สุพัฒนพงษ์ เปิดสูตรอุดหนุนราคาน้ำมันดีเซลรอบใหม่

น้ำมันดีเซล

รมว.พลังงาน สุพัฒนพงษ์ เผยสูตรอุดหนุนราคาน้ำมันดีเซลรอบใหม่ รอประเมินวิกฤตรัสเซีย-ยูเครน 3 เดือน ก่อนตัดสินใจลอยตัวดีเซลหรือไม่ วอน สภาอุตฯ-สภาหอ เพิ่ม productivity-ลดต้นทุนการผลิต

วันที่ 26 เมษายน 2565 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พลังงาน ให้สัมภาษณ์ถึงมาตรการตรึงราคาน้ำมันดีเซล 30 บาทต่อลิตรที่จะสิ้นสุดในวันที่ 30 เม.ย.65 ว่า ในหลักการราคาส่วนที่เกิน 30 บาทต่อลิตร รัฐบาลจะอุดหนุนครึ่งหนึ่ง เพื่อกำหนดเป็นกรอบเพดานใหม่ และส่วนที่เกินจากกรอบเพดานใหม่จะสามารถอุดหนุนให้ต่ำกว่าเพดาน ส่วนราคาที่เหมาะสมจะเป็นเท่าไหร่นั้น ได้มอบหมายให้นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงานไปพิจารณา ซึ่งราคาอาจจะน้อยกว่าเพดานใหม่ที่กำหนดขึ้นก็ได้

“วันนี้ราคาน้ำมันดีเซลขึ้น 40 บาทต่อลิตร ซึ่งส่วนที่เกินมา คือ 10 บาทต่อลิตร เมื่อรัฐเข้าไปอุดหนุนครึ่งหนึ่ง ราคาเพดานใหม่จะอยู่ที่ 35 บาทต่อลิตร โดยให้ปลัดกระทรวงพลังงานไปดูว่าราคาจริงจะอยู่ที่เท่าไหร่ อยู่ดี ๆ จะไปขึ้นราคาดีเซลลิตรละ 35 บาทไม่ได้หรอก ประชาชนเดือดร้อนแน่ เร็วไป ให้ปลัดพลังงานไปดูว่า Rang ควรจะอยู่ที่ราคาเท่าไหร่ อาจจะเป็น 32 บาทต่อลิตรก็ได้ ค่อย ๆ ขั้นไป ดังนั้น รัฐบาลจะอุดหนุนมากกว่า 50 %  โดยใช้งบประมาณอุดหนุนจากเงินกู้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง”

นายสุพัฒนพงษ์กล่าวว่า ราคาน้ำมันดีเซลขณะนี้อยู่ที่ 40 บาทต่อลิตร ซึ่งรัฐบาลอุดหนุนราคาอยู่ที่ลิตรละ 10 บาท คิดเป็นเดือนละ 6,000 ล้านบาท ทั้งหมดนี้ต้องค่อย ๆ ปรับตัว ซึ่งคาดการณ์ว่า สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครนมีแนวโน้มยืดเยื้อ จึงต้องประเมินสถานการณ์อย่างน้อย 3 เดือน (พ.ค.-ก.ค.65)  หากยืดเยื้อออกไปเราก็จะค่อย ๆ ปรับตัว

ขอประเมิน 3 เดือนลอยตัวดีเซลหรือไม่

นายสุพัฒนพงษ์กล่าวถึงความเป็นไปได้หรือไม่ที่จะปล่อยลอยตัวราคาน้ำมันดีเซลว่า ก็ไม่เชิง ตนคิดว่า ถ้าศักยภาพเราพอไปได้ ซึ่งขณะนี้เราอยู่ระหว่างฟื้นตัว หากถึงจุดหนึ่ง ถ้าลอยตัวได้ แน่นอนใคร ๆ ก็อยากให้ลอยตัว แต่ว่า เราอยากเห็นว่า ประเทศไทยต้องค่อย ๆ ประคับประคอง ค่อย ๆ เติบโตขึ้นไป

นายสุพัฒนพงษ์กล่าวว่า ส่วนจะใช้เวลานานแค่ไหน ต้องรอประเมินสถานการณ์ก่อน 3 เดือนถึงจะเห็นความชัดเจนส่วนลอยตัวหรือไม่ หรือจะอยู่ในสภาพนี้ แล้วถ้าอยู่ในสภาพนี้เงินจะต้องเอามาจากที่ไหน อย่างไร แล้วจะมีความเพียงพอ แล้วเศรษฐกิจเรา พอเราเปิดประเทศมันมีความฟื้นตัวอย่างเห็นได้ชัดหรือไม่ ต้องดูคู่ขนานกันไป หรือ แม้สถานการณ์ยืดเยื้อ แต่ระดับราคาน้ำมันอาจจะไม่สูงเท่านี้ก็เป็นไปได้ มีความเป็นไปได้ทั้งนั้น

“หากสถานการณ์ยืดเยื้อ แล้วราคาน้ำมันอยู่ในระดับราคาไหน ถ้าอยู่ในระดับราคาที่ไม่สูงมากนัก พอประคับประคองไปได้ ให้เศรษฐกิจ การท่องเที่ยวของเราค่อย ๆ ฟื้นตัวก่อน เราก็ค่อย ๆ ได้มีโอกาสได้ฟื้นตัว คือหลักการ”

คุยสภาอุตฯ-สภาหอ ลดต้นทุนการผลิต

นายสุพัฒนพงษ์กล่าวว่า ส่วนราคาสินค้าที่ปรับขึ้นตามราคาค่าขนส่ง บริษัทผู้ประกอบการขนาดใหญ่มีสูตรการปรับราคาสินค้าอยู่แล้ว ซึ่งเป็นเรื่องของดีมานด์และซับพลาย ในยามนี้ วิกฤตแบบนี้ ราคาสินค้าสูงขึ้น เราก็ต้องประหยัด พึ่งพาตัวเอง ลดการใช้ในสิ่งที่สิ้นเปลืองไปบ้าง ประหยัดได้ก็ต้องประหยัด ซึ่งรัฐบาลได้ออก 10 มาตรการในการช่วยเหลือค่าครองชีพไปแล้ว เช่น ลดค่าใช้ไฟฟ้า ลดส่งเงินสมทบประกันสังคมของผู้ประกันตน

“ได้หารือกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยไปเหมือนกัน ว่า ภาคเอกชนก็ต้องลดต้นทุนการผลิต ไม่ใช่ส่งผ่านต้นทุนที่สูงขึ้นให้กับประชาชน เพราะต้องช่วยเหลือกัน ในยามนี้จะเดินผ่านไปได้ วิกฤตช่วงนี้เป็นวิกฤตที่แตกต่างจากกรณีโควิด-19 สินค้าขึ้นทุกอย่าง เราลดการพึ่งพาการนำเข้าจากต่างประเทศในสินค้าที่แพง อะไรที่ใช้ในประเทศได้ก็ใช้ในประเทศ ถ้าภาคอุตสาหกรรมช่วยกันเพิ่ม productivity เพื่อประหยัดต้นทุนได้ ไม่ส่งต้นทุนที่สูงทั้งหมดกลับมาที่ประชาชน ประชาชนก็ประหยัดในส่วนสินค้านำเข้า แล้วไปใช้สินค้าในประเทศ ก็จะช่วยเหลือกันไป ช่วยเหลือกันมา รัฐบาลก็ไม่ได้หยุด รัฐบาลก็มีมาตรการ”