เช็กที่นี่ 56 รายการสินค้าควบคุม หลังครม.เคาะ 5 รายการเพิ่มเติม

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย แนะรัฐตรึงราคาสินค้าจำเป็น บรรเทาค่าครองชีพครัวเรือน
ภาพจาก pixabay

อัพเดตรายการสินค้า-บริการ ขึ้นทะเบียนควบคุมราคาประจำปี 2564-2565 ครม.เคาะเพิ่มไก่สด พร้อมส่องมาตรการควบคุมราคาสินค้าบริการของกรมการค้าภายใน 3 ระดับ 

วันที่ 26 มกราคม 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบกำหนดสินค้าควบคุมปี 2565 โดยได้เพิ่มไก่ เนื้อไก่ร่วมด้วย เนื่องจากปัจจุบันราคาไก่ปรับตัวสูงขึ้น จึงจำเป็นต้องกำกับดูแล ติดตามไก่ เนื้อไก่ ที่เป็นแหล่งโปรตีนที่สำคัญต่อการบริโภคของประชาชน ให้มีปริมาณเพียงพอและมีราคาที่เหมาะสม

นอกจากนี้ ยังเพิ่มสินค้าอื่น ๆ ได้แก่ 1.หน้ากากอนามัย 2.ใยสังเคราะห์ Polypropylene (Spunbond) เพื่อใช้ในการผลิตหน้ากากอนามัย 3.ผลิตภัณฑ์ที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนประกอบเพื่อสุขอนามัยสำหรับมือ 4.เศษกระดาษและกระดาษที่นำกลับมาใช้ได้อีก เพิ่มในรายการสินค้าควบคุมด้วย

ทำให้รายการสินค้าและบริการควบคุมจะมีจำนวนทั้งสิ้น 56 รายการ จากเดิม 51 รายการ โดยราชกิจจานุเบกษาได้ออกประกาศมื่อวันที่ 25 มกราคม 2565 ที่ผ่านมา

“ประชาชาติธุรกิจ” รวบรวมรายชื่อสินค้าควบคุม และสินค้าที่ต้องดูแลราคา จำนวน 51 รายการก่อนหน้านี้ ตามการกำหนดของกระทรวงพาณิชย์ ดังนี้

สินค้าควบคุมตาม พ.ร.บ.มีอะไรบ้าง ?

ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ 2542 มาตรา 24 กำหนดให้มีคณะกรรมการว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) ที่มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เป็นประธาน กกร. สามารถกำหนดว่าสินค้าและบริการใดเป็นสินค้าควบคุม โดยออกเป็น “ประกาศคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ เรื่อง การกำหนดสินค้าและบริการควบคุม” มีกำหนดเวลาบังคับใช้ 1 ปีตามวันที่ระบุในประกาศ

ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการประกาศใช้ ประกาศคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ ฉบับที่ 8 พ.ศ. 2564 เรื่อง การกำหนดราคาสินค้าและบริการ มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2564 ที่ผ่านมา กำหนดสินค้าและบริการที่ต้องควบคุมราคาทั้งสิ้น 51 รายการ ดังนี้

  1. กระดาษทำลูกฟูก กระดาษเหนียว
  2. กระดาษพิมพ์และกระดาษเขียน
  3. ยางรถยนต์และยางรถจักรยานยนต์
  4. รถจักรยานยนต์และรถบรรทุก
  5. กากดีดีจีเอส
  6. เครื่องสูบน้ำ
  7. ปุ๋ย
  8. ยาป้องกันหรือกำจัดศัตรูพืช
  9. รถเกี่ยวข้าว
  10. รถไถนา
  11. อาหารสัตว์และหัวอาหารสัตว์
  12. ก๊าซปิโตรเลียมเหลว
  13. น้ำมันเชื้อเพลิง
  14. ยารักษาโรค
  15. เวชภัณฑ์ที่เกี่ยวกับการรักษาโรค
  16. ท่อพีวีซี
  17. ปูนซีเมนต์
  18. สายไฟฟ้า
  19. เหล็กโครงสร้างรูปพรรณ เหล็กแผ่น เหล็กเส้น
  20. ข้าวเปลือก ข้าวสาร
  21. ข้าวสาลี ข้าวบาร์เลย์
  22. ข้าวโพด
  23. ต้นพันธุ์ ท่อนพันธุ์ มันสำปะหลังและผลิตภัณฑ์
  24. ผลปาล์มน้ำมัน
  25. มะพร้าวผลแก่ และผลิตภัณฑ์
  26. ยางพารา ได้แก่ น้ำยางสด ยางก้อน เศษยาง น้ำยางข้น ยางแผ่น ยางแท่ง ยางเครพ
  27. กระดาษชำระ กระดาษเช็ดหน้า
  28. แชมพู
  29. ผงซักฟอก น้ำยาซักฟอก
  30. ผลิตภัณฑ์ล้างจาน
  31. ผ้าอนามัย
  32. ผ้าอ้อมสำเร็จรูปเด็กและผู้ใหญ่
  33. สบู่ก้อน สบู่เหลว
  34. กระเทียม
  35. ไข่ไก่
  36. ทุเรียน
  37. นมผง ผลิตภัณฑ์นมพร้อมบริโภคชนิดเหลว ไม่รวมถึงนมเปรี้ยว
  38. น้ำมัน และไขมันที่ได้จากพืชหรือสัตว์ทั้งที่บริโภคได้หรือไม่ได้
  39. แป้งสาลี
  40. มังคุด
  41. ลำไย
  42. สุกร เนื้อสุกร
  43. หอมหัวใหญ่
  44. อาหารกึ่งสำเร็จรูปบรรจุภาชนะผนึก
  45. อาหารในภาชนะบรรจุที่ปิดสนิท
  46. เครื่องแบบนักเรียน
  47. การให้สิทธิในการเผยแพร่งานลิขสิทธิ์เพลงเพื่อการค้า
  48. บริการซื้อขาย และหรือบริการขนส่งสินค้าสำหรับธุรกิจออนไลน์
  49. บริการทางการเกษตร
  50. บริการรักษาพยาบาล บริการทางการแพทย์ และบริการอื่นของสถานพยาบาลเกี่ยวกับการรักษาโรค
  51. บริการรับชำระเงิน ณ จุดบริการ

กรมการค้าภายในแบ่ง 3 ระดับสี

นอกจากนี้ กรมการค้าภายใน ยังมีการกำหนดมาตรการการกำกับดูแลสินค้าและบริการเสริมขึ้นอีกด้วย โดยแบ่งระดับเป็น 3 สี มาตรการดังกล่าวจะกำหนดไว้เป็นประจำทุกเดือน ประกอบด้วย

  • สีแดง (Sensitive List : SL)

เป็นสินค้าและบริการที่มีความอ่อนไหวเป็นพิเศษ ติดตามราคาและภาวะทั้งในประเทศ และต่างประเทศเป็นประจำทุกวัน พร้อมทั้งให้เจ้าหน้าที่สำนักตรวจสอบและปฏิบัติการตรวจสอบราคาจำหน่ายเข้มงวดและต่อเนื่อง ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล และหากเกิดภาวะวิกฤตอาจกำหนดมาตรการเพิ่มเติม ทั้งการกำหนดสินค้าและบริการควบคุมเพิ่มเติม, ควบคุมราคาขาย, กำหนดให้ปันส่วน เป็นต้น

ตัวอย่างสินค้าและบริการ เช่น เนื้อหมูชำแหละ, ไก่สด, หน้ากากอนามัย, ชุด ATK, แอลกอฮอล์ล้างมือ, ยาฟ้าทะลายโจร, น้ำมันพืช, ข้าวสาร, น้ำมันดีเซล เป็นต้น

  • สีเหลือง (Priority Watch List : PWL) 

เป็นสินค้าและบริการที่ต้องติดตามภาวะและสถานการณ์อย่างใกล้ชิดเป็นพิเศษสัปดาห์ละ 2 ครั้ง โดยให้เจ้าหน้าที่สำนักตรวจสอบและปฏิบัติการ ตรวจสอบราคาจำหน่ายและหากเกิดภาวะวิกฤตอาจกำหนดมาตรการเพิ่มเติม

ตัวอย่างสินค้าและบริการ เช่น สบู่, น้ำยาล้างจาน, อาหารปรุงสำเร็จ, นมผง, กระดาษชำระ, บริการรักษาพยาบาลในสถานพยาบาล บริการทางการแพทย์ และบริการอื่นของสถานพยาบาลเกี่ยวกับการรักษาโรค เป็นต้น

  • สีเขียว (Watch List : WL)

เป็นสินค้าและบริการที่ต้องติดตามภาวะราคาและสถานการณ์สินค้าและบริการเป็นประจำทุก 15 วัน รวมทั้งตรวจสอบและกำกับดูแลมิให้มีการฉวยโอกาสเอาเปรียบผู้บริโภคโดยสำนักตรวจสอบและปฏิบัติการ

ตัวอย่างสินค้าและบริการ เช่น น้ำอัดลม, ไข่ไก่, ไข่เป็ด, ค่าชมภาพยนตร์-กีฬา, ตัดผมชายหญิง, เสริมสวย, กวดวิชา, รักษาสัตว์ เป็นต้น