ชัชชาติ ดีใจ ข้าราชการ กทม. ขยับศึกษา 213 นโยบาย ชี้มิติใหม่การทำงาน

ชัชชาติ ชวนว่าที่ ส.ก. เพื่อไทย สำรวจแยกลำสาลี ย้ำต้องเร่งรัดก่อสร้าง 3 โครงการใหญ่ คืนผิวจราจรให้ประชาชน เผย ดีใจ ข้าราชการขยับศึกษา 200+ นโยบาย สร้างมิติใหม่การทำงาน กทม.

วันที่ 25 พฤษภาคม 2565 ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ สำรวจแยกลำสาลี เขตบางกะปิ สำรวจการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีเหลืองและสายสีส้ม ร่วมกับมธุรส เบนท์ ว่าที่ ส.ก. เขตสะพานสูง พรรคเพื่อไทย และชญาดา วิภัติภูมิประเทศ ว่าที่ ส.ก. เขตคันนายาว พรรคเพื่อไทย โดยปัญหาหลักในพื้นที่แยกลำสาลีคือมีสภาพการจราจรติดขัดจากการก่อสร้าง เหมือนกับในพื้นที่เขตธนบุรี ที่ชัชชาติได้เดินทางไปสำรวจปัญหาเมื่อวานนี้ (24 พ.ค.)

ชัชชาติกล่าวว่า ปัญหาในพื้นที่เกี่ยวข้องกับการก่อสร้างที่ส่งผลให้การจราจรติดขัด โดยในพื้นที่แยกลำสาลีเองก็เป็นอีกจุดสาหัส เหมือนกับที่เขตธนบุรี ซึ่งในพื้นที่แยกลำสาลีนั้นมีการก่อสร้าง 3 โครงการ ประกอบด้วย โครงการสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้ม รถไฟฟ้าสายสีเหลือง และโครงการสร้างสะพานข้ามแยกจากลาดพร้าวไปยังสุขาภิบาล 1 ทำให้เกิดปัญหาการคืนพื้นผิวการจราจร ที่ส่งผลให้เกิดการจราจรติดขัด

สำหรับโครงการสร้างสะพานข้ามแยก มีการแบ่งสัญญาเป็น 2 ส่วน ประกอบด้วย ส่วนต้นเป็นความรับผิดชอบของ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และส่วนปลายเป็นความรับผิดชอบของ กทม. ชัชชาติกล่าวว่า จากสัญญาพบว่าระยะเวลาการก่อสร้าง ผ่านมาแล้วถึงร้อยละ 65 แต่การก่อสร้างเดินหน้าเพียงร้อยละ 5 แสดงว่าความคืบหน้าของโครงการมีปัญหา กทม.ต้องเข้ามาเร่งรัดการก่อสร้าง

ส่วนโครงการรถไฟฟ้า 2 สายมีประเด็นเรื่องการออกแบบทางเดิน (สกายวอล์ก) เพื่อเชื่อมต่อการเดินทาง แต่ไม่มีลิฟต์คนพิการ เบื้องต้นเข้าใจว่ามีสาเหตุมากจากงบประมาณที่ไม่เพียงพอ ซึ่งต้องตรวจสอบ และหาวิธีจัดการเพื่อทำให้สามารถอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนได้มากที่สุด

สำหรับแนวทางแก้ไขปัญหา ชัชชาติกล่าวว่า ประการแรกต้องเร่งรัดการก่อสร้าง จากนั้นต้องเร่งคืนพื้นที่ถนนให้ประชาชน ป้องกันไม่ให้ผู้รับเหมาใช้เป็นพื้นวางอุปกรณ์ก่อสร้าง

ส่วนประเด็นการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ที่ผ่อนปรนให้ผู้รับเหมาส่งงานล่าช้า ชัชชาติกล่าวว่าต้องไปตรวจสอบ หากพบว่าเป็นปัญหา จะแจ้งให้รัฐบาลทราบว่าเงื่อนไขดังกล่าวก่อให้เกิดปัญหากับประชาชน ย้ำ กทม.ต้องเอาจริงเอาจังในการควบคุมการก่อสร้าง เพื่อไม่ให้สร้างปัญหาต่อประชาชน

ชัชชาติกล่าวเพิ่มเติมถึงกรณีข้าราชการสังกัด กทม. ให้ความสนใจนโยบาย 200+ ข้อ ขณะที่สำนักงานเขตบางแห่งเริ่มนำนโยบายไปพัฒนา ชัชชาติกล่าวว่ารู้สึกดีใจเป็นอย่างมากที่นโยบายได้รับความสนใจ และเห็นความตื่นตัวในการทำงาน ทั้ง ๆ ที่ยังไม่ได้เข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการ ชัชชาติกล่าวอีกว่า ยินดีหากมีการเสนอข้อคิดเห็นในการทำงานต่าง ๆ เข้ามา

ทั้งนี้ เว็บไซต์ chadchart.com ก็มีผู้แสดงความคิดเห็นเพิ่มเติมอย่างสม่ำเสมอ ตนถือเป็นที่ดีเพราะเมืองมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา นโยบายไม่ใช่ศิลาจารึกที่จะคงเดิมตลอด แต่นโยบายต้องเปลี่ยนแปลงไปตามวิถีชีวิตคน และพอมีโจทย์ที่เป็นความต้องการของประชาชนก็ทำให้ข้าราชการมีทิศทางในการทำงาน ขอบคุณทุกคนที่ให้ความสนใจ และจะพยายามทำให้สำเร็จได้มากที่สุด

“น่าดีใจมากที่สำนักงานเขตหลายแห่ง นำนโยบายไปพัฒนาแล้ว ทั้ง ๆ ที่ผมยังไม่ทันเข้าทำงานเลย แต่ก็ตื่นตัวกันแล้ว สำหรับผมนี่เป็นมิติใหม่ ผมเชื่อว่าพวกเขาทำได้เกือบหมด พอมีทิศทางทุกคนก็เริ่มตื่นตัว และผมก็ยังดีใจที่วันประกาศผลเลือกตั้ง (อย่างไม่เป็นทางการ) ซึ่งเราก็แนะนำให้ข้าราชการเข้าไปอ่านนโยบาย เผื่อมีข้อติเตียน ข้อแนะนำ จะได้มาคุยกันได้ เขาก็ไปอ่านกัน ผมก็ดีใจ ส่วนนโยบายรายเขตเขาก็ไปดูว่ามันเกี่ยวข้องกับเขาอย่างไรบ้าง มันไม่ได้ยากเลยที่จะทำ ผมว่ามันสนุก และเป็นมิติใหม่ที่เราไม่เคยเห็น” ชัชชาติกล่าว

ชัชชาติกล่าวทิ้งท้ายว่า ได้รับโทรศัพท์แสดงความยินดีจาก รสนา โตสิตระกูล เมื่อวานนี้ (24 พ.ค.) โดยกล่าวว่า ตนเคารพรสนาเหมือนญาติผู้ใหญ่ ยินดีเป็นอย่างยิ่งหากได้รับคำแนะนำหรือข้อคิดเห็นด้านนโยบาย สำหรับประเด็นระหว่างการหาเสียง ไม่รู้สึกไม่ติดใจอะไร เพราะเคารพสิทธิของทุกคนในการแสดงออก ชัชชาติเปิดเผยว่า รสนาให้พิจารณาเรื่องการต่อสัมปทานรถไฟฟ้าเป็นพิเศษ ซึ่งมีจุดยืนเดียวกัน นั่นคือ ยึดประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้ง สามารถพูดคุยกันได้ด้วยดีไม่มีปัญหาอะไร