุ้นสามารถลดอาการลองโควิดได้ถึง 50% ส่วนคนที่บอกว่าไม่ฉีดวัคซีน เพื่อให้ติดเชื้อธรรมชาติดีกว่านั้น เป็นความเชื่อที่ผิด เพราะอัตราการเสียชีวิตทั่วโลกยังสูงอยู่” นพ.อุดมกล่าว

เมื่อถามว่า เห็นด้วยหรือไม่ที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอให้ยกเลิกการตรวจ RT-PCR มาใช้ ATK แทน กับนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้าประเทศ นพ.อุดมกล่าวว่า ตัวเลขผู้ติดเชื้อที่เดินทางเข้าประเทศในขณะนี้น้อยมาก เมื่อเทียบกับจำนวนผู้ติดเชื้อในประเทศที่ตกวันละกว่าแสนคน เพราะที่ผ่านมามีการผ่อนคลายมาตรการการเข้าประเทศตามลำดับ และเป็นสิ่งที่ปฏิบัติกันทั่วโลก เพื่อให้เศรษฐกิจสามารถเดินหน้าต่อได้ เพียงแต่ต้องเคร่งครัดมาตรการสาธารณสุข

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้ ศบค.และกระทรวงสาธารณสุขมีการคาดการณ์ (ฉากทัศน์) ว่า ตัวเลขผู้ป่วยใหม่ในช่วงเทศกาลสงกรานต์อาจจะเพิ่มขึ้นไปถึง 1 แสนราย หากประชาชนย่อหย่อนต่อมาตรการที่รัฐบาลกำหนดไว้ และจำนวนผู้เสียชีวิตจะเพิ่มขึ้นสูงสุด 250 คน/วัน ในช่วงต้นเดือนพฤษภาคม หรือช่วงหลังสงกรานต์ที่ประชาชนเดินทางกลับจากภูมิลำเนาและท่องเที่ยวในช่วงสงกรานต์

หมอศิริราช เตือน 4 เสี่ยงสงกรานต์

ก่อนหน้านี้ ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ออกมาเตือนถึงการระบาดของโรคโควิด-19 ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ว่า ตนมักจะเตือนเรื่อง “4 เสี่ยง” ที่เจอพร้อมกันเมื่อไรต้องระวังให้มากคือ บุคคล กิจกรรม สถานที่ และช่วงเวลาเสี่ยง ขณะนี้มีการผ่อนคลายกิจกรรมมาระยะหนึ่งทำให้ 3 เสี่ยงแรก เกิดขึ้นแล้ว ส่วนช่วงเวลาเสี่ยงที่ใกล้มาถึงคือสงกรานต์

“ปีที่แล้วหลังเทศกาลสงกรานต์พบว่าหลายอย่างไปในทางแย่ลง แต่ปีนี้จุดต่างคือวัคซีน รวมถึงสายพันธุ์โอมิครอนที่ความรุนแรงลดลง และอีกจุดเปลี่ยนคือการพยายามผ่อนคลายกิจกรรมต่าง ๆ หลังจากที่เราเดินมาระยะหนึ่ง ผ่านจุดทดสอบเมื่อช่วงปีใหม่ จะเห็นว่าตัวเลขเราเกือบจะไม่ขึ้น ถือว่าร่วมมือกันทำได้ดี

ต่อมาหลังตรุษจีนตัวเลขเริ่มขึ้น เชื่อว่าหลายคนที่ไม่ได้เดินทางใน 2 ปีที่ผ่านมา สงกรานต์ปีนี้คงอยากกลับไป จะเกิดการเคลื่อนย้ายระหว่างจังหวัดเยอะ สิ่งที่อาจเกิดขึ้นคือ ตัวเลขติดเชื้อต่อวัน เพราะโอมิครอนติดเชื้อง่าย ขณะที่คนติดไม่มีอาการ

ดังนั้น การเดินทางไปหาครอบครัวต้องคิดว่าเราอาจนำเชื้อไปแพร่ได้ ให้ผู้ที่จะกลับบ้านเดินทางไปท่องเที่ยวตรวจ ATK ก่อนเดินทาง สวมหน้ากากอนามัยเพราะยังมีความจำเป็น และหมั่นล้างมือเพราะเป็นสุขอนามัยที่จำเป็นเพื่อลดการติดเชื้อ” ศ.นพ.ประสิทธิ์กล่าว

ศ.นพ.ประสิทธิ์กล่าวว่า สิ่งที่ไม่อยากเห็นคือตัวเลขผู้เสียชีวิต ข้อมูล 3 สัปดาห์ของ มี.ค. พบว่า 50-60% เป็นผู้ที่ไม่ได้รับวัคซีนอีก 30% ฉีด 2 เข็มนานเกิน 3 เดือน ส่วน 5-10% คือฉีดเข็มเดียว ดังนั้น เมื่อรวมกันกว่า 90% คือคนที่ไม่ได้รับการฉีดวัคซีนเพียงพอ ต้องดูจุดแก้ตรงนี้ ต่อมาคือ 80-90% ของผู้เสียชีวิตคือ กลุ่มเสี่ยง 608

ดังนั้น ถ้าอยากให้สงกรานต์เต็มไปด้วยความสุขต่อเนื่องไปจนหลังสงกรานต์ ช่วงนี้จึงสำคัญในการเชิญชวนให้มาฉีดวัคซีน คนที่รับ 2 เข็มเกิน 3 เดือนแล้วให้รีบมารับเข็มกระตุ้น โดยตัวเลขผู้สูงอายุที่ยังไม่มารับวัคซีนเลยมีราว 2.2 ล้านคน ซึ่งจะเป็นกลุ่มเสี่ยง แม้โอมิครอนไม่รุนแรง แต่ถ้าไม่ฉีดวัคซีน ก็จะกลายเป็นความเสี่ยง ฉะนั้น กลุ่ม 608 ต้องมารับวัคซีนไปจนถึงเข็มกระตุ้น