รื้อสัญญา BTS สายสีเขียว ประยุทธ์ เปิดทาง ชัชชาติ เจรจา 4 ฝ่าย

ชัชชาติสายสีเขียว

ผู้ว่า กทม.คนใหม่ “ชัชชาติ” ประเดิมรื้อรถไฟฟ้าสายสีเขียว เร่งแก้ปัญหาตั๋วแพง-โฟกัสฟีดเดอร์ ขอโอนโปรเจ็กต์ให้คมนาคม บิ๊ก BTS ยินดีเจรจา “บิ๊กตู่” เปิดทาง 4 ฝ่ายยุติเกม ปมขยายสัมปทาน 30 ปี “ศักดิ์สยาม” เตือนระวังเสียค่าโง่ นักวิเคราะห์ชี้เลิกสัมปทานไม่ง่าย นักธุรกิจขานรับนโยบายพลิกโฉมกรุงเทพฯสู่ “New Chapter เมืองน่าอยู่” ค่ายมือถือหนุนดึงสายไฟลงดิน สร้างภาพลักษณ์เมืองหลวง

พลันที่นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ คว้าชัยชนะในศึกเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) คนที่ 17 ด้วยคะแนน 1,382,620 คะแนน แบบแลนด์สไลด์ ทำให้วงการธุรกิจจับตานโยบายเมกะโปรเจ็กต์ โดยเฉพาะการแก้ปมสัญญาร่วมลงทุนกับ บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (BTSC) ในโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวที่จะขยายสัมปทานออกไปอีก 30 ปี นอกเหนือจากภารกิจแก้ปัญหาทั่วไปและเชิงโครงสร้าง

ภารกิจ 100 วันแรก

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครคนใหม่ เปิดเผย ว่า ความตั้งใจใน 100 วันแรกจะทำตามนโยบายที่กล่าวไปแล้ว สิ่งที่ทำได้เลยคือสิ่งที่ไม่ใช้งบประมาณ แต่ใช้เทคโนโลยีเพื่อความโปร่งใสในการดำเนินการ เป็นต้น ซึ่งนโยบายทั้ง 200 ข้อ ต้องเดินหน้าทันที ถ้าเป็นนโยบายระยะยาวก็ทำไปตามตัวชี้วัด

“เราต้องมีแพลตฟอร์มให้ประชาชนแจ้งเหตุว่า ปัญหา 50 เขตคืออะไร อยู่ที่ไหน ทั้งน้ำท่วม การระบายน้ำ ขยะ ทางเท้า รถติด ต้องนำมาขึ้นจอใน 100 วันแรก รวมถึงให้ประชาชนประเมิน ผอ.เขต ทำ open data เรามีข้าราชการ ลูกจ้าง 8 หมื่นคน มี 16 สำนัก 50 เขต ต้องมีรายงานตลอด 100 วันเห็นอะไร 200 วัน 1 ปี 2 ปี 3 ปี 4 ปี สุดท้ายได้อะไร”

ส่วนรถไฟฟ้าสายสีเขียวมีคำถามว่า ทำไมต้องต่อสัญญาสัมปทานไปอีก 30- 40 ปี โดยไม่ได้ผ่าน พ.ร.บ.ร่วมทุน ที่ผ่านมาเข้าใจว่า ใช้ ม.44 เราเชื่อในระบบ แต่อยากให้มีการแข่งขันและมีราคาค่าโดยสารที่เป็นธรรม ไม่ได้มีอคติใครผิดใครถูก ไม่ได้ใช้อารมณ์ ใช้เหตุผลเป็นหลัก ที่ผ่านมาเราไม่มีข้อมูล เราดูจากข้างนอก ต้องลงไปดูรายละเอียด

ทั้งเรื่องโอนค่าก่อสร้าง 80,000 ล้านบาท สัญญาจ้างเดินรถ เรื่องหนี้ เรื่องต่อสัมปทาน และค่าโดยสาร

โอนสายสีเขียว-โฟกัสฟีดเดอร์

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า ก่อนหน้าเลือกตั้งได้สัมภาษณ์นายชัชชาติถึงนโยบายระบบขนส่งมวลชนใน กทม. สรุปว่าต้องการการเปลี่ยนแปลงโดยโอนสัมปทานโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว (BTS) ให้กับกระทรวงคมนาคม เป็นผู้ดูแลบริหารจัดการ โดยมีเงื่อนไขว่าจะทำอย่างไรก็ได้ ขอให้ค่าโดยสารรถไฟฟ้าต่ำกว่า 30 บาทต่อการเดินทาง 8 สถานี

เหตุผลเพราะบีทีเอสเปรียบเสมือนเส้นเลือดใหญ่ด้านโครงสร้างพื้นฐาน ในฐานะที่เคยเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้เห็นภาพใหญ่ของปัญหาเมกะโปรเจ็กต์บ้างแล้ว จึงคิดว่าเหมาะสม เหมือนการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ที่เคยสังกัดกระทรวงมหาดไทย ก็มาสังกัดกระทรวงคมนาคมแทน

ขณะที่ กทม.มีปัญหาเชิงโครงสร้างซึ่งซับซ้อนพอสมควร และปัญหาพื้นฐานรอบตัวที่เปรียบเหมือนเส้นเลือดฝอย ภารกิจ 4 ปีจึงต้องเร่งแก้ปัญหาเส้นเลือดฝอยในทุกด้าน

โดยเฉพาะปัญหาการเดินทางต้องเร่งจัดทำระบบฟีดเดอร์ หรือระบบเชื่อมต่อ
ขนส่งขนาดใหญ่ ทั้งรถเมล์ วินมอเตอร์ไซค์ และเรือโดยสาร

“แก่น 200 นโยบายคือแนวทางแก้เส้นเลือดฝอยที่อ่อนแอ ไม่งั้นกรุงเทพฯไม่มีทางแข็งแรงได้”

BTS ยินดีเจรจา

แหล่งข่าวจาก บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (บีทีเอสซี) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า บริษัทยินดีเจรจากับ กทม. หลังได้ผู้ว่าฯคนใหม่ เพราะสายสีเขียวเป็นปัญหาที่สะสมมานาน ยอมรับว่ามีความซับซ้อนและรายละเอียดมาก

ทั้งเกี่ยวข้องถึง 6 หน่วยงาน คือ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงคมนาคม กทม. บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด (เคที) บีทีเอสซี และการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.)

“เรื่องค้างเติ่งอยู่ที่ ครม. สุดท้ายคงต้องให้นายกรัฐมนตรีตัดสินใจ เพราะเป็นเรื่องนโยบายระดับชาติ ทั้งหมดเป็นสัญญาผูกพันและสัญญาจ้างเดินรถ ซึ่งเป็นภาระหนี้สะสมกว่า 3 หมื่นล้านบาท”

ขณะที่นายเกรียงพล พัฒนรัฐ กรรมการผู้อำนวยการ บริษัทเคที ซึ่ง กทม.ถือหุ้น 99.98% และเป็นคู่สัญญากับบีทีเอสซี กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ไม่มีความเห็นเรื่องการรื้อสัญญารถไฟฟ้าสายสีเขียว เป็นนโยบายของ กทม.

ศักดิ์สยามเตือนระวังเสียค่าโง่

วันที่ 24 พฤษภาคม 2565 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ให้ความเห็นว่า เรื่องสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว ต้องไปถาม พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ที่ผ่านมาได้พูดไปทั้งหมดแล้ว ส่วนเรื่องการต่อหรือไม่ต่อสัมปทาน และการกำหนดอัตราค่าโดยสารนั้น ขอให้ปฏิบัติถูกต้องตามระเบียบ กฎหมาย และมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) และมีหลักธรรมาภิบาล

“การจะต่อหรือไม่ต่อสัมปทาน เป็นเรื่องที่ผู้ว่าฯ กทม.คนใหม่ ต้องไปทำตามระเบียบกฎหมาย ผมพูดหมดแล้ว และทำหนังสือส่งไปถึง กทม. 9 ฉบับแล้ว”

นายศักดิ์สยามกล่าวว่า กรณีที่นายชัชชาติหาเสียงไว้ว่า ไม่เห็นด้วยกับการต่อสัมปทาน และควรจะโอนรถไฟฟ้าสายสีเขียวให้รัฐบาลนั้น ขอรอดูนายชัชชาติก่อน อย่าให้พูดอะไรล่วงหน้า เพราะรายละเอียดมีมาก

“อยู่ที่ผลศึกษา ทำอะไรแล้วประชาชนได้ประโยชน์สูงสุด นั่นแหละถูกต้อง และต้องอยู่ภายใต้ระเบียบข้อกฎหมายและมติ ครม. รวมถึงสัญญาด้วย การจะบอกว่า อยู่ ๆ จะไปลดอะไรต่าง ๆ นานาในสัญญาสามารถดำเนินการได้หรือไม่ ระวังจะเป็นค่าโง่”

นายกฯเปิดเกมถกใหญ่

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ให้สัมภาษณ์ว่า เรื่องสายสีเขียวคงต้องคุยกันต่อ ถามหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว อยู่ในขั้นตอนของคณะกรรมการพิจารณา อีกทั้งวันนี้เปลี่ยนผู้ว่าฯ กทม.คนใหม่ ซึ่งเป็นภาระที่ต่อเนื่อง

“ฝากช่วยแก้ไขให้เดินหน้าได้ก็แล้วกัน ทำให้ถูกต้อง แค่นั้นเอง ผมไม่ได้ว่าผิดหรือถูก หลายอย่างอยู่ในอำนาจในกรอบคณะกรรมการทั้งนั้น นายกฯให้นโยบายไปว่าเห็นสมควรให้ทำไอ้นู่น ไอ้นี่ ครม.ก็อนุมัติไป แต่ทุกคนต้องทำตามกฎหมายที่มีอยู่ ต้องรับผิดชอบ เข้าใจไหม” พล.อ.ประยุทธ์กล่าวและว่า

การพิจารณาโครงการ คุยกันมันก็จบ เป็นระบบที่ต้องทำงานด้วยกันอยู่แล้ว กรณีที่นายชัชชาติไม่เห็นด้วย ถ้าจะต่อสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวเป็นเรื่องของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องดู มีทั้งกระทรวงมหาดไทย กระทรวงคมนาคม รฟม. ผู้ได้รับสัมปทานต้องคุยกัน แต่ข้อสำคัญคือ ยิ่งช้ายิ่งเสียประโยชน์ ประชาชนก็เดือดร้อน เราอยากให้ทุกอย่างสำเร็จด้วยการร่วมกันทุกฝ่าย ไม่ว่าใครก็ตาม ตนไม่ได้เป็นศัตรูกับใครอยู่แล้ว

“ผมทำงานด้วยหลักการ ด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดินที่ผมต้องระวังที่สุด ต้องมีกระบวนการแต่งตั้งผู้ว่าฯ กทม.ก่อน หน่วยงานต่าง ๆ ถึงจะคุยกันได้”

เลิกสัมปทานไม่ง่าย

นายมงคล พ่วงเภตรา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายกลยุทธ์การลงทุนหลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ เคทีบีเอสที จำกัด (มหาชน) (KTBST) กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การจะยกเลิกสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวไม่ได้ง่าย เพราะมีหนี้สินระหว่าง กทม.กับ BTS กว่า 38,000 ล้านบาท ตอนนี้อาจยังไม่ใช่ข้อสรุปว่าจะยกเลิกสัมปทาน แต่นักลงทุนกลัวกันไปก่อน จึงสะเทือนราคาหุ้น BTS และ BTSGIF

แนวทางจึงมี 2 วิธี คือ 1.เจรจาต่อสัญญาให้ BTS แลกกับหนี้ แต่ค่าบริการจะสูงขึ้น และ 2.ยกเลิกสัมปทาน รัฐบริหารเอง โดยว่าจ้าง BTS บริหาร ซึ่งค่าบริการจะถูกลง เพราะคุมโดยรัฐ แต่รัฐจะหาเงินจากไหนมาชำระหนี้ก้อนนี้

รายงานข่าวระบุว่า สัญญาที่เกี่ยวข้องกับสายสีเขียวมี 9 สัญญา ซึ่งสัญญาทั้งหมดไม่ได้เปิดเผยต่อสาธารณะ ทั้งเกี่ยวเนื่องกับ พ.ร.บ.การร่วมลงทุน และ พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างผ่าน KT

อสังหาฯเชื่อมือผู้ว่าฯใหม่

นายเศรษฐา ทวีสิน ประธานอำนวยการ และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.แสนสิริ กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ดีใจที่มีผู้ว่าฯ กทม.ที่มาถูกต้องตามครรลองคลองธรรมของระบอบประชาธิปไตย และดีใจที่ได้เป็นคุณชัชชาติ เพราะเป็นคนที่มุ่งมั่นจะเป็นผู้ว่าฯ กทม.มานาน ได้ศึกษา คลุกคลีกับชุมชน และเข้าใจปัญหาจริง ๆ

เชื่อว่าปัญหาหลัก ๆ ไม่มีใครไม่รู้ และไม่มีปัญหาไหนเร่งด่วนไปกว่ากัน ทั้งขยะ น้ำท่วม ความสะอาด อาชญากรรม และรถติด

อีกเรื่องที่อาจพูดถึงน้อยไปคือ Green Sustainability ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่จะให้กรุงเทพฯ Eco Friendly ขึ้น และเป็นสิ่งที่นักท่องเที่ยวให้ความสำคัญ

“ส่วนตัวไม่มีอะไรจะแนะนำ คิดว่าคุณชัชชาติรู้หมดแล้ว ถือเป็นงานที่หนักและท้าทาย ก็ขอเอาใจช่วย”

สำหรับประเด็นเรื่องรถไฟฟ้า นายเศรษฐากล่าวว่า ไม่มีคอมเมนต์ แต่อยากให้คนกรุงมีรถไฟฟ้าใช้ เพราะสะดวกและแก้มลพิษ แต่เรื่องราคาค่าโดยสารก็สำคัญก็ฝากไว้ เพราะเป็นปัญหาละเอียดอ่อน ทั้งกระทรวงคมนาคม กทม. และเอกชน ขอให้เจรจากันได้ เพราะเป็นเรื่องค่าครองชีพของประชาชน

นายไตรเตชะ ตั้งมติธรรม กรรมการผู้จัดการ บมจ.ศุภาลัย กล่าวว่า คุณชัชชาติทราบปัญหาเมืองกรุงเทพฯดีอยู่แล้ว เพราะเคยเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ทั้งเคยเป็นผู้บริหารในบริษัทอสังหาริมทรัพย์จึงเป็นข้อดี ทำให้รู้ปัญหาพื้นฐาน และเป็นคนที่มีองค์ความรู้ในตัวเยอะ เท่าที่สัมผัสถือเป็นคนเปิดกว้าง

“กรุงเทพฯเป็นหนึ่งในเมืองที่สำคัญของโลก ตอนนี้เทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงไปเยอะ อาจต้องขับเคลื่อนข้าราชการให้ทันโลก ในด้านประชากรตอนนี้เป็นยุค Aging Society คนรุ่นใหม่ในกรุงเทพฯน่าจะมีส่วนผลักดันให้เติบโตไปคู่กันได้”

ขอโปรเจ็กต์-ช่วยรากหญ้า

นายเวทิต โชควัฒนา กรรมการผู้อำนวยการ บมจ.สหพัฒนพิบูล กล่าวว่า กรุงเทพฯเป็นเมืองใหญ่ มีหลายเรื่องต้องเร่งแก้ ทั้งน้ำท่วม รถติด ฯลฯ อยากให้ผู้ว่าฯคนใหม่มองภาพระยะยาว แม้จะมีเวลาแค่ 4 ปี แต่กรุงเทพฯต้องลงทุนใหญ่เพื่อรับมืออนาคต ต้องสตาร์ตตั้งแต่วันนี้ ไม่ใช่แค่แก้ปัญหาตามกระแส

“ตอนนี้คนเพิ่งกลับมาใช้ชีวิตปกติ จึงต้องบาลานซ์ให้ดีระหว่างความสะดวกสบายและความถูกต้อง ให้กรุงเทพฯเป็นเมืองที่น่าอยู่ โดยจัดระเบียบจัดสรรพื้นที่ให้พ่อค้าแม่ค้าได้ค้าขาย เพราะธุรกิจจะดีตามไปด้วย”

4 ปีเปลี่ยน กทม.ได้

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ส่วนตัวอยากได้ผู้ว่าฯคนดี มีวิสัยทัศน์ มุ่งพัฒนา ใช้งบประมาณให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ไม่คอร์รัปชั่น เพื่อให้คนกรุง 5 ล้านคน และคนที่ต้องเดินทางติดต่องานกว่า 10 ล้านคน ได้ประโยชน์มากที่สุด ความปลอดภัยเป็นสิ่งสำคัญ

“การขนส่งมวลชนเป็นสิ่งสำคัญ เพราะราคาน้ำมันปรับสูงขึ้น หากผู้ว่าฯแก้ไขปัญหาจราจรได้ก็จะช่วยประหยัดเวลา และประหยัดการใช้พลังงาน อยากเห็นการขับเคลื่อนรถไฟฟ้าสายสีเขียว และค่าโดยสารที่ประชาชนจับต้องได้ เพื่อเป็นทางเลือกในการบรรเทาความเดือดร้อน”

ส่วนด้านเศรษฐกิจต้องการให้เข้ามาจัดระเบียบการค้าขายหาบเร่แผงลอยให้มีพื้นที่ที่เหมาะสม และดูแลร้านค้าที่จ่ายภาษีถูกต้องให้ไม่ถูกเอารัดเอาเปรียบ และว่า ใน 4 ปีนี้หากทำงานได้มีประสิทธิภาพ ใช้งบประมาณไม่รั่วไหล เชื่อว่ากรุงเทพฯจะเปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือแน่นอน

หนุนสายสื่อสารลงดิน

นายสมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (เอไอเอส) กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า สนับสนุนนโยบายการนำสายสื่อสารลงดิน เพื่อทำให้กรุงเทพฯเป็นเมืองน่าอยู่ และให้มีหน่วยงานหลักรับผิดชอบ

แหล่งข่าวจาก บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น ให้ความเห็นว่า การนำสายสื่อสารลงท่อร้อยสายใต้ดินถือเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องทำอันดับต้น ๆ เพราะสร้างภาพลักษณ์และภูมิทัศน์เมือง จะได้แก้ปัญหาและสร้างรายได้