เทียบอาการโรคซึมเศร้า-ไบโพลาร์ ผู้ใกล้ชิดต้องทำตัวอย่างไร

โรคซึมเศร้า

สภาพแวดล้อม หรือแม้กระทั่งผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 เป็นอีกหนึ่งต้นเหตุสำคัญของโรคซึมเศร้าและโรคไบโพลาร์ที่เกิดขึ้นได้กับทุกคนทั้งที่รู้ตัวและไม่รู้ตัว

ปัจจุบันผู้ป่วยทั้ง 2 โรคมีปริมาณเพิ่มมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นประชาชนทั่วไป หรือแม้กระทั่งดาราศิลปินที่มีหน้าที่การงานที่ดี มีชื่อเสียง เงินทอง แต่ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าทุกคนต่างมีปัญหาของตนเองจากสิ่งต่าง ๆ ที่อยู่รอบตัว และหากผู้ป่วยไม่สามารถจัดการความรู้สึกหรือแก้ปัญหาได้ จนทำให้เกิดการสะสมความเครียดอาจนำไปสู่การฆ่าตัวตายได้

“ประชาชาติธุรกิจ” พาผู้อ่านรู้จักกับโรคซึมเศร้า และโรคไบโพลาร์ โรคที่เกี่ยวข้องกับอารมณ์และความรู้สึกของผู้ป่วยว่ามีสาเหตุและลักษณะอาการที่แตกต่างกันอย่างไร รวมถึงวิธีการรับมือของผู้ที่ต้องอยู่ใกล้ชิดกับผู้ป่วย

โรคซึมเศร้าเกิดจากอะไร

กรมสุขภาพจิต ระบุว่า “โรคซึมเศร้า” คือโรคที่เกิดจากความผิดปกติของสมอง ในส่วนที่มีผลกระทบต่อความคิด อารมณ์ ความรู้สึก พฤติกรรม รวมถึงสุขภาพทางกาย ซึ่งคนส่วนใหญ่จะคิดว่าโรคซึมเศร้าเป็นเพียงอาการหรือสภาพจิตใจที่เปลี่ยนไป

โดยคิดว่าโรคซึมเศร้าเกิดจากความผิดหวัง หรือการได้รับความกระทบกระเทือนทางจิตใจ ซึ่งหากผู้ป่วยไม่สามารถจัดการกับปัญหาต่าง ๆ ได้ จะกลายเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดความเครียด วิตกกังวล จนพัฒนาไปสู่ภาวะซึมเศร้าและคิดทำร้ายตัวเองหรือฆ่าตัวตายได้

พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยสถิติคนไทยที่ฆ่าตัวตาย ตัวเลขย้อนหลังล่าสุดเมื่อปี 2563 เฉลี่ย 7 รายต่อประชากร 100,000 ราย และปี 2564 ที่ผ่านมาได้มีการประมาณการสูงขึ้นใกล้ ๆ กับ 8 รายต่อประชากร 100,000 ราย และมีแนวโน้มจะเป็นเช่นนั้น

โรคซึมเศร้ามีอาการอย่างไร

สำหรับอาการของโรคซึมเศร้า ได้แก่ เศร้า หดหู่ ซึม เบื่อหน่าย หงุดหงิด ฉุนเฉียว อ่อนไหวง่าย ขัดแย้งกับคนอื่นง่าย รู้สึกสิ้นหวัง ดูถูกตนเอง อาจมีอาการวิตกกังวล เครียด นั่งไม่ติด สมาธิลดลง

ผู้ป่วยจะมีความรู้สึกว่าไม่อยากทำอะไร ไม่อยากกินอาหาร นอนไม่หลับ เหนื่อยล้า อ่อนเพลีย หมดแรง ขาดความมั่นใจในตัวเอง การตัดสินใจแย่ลง รู้สึกหมดหวัง และมีความคิดอยากตายหรืออยากฆ่าตัวตาย

ทำอย่างไรเมื่อต้องอยู่กับผู้ป่วยโรคซึมเศร้า

แม้โรคซึมเศร้าจะสามารถป้องกันได้ แต่หากเกิดขึ้นแล้วผู้ที่อยู่ใกล้ชิดควรจะต้องปฏิบัติตัวอย่างไรนั้น ผศ.นพ.คมสันต์ เกียรติรุ่งฤทธิ์ ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ให้ข้อมูลไว้ในบทความ สุขภาพดีกับรามาฯ ไว้ดังนี้

  • เข้าใจว่าสิ่งที่เกิดไม่ได้แกล้งทำ และผู้ป่วยไม่ต้องการจะเป็น แต่ไม่สามารถห้ามหรือหยุดตัวเองได้
  • คอยให้กำลังใจ รับฟัง แสดงออกถึงความรักความเป็นห่วง ทั้งการพูดบอก โอบกอด ลูบหัว จับมือ
  • แสดงให้เห็นถึงความพร้อมที่จะช่วยเหลือเสมอ ช่วยค้นหาปัญหา-ความเครียดของผู้ป่วย
  • ชวนทำกิจกรรมผ่อนคลายต่าง ๆ ส่งเสริมให้ผู้ป่วยทำกิจกรรมต่าง ๆ ตามปกติ และมีงานอดิเรกหลากหลาย
  • พยายามให้ผู้ป่วยรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ พอเพียง และนอนหลับพักผ่อนอย่างพอเพียง
  • หากทำทุกอย่างไม่ดีขึ้น หรือมีผลกระทบเกิดขึ้น ให้พาไปปรึกษาจิตแพทย์

โรคไบโพลาร์เกิดจากอะไร

มาดูอีกหนึ่งโรคอย่าง “ไบโพลาร์” ที่เกิดขึ้นได้จากสาเหตุใกล้เคียงกับโรคซึมเศร้า โดยกรมสุขภาพจิต ระบุว่า โรคไบโพลาร์เป็นความผิดปกติทางอารมณ์ชนิดหนึ่งที่มีการขึ้นและลงของอารมณ์อย่างรุนแรง

สาเหตุสำคัญเกิดจากสารเคมีในสมองทำงานผิดปกติ หรืออาจเกิดในผู้ที่มีความเครียดสะสม หรืออดนอนบ่อย ๆ ร่วมด้วย มีการแสดงออกทางอาการแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มอาการแมเนีย (Mania) คือ อารมณ์ดี คึกคัก สนุกสนาน และกลุ่มอาการซึมเศร้า (Depress) จึงเรียกโรคนี้ว่า โรคอารมณ์สองขั้ว (ขั้วบวก = แมเนีย และ ขั้วลบ = ซึมเศร้า)

โรคไบโพลาร์มีอาการอย่างไร

อาการเริ่มต้นของโรคไบโพลาร์มีจุดสังเกตเริ่มต้น คือ ขั้วบวก ผู้ป่วยจะรู้สึกหงุดหงิดง่าย นอนไม่หลับ 2-3 วัน พูดมากขึ้น ร่าเริงผิดปกติ หรือในบางคนอาจจะมีพฤติกรรมใช้จ่ายฟุ่มเฟือย

กลับกันผู้ป่วยที่ขั้วลบจะมีอาการเศร้าผิดปกติ รู้สึกว่าตัวเองไร้ค่า เบื่อหน่ายไม่อยากทำอะไร มีความคิดด้านลบ และรู้สึกว่าไม่อยากมีชีวิต

ทำอย่างไรเมื่อต้องอยู่กับผู้ป่วยโรคไบโพลาร์

เช่นเดียวกันกับผู้ป่วยโรคซึมเศร้าที่ผู้ใกล้ชิด หรือญาติพี่น้องจะต้องทำความเข้าใจอาการของผู้ป่วยโรคไบโพลาร์ และต้องปฏิบัติตามวิธีการรับมือ ดังนี้

  • ทำความเข้าใจตัวโรค ยอมรับ รับฟัง และให้กำลังใจผู้ป่วย
  • ดูแลให้ผู้ป่วยทานยาตามแพทย์สั่ง ไม่ให้ผู้ป่วยหยุดยาเองก่อนปรึกษาแพทย์
  • คอยดูแลพฤติกรรมไม่ให้ผู้ป่วยทำกิจกรรมเสี่ยงอันตราย
  • คอยดูแลพฤติกรรมการใช้เงินของผู้ป่วย
  • สังเกตพฤติกรรมของผู้ป่วย หากมีอาการรุนแรงขึ้นให้รีบพาไปพบแพทย์

แม้ทั้ง 2 โรคจะมีอาการทางอารมณ์ความรู้สึกจนถึงจุดที่ไม่อยากมีชีวิตอยู่ แต่สามารถหายเป็นปกติได้หากทำความเข้าใจโรค และเข้ารับการรักษาตามคำแนะนำของแพทย์