เปิดจดหมายด่วนที่สุด รัฐมนตรีภูมิใจไทย ประท้วงสัมปทานสายสีเขียว

เปิดจดหมายลาประชุม ครม. รัฐมนตรีภูมิใจไทย ประท้วงสัมปทานสายสีเขียว

ไม่เห็นด้วยต่อสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯและ รมว.สาธารณสุข หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย นำทีมส่งจดหมายลาประชุม ครม.

วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย (ภท.) นำทีม 7 รัฐมนตรีจากพรรคตบเท้าไม่เข้าร่วมประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพราะประท้วงที่กระทรวงมหาดไทย ส่งวาระ “ขอความเห็นชอบผลการเจรจาและเห็นชอบ ร่างสัญญาร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว” เข้าสู่การพิจารณาของ ครม.

โดยนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข ลงนามในเอกสารราชการ ด่วนที่สุด ลงวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2565 เลขที่ นร. 0403 (กร 3)/1861 ส่งถึงเลขาธิการคณะรัฐมนตรี

เรื่อง ความเห็นประกอบการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี เรื่องขอความเห็นชอบผลการเจรจาและเห็นชอบร่างสัญญาร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว

มีเนื้อหาระบุว่า “ไม่เห็นด้วยกับการดำเนินการของกรุงเทพมหานคร ตามความเห็นและเหตุผลของกระทรวงคมนาคม”

“ตามที่ สํานักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีได้มีหนังสือแจ้งเชิญประชุมคณะรัฐมนตรี ครั้งที่ 6/2565 ในวันอังคารที่ 8 กุมภาพันธ์ 2565 เวลา 09.00 น. ณ ตึกสันติไมตรี (หลังนอก) ทําเนียบรัฐบาล โดยมี ระเบียบวาระการประชุมตามอ้างถึง นั้น”

อ้างตามวาระเรื่องเพื่อพิจารณา ลําดับที่ 3 เรื่องขอความเห็นชอบผลการเจรจาและเห็นชอบ ร่างสัญญาร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว

ขอเรียนว่า ไม่เห็นด้วยกับการดําเนินการของกรุงเทพมหานคร

ทั้งนี้ ตามความเห็นและเหตุผลของกระทรวงคมนาคมตามหนังสือกระทรวงคมนาคม ด่วนที่สุด ที่ กค (ปคร) 0208/24 วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2565 จึงเรียนมาเพื่อโปรดทราบ

นอกจากนี้ ยังมี นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ก็ส่งจดหมาย ด่วนที่สุด ขอลาการประชุม ครม. และระบุเหตุผลเดียวกับนายอนุทิน หัวหน้าพรรค ตามเนื้อหาจดหมายระบุ ดังนี้

เรื่อง ขอลาการประชุมคณะรัฐมนตรี (วันอังคารที่ 8 กุมภาพันธ์ 2565)

เรียน เลขาธิการคณะรัฐมนตรี

“ตามที่สํานักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ได้กําหนดให้มีการประชุมคณะรัฐมนตรี ในวันอังคารที่ 8 กุมภาพันธ์ 2565 ณ ตึกสันติไมตรีหลังนอก กระผมขอลาการประชุมคณะรัฐมนตรี ในวันดังกล่าว”

“อนึ่ง วาระเพื่อพิจารณา ลําดับที่ 3 เรื่องขอความเห็นชอบผลการเจรจาและเห็นชอบร่างสัญญา ร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ที่สํานักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีได้บรรจุในวาระแล้วนั้น ผมมีความเห็น ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ ตามหนังสือที่ คค (ปคร) 0208/28 วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2565

จึงเรียนมาเพื่อโปรดนําเสนอนายกรัฐมนตรีทราบ

ส่วนนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และเลขาธิการพรรคภูมิใจไทย ส่งเอกสารด่วนที่สุด เช่นกัน ระบุว่า

เรียน  เลขาธิการคณะรัฐมนตรี

เรื่อง ความเห็นประกอบการพิจารณาของคณะรัฐมนตรีเรื่อง ขอความเห็นชอบผลการเจรจาและเห็นชอบร่างสัญญาร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว

กระทรวงคมนาคมได้พิจารณาข้อมูลเพิ่มเติมของกรุงเทพมหานคร (กทม.) แล้ว ขอยืนยันตามความเห็นเดิมว่า ไม่เห็นด้วยกับการดำเนินการของ กทม. เนื่องจากข้อมูลที่ กทม. จัดทำเพิ่มเติมนั้น ไม่มีการเปลี่ยนแปลงในข้อเท็จจริงที่ทำให้การวิเคราะห์ของกระทรวงคมนาคมแตกต่างไปจากเดิม โดยเฉพาะในประเด็นของการคำนวณอัตราค่าโดยสาร การรองรับระบบตั๋วร่วม และความชัดเจนของประเด็นข้อกฎหมาย

นอกจากนี้ ปัจจุบันการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ยังคงเป็นหน่วยงานเจ้าของกรรมสิทธิ์ในสิ่งก่อสร้างและที่ดินตลอดแนวโครงการรถไฟฟ้าทั้ง 2 ช่วง อันเป็นสาระสำคัญที่ไม่อาจเห็นด้วยต่อแนวทางการดำเนินการตามข้อเสนอของกระทรวงมหาดไทย นอกเหนือจากประเด็นอื่น ๆ ที่กระทรวงคมนาคมได้เคยนำเสนอและแจ้งยืนยันในครั้งนี้

กระทรวงคมนาคมขอรายงานข้อเท็จจริงว่า กทม. รฟม. สำนักงบประมาณ สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ และกระทรวงคมนาคม ได้ประชุมเพื่อหารือสรุปรายละเอียดค่าใช้จ่ายโครงการ ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต ร่วมกันเรียบร้อยแล้ว เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2563 แต่ยังมีประเด็นเกี่ยวกับแนวทางการดำเนินการตามเงื่อนไขการอนุญาตให้เข้าพื้นที่ กรณีการติดตั้งสะพานเหล็กแยกหทัยราษฎร์และแยกพุทธมณฑลสาย 2 ซึ่งรอคำยืนยันจาก กทม.

เนื่องจากการพิจารณากรอบวงเงินโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต จะได้ข้อสรุปมีความจำเป็นต้องทราบความชัดเจนของแนวทางการติดตั้งสะพานเหล็กทั้ง 2 แห่ง เพื่อประกอบการจัดทำรายละเอียดค่าใช้จ่ายของโครงการ

จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณานำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อประกอบการพิจารณาต่อไปด้วย