1 พ.ค. จ่อเลิกอุ้มดีเซล สินค้าควบคุม-จำเป็น ส่งสัญญาณขอขึ้นราคา

ค้าปลีกผู้ดีแห่ตุนสินค้า

จับตา “สินค้าควบคุม-สินค้าจำเป็น” พาเหรดขึ้นราคา หลังกระแสข่าว รัฐจ่อยุติอุ้มราคาดีเซล ปล่อยทะลุ 30 บาท/ลิตร พลิกตำรา “พ.ร.บ.ราคาสินค้าและบริการ 2542” ชี้ชัดผู้ประกอบการขึ้นราคาสินค้าควบคุมเอง ไม่ได้ 

วันที่ 27 เมษายน 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากรัฐบาลประกาศจะพิจารณาปรับขึ้นราคาดีเซลเกินกว่า 30 บาท/ลิตร มีผลวันที่ 1 พฤษภาคม 2565 นี้ เนื่องจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ณ ช่วงวันที่ 11 เม.ย. 2565 ที่ผ่านมา มีกระแสเงินสด อยู่ที่ 1.5 หมื่นล้านบาท แต่สถานะติดลบแล้วกว่า 4.2 หมื่นล้านบาท

ส่งผลให้เกิดการคาดการณ์ว่า ผลที่ตามมาคือราคาสินค้าจะปรับตัวสูงขึ้นด้วย

ล่าสุดเมื่อวันที่ 26 เม.ย. 2565 นายจุรินทร์ ลักษณวิศษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ ให้สัมภาษณ์ยอมรับตรง ๆ ว่า ราคาน้ำมันที่ปรับเพิ่มขึ้นจะกระทบต่อราคาสินค้าแน่นอน ซึ่งกระทรวงพาณิชย์จะพยายามกำกับราคาขายจากโรงงาน และราคาขายปลีกให้เกิดความสมดุล

โดยผู้ผลิตจะต้องปรับลดผลกำไรลงมาให้น้อยที่สุดเท่าที่ผู้ผลิตจะรับได้ และไม่หยุดการผลิต

โดยกระทรวงพาณิชย์ได้จัดทำโครงสร้างดังกล่าวเอาไว้แล้ว และมีการหารือร่วมกับผู้ประกอบการมาอย่างต่อเนื่อง ให้ราคาปรับขึ้นน้อยที่สุด เท่าที่ทำได้ และต้องดูเป็นกรณีไป หากจะต้องมีการปรับราคาเพื่อแก้ปัญหาการหยุดผลิต

สำหรับสินค้าจำเป็น 18 รายการ เป็นสินค้ากลุ่มที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุดจากการปล่อยดีเซลลอยตัว ขณะนี้ยังขอความร่วมมือให้ผู้ประกอบการตรึงราคาต่อไป หากจะขอปรับราคาต้องพิจารณาเป็นราย ๆ ไป

จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกฯและ รมว.พาณิชย์

สำหรับกระแสข่าวที่ว่า 2 บะหมี่กึ่งสำเร็จ “มาม่า” และ “ไวไว” ปรับขึ้นราคาขายส่งตั้งแต่ช่วงต้นเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา เฉลี่ยประมาณ 3 บาท/กล่อง (30 ซอง) หรือประมาณ 0.083 สตางค์ต่อซอง

ขณะที่อีก 2 แบรนด์ ยำยำ (อายิโนะโมะโต๊ะ) และนิสชิน (นิสชินฟูดส์) ยังไม่มีการแจ้งปรับราคาขายส่ง แต่คาดว่าอาจจะแจ้งตามมาในเร็ว ๆ นี้ และคาดว่าน่าจะมีผลกับราคาขายปลีกในเร็ววันนี้ด้วย

จากผลพวงดังกล่าว “ประชาชาติธุรกิจ” จึงสำรวจได้ว่ารายการ “สินค้าจำเป็น 18 รายการ” ที่นายจุรินทร์กล่าวถึงนั้น อยู่ในรายการ “สินค้าควบคุม 56 รายการ” หรือไม่

เพราะหากอยู่ในรายการสินค้าควบคุม จะขึ้นราคาเองไม่ได้ ต้องเสนอให้คณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) พิจารณาก่อน

สินค้าจำเป็น-สินค้าควบคุม คืออะไร

สำหรับสินค้าควบคุม และสินค้าจำเป็นนั้น มีนิยามคร่าว ๆ ว่า

“สินค้าควบคุม” คือ สินค้าที่มีการกำหนดราคาซื้อ-ขาย ที่ไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภค โดยคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) จะเป็นผู้กำหนดสินค้าหรือบริการควบคุมได้ ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542 มาตรา 24

กกร.สามารถพิจารณารายการสินค้าควบคุมได้อย่างน้อย ปีละ 1 ครั้ง เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน ไม่ให้มีการจำหน่ายสินค้าในราคาที่ต่ำหรือสูงกว่าเกณฑ์ที่กำหนดไว้ พร้อมทั้งต้องกำหนดมาตรการป้องกันการกักตุนสินค้าควบคุมด้วย

ปัจจุบันมีทั้งสิ้น 56 รายการ อ้างอิงตามประกาศคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ
ฉบับที่ 8 พ.ศ. 2564 เรื่อง การกำหนดสินค้าและบริการควบคุม และประกาศคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ ฉบับที่ 5 พ.ศ. 2565 เรื่อง การกำหนดสินค้าควบคุมเพิ่มเติม

ส่วน “สินค้าจำเป็น” คือ สินค้าที่จำเป็นต่อการอุปโภค-บริโภคในชีวิตประจำวัน ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ โดยนายจุรินทร์ได้กำหนดมาตรการในการตรึงราคาเอาไว้ ซึ่งทั้ง 18 รายการ ประกอบด้วย

  1. บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป
  2. หมวดอาหารสด
  3. อาหารกระป๋อง
  4. ข้าวสารถุง
  5. ซอสปรุงรส
  6. น้ำมันพืช
  7. น้ำอัดลม
  8. นมและผลิตภัณฑ์จากนม
  9. เครื่องใช้ไฟฟ้า
  10. ผลิตภัณฑ์ซักล้าง
  11. ปุ๋ย
  12. ยาฆ่าแมลง
  13. อาหารสัตว์
  14. เหล็ก
  15. ปูนซีเมนต์
  16. กระดาษ
  17. ยา เวชภัณฑ์และบริการทางการแพทย์
  18. บริการผ่านห้าง ค้าปลีก-ส่ง

16 รายการสินค้าจำเป็น เข้าสินค้าควบคุม

เมื่อจำแนกรายการสินค้าจำเป็นที่มีแนวโน้มจะปรับขึ้นราคาแล้ว จากที่ผู้สื่อข่าวประชาชาติธุรกิจวิเคราะห์แล้วเห็นว่า ใน 18 รายการ มีเพียง 2 รายการเท่านั้นที่ไม่เข้ารายการของสินค้าควบคุม ประกอบด้วย

  1. น้ำอัดลม
  2. อาหารสดที่นอกเหนือไปจากเนื้อหมูและเนื้อไก่

ผู้ประกอบการขึ้นราคาเองไม่ได้

ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ 2542 มาตรา 29 กำหนดว่า ห้ามผู้ประกอบธุรกิจปรับราคาสินค้าและบริการที่เป็นสินค้าควบคุม ให้ ต่ำ หรือ สูง เกินควร ผู้ฝ่าฝืนจะมีโทษจําคุกไม่เกิน 7 ปี ปรับไม่เกิน 140,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ดังนั้น อำนาจในการกำหนดราคาสินค้าและบริการจึงอยู่ที่ กกร. เป็นสำคัญ โดยการออกประกาศราคาสินค้าและบริการ ตามกฎหมายกำหนดให้ประกาศอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง หรือหากมีเหตุจำเป็นสามารถนัดประชุม กกร. เพื่อออกประกาศเพิ่มเติมได้

ส่วนผู้ประกอบการไม่สามารถขึ้นราคาสินค้าควบคุมได้ตามอำเภอใจ จะต้องเสนอเรื่องมาที่กรมการค้าภายในพิจารณาก่อน

โดยหากพบเห็นการจำหน่ายสินค้าหรือบริการที่ไม่เป็นธรรม สามารถแจ้งได้ที่สายด่วน 1569 หรือสำนักงานพาณิชย์จังหวัดทุกจังหวัด


อย่างไรก็ตาม ต้องจับตาดูกันต่อไปว่า เอฟเฟ็กต์หลังวันที่ 1 พ.ค.นี้ จะรุนแรงเพียงใด เพราะแค่ไม่กี่วันก่อนถึงวันดังกล่าว ผู้ประกอบการหลากหลายธุรกิจก็เริ่มโบกมือหย็อย ๆ ไปที่กระทรวงพาณิชย์ ขอขึ้นราคาสินค้ากันแล้ว ส่วนผู้บริโภคอย่างเรา ๆ ท่าน ๆ ก็คงต้องก้มหน้าเตรียมควักเงินในมือเพิ่มกันไป