พืชกระท่อม ต้านโรคซึมเศร้า บรรเทาอาการพาร์กินสัน ม.อ. เผยผลวิจัย

กระท่อม
ภาพจากเว็บไซต์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

ม.อ. ชี้ผลวิจัยพืชกระท่อม ต้านซึมเศร้า ช่วยรักษาอาการพาร์กินสัน และกำลังศึกษาการใช้เพื่อบำบัดการติดยาเสพติดในอาสาสมัคร

วันที่ 5 กันยายน 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เว็บไซต์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เปิดเผยว่า รศ. ดร.เอกสิทธิ์ กุมารสิทธิ์ และ ผศ. ดร.ดาร์เนีย เจ๊ะหะ นักวิจัยคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ศึกษาพบว่าพืชกระท่อมช่วยต้านอาการซึมเศร้า จากการทดลองและบันทึกคลื่นสมองในหนูทดลอง และได้เผยแพร่ผลการวิจัยไปในระดับนานาชาติ และกำลังเป็นที่สนใจ

ขณะนี้ทีมงานกำลังทำการวิจัย ร่วมกับแพทย์ด้านระบาดวิทยา ศึกษาผู้ที่ใช้พืชกระท่อม ในภาคใต้เพื่อบำบัดรักษาอาการติดยาเสพติด

วันที่ 24 สิงหาคม 2564 ประเทศไทยเริ่มมีผลบังคับใช้ พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ ฉบับที่ 8 พ.ศ. 2564 ปลดล็อกพืชกระท่อมออกจากบัญชียาเสพติด ประเภทที่ 5 ทำให้สามารถปลูกพืชกระท่อม เอาไว้ครอบครอง สามารถซื้อ ขาย หรือนำมาบริโภคได้อย่างเสรี ไม่ผิดกฎหมายอีกต่อไป และเป็นพืชเศรษฐกิจตัวใหม่

นอกจากนี้ผู้ที่ถูกดำเนินคดี ในความผิดฐานครอบครองพืชกระท่อม ถือว่าไม่ได้ทำความผิด ยกเว้น น้ำต้มใบกระท่อมผสมน้ำอัดลม หรือผสมยาแก้ไอ ซึ่งรู้จักกันในชื่อว่า 4×100 สารออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท ส่วนน้ำอัดลมมีสารคาเฟอีนซึ่งกระตุ้นสมองส่วนกลาง ยาแก้ไอทำให้ง่วงซึม เมื่อนำมาผสมเข้าด้วยกันจะออกฤทธิ์ที่เป็นอันตรายต่อร่างกายในระยะยาว

ชาวบ้านในพื้นที่ภาคใต้ ใช้ใบกระท่อมในการรักษาอาการและโรคต่างๆ หลายชนิด เช่น ท้องร่วง ปวดท้อง โดยการเคี้ยวใบสด เคี้ยวครั้งละ 1-3 ใบ และมีการใช้ใบกระท่อมเพื่อให้สามารถทำงานได้ทนนาน และใช้ทดแทนสารเสพติดชนิดอื่น เช่น ยาบ้า เฮโรอิน

สมบัติทางเภสัชวิทยา พบสารมิตรากัยนิน (mitragynine) ทีมวิจัยพืชกระท่อมของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จากคณะแพทยศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ และคณะวิทยาศาสตร์กำลังดำเนินงานศึกษาวิจัย เพื่อเป็นข้อมูลที่เป็นประโยชน์ในการวางแผนมาตรการทางสาธารณสุขและการแพทย์ทั้งในการป้องกันและดูแลรักษาผู้ที่มีปัญหาสุขภาพจากการใช้พืชกระท่อมและผู้ใช้สารเสพติดชนิดอื่น รวมทั้งในการพัฒนาศักยภาพของพืชสมุนไพรธรรมชาติให้เป็นประโยชน์อีกด้วย

เมื่อวันที่ 2 กันยายน 2564 รศ. ดร.เอกสิทธิ์ กุมารสิทธิ์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์และทีมงานคณะวิทยาศาสตร์ หนึ่งในทีมที่กำลังศึกษาวิจัย พืชกระท่อม เปิดเผยว่า ได้ใช้เวลาถึง 19 ปีที่ศึกษาวิจัย พืชกระท่อม ซึ่งเป็นพืชประจำถิ่นภาคใต้ เมื่อกฎหมายปลดล็อค จะปลูกกี่ต้นก็ได้ เพราะพืชกระท่อมคือสมุนไพร ยิ่งทำให้เกิดความสนใจทั้งภาครัฐและเอกชน สำหรับชาวบ้านในภาคใต้จะกินเพื่อให้ตื่นตัว เพื่อให้ร่างกายพร้อมทำงาน แก้อาการปวดเมื่อย และเพื่อรักษาโรคท้องร่วง

ผลการวิจัยล่าสุดที่เป็นไฮไลต์ ในขณะนี้ คือผลการวิจัยในสัตว์ทดลองที่ชี้ว่า พืชกระท่อม ช่วยต้านอาการซึมเศร้า บรรเทาอาการโรคพาร์กินสันได้ โรคสมองเสื่อมชนิดนี้มีอัตราการเกิดสูงถึง 1 ใน 3 ของโรคสมองเสื่อมทั้งหมด (อันดับหนึ่งคือโรคอัลไซเมอร์ซึ่งมีจำนวน 2 ใน 3) ผลวิจัยนี้นับว่าเป็นความหวังและโอกาสที่จะนำพืชกระท่อมไปใช้ประโยชน์และสร้างมูลค่าได้อีกมาก

การวิจัยในหนูทดลอง ที่ชี้ว่าพืชกระท่อม แก้อาการซึมเศร้าได้ โดยวิเคราะห์จากรูปแบบคลื่นสมองของหนูทดลอง และพฤติกรรมของหนู พบว่าเมื่อให้หนูทดลองว่ายน้ำ หนูที่ได้รับสารจากพืชกระท่อม จะมีรูปแบบการเคลื่อนไหวแบบแอคทีฟ ไม่เซื่องซึมหรือหยุดนิ่งเมื่อเปรียบเทียบกับหนูกลุ่มควบคุมที่ไม่ได้รับสารสกัดจากใบกระท่อม ซึ่งจะได้มีการศึกษาในมนุษย์ต่อไป

เนื่องจากมีการกล่าวอ้างในชุมชนที่เสพติดสุรา เฮโรอีน มอร์ฟีนและยาบ้า ว่าสามารถใช้กระท่อมบรรเทาอาการติดยาเสพติดได้ ถึงแม้จะมีการศึกษาเบื้องต้นในสัตว์ทดลองแล้ว แต่ยังไม่มีการยืนยันด้วยการพิสูจน์ที่เป็นวิทยาศาสตร์อย่างเป็นระบบมาก่อน

ทีมวิจัยจึงได้ร่วมกับ ทีมงานระบาดวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ คือ ศ. พญ.สาวิตรี อัษณางค์กรชัย และ ดร.ดาริกา ใสงาม วางแผนทำการศึกษาในผู้ที่ใช้พืชกระท่อม เพื่อบำบัดอาการเสพติด เฮโรอีนและยาบ้า โดยได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยจาก สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) ทำการศึกษาผู้ที่เคยเสพยาเสพติดและใช้พืชกระท่อมเพื่อบำบัดอาการเสพติด (เมื่อต้องการเสพ จะเคี้ยวใบกระท่อมลดอาการ)

พื้นที่ที่ทำการศึกษา คือที่ อ.จะนะ จ.สงขลา อ.ห้วยยอด จ.ตรัง และ อ.ควนขนุน จ.พัทลุง จำนวนประมาณ 90 ราย การวิจัยนี้ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการพิจารณาโครงการวิจัยในมนุษย์ตามหลักจริยธรรมการวิจัยเพื่อไม่ให้มีความเสี่ยงใดๆ ต่ออาสาสมัครที่เข้าร่วมโครงการ และจะไม่มีการให้ผู้ที่ไม่เคยใช้พืชกระท่อมมาก่อนทดลองใช้