ผ่างบกลาง กทม.เหลือ 94 ล้าน ชัชชาติแก้เกมชู ZBB รื้อโครงสร้าง

ชัชชาติ สิทธิพันธุ์
ชัชชาติ สิทธิพันธุ์
คอลัมน์ : รายงาน
ผู้เขียน : ธนวัฒน์ บุญรวม

เป็นประเด็นฮอตอิสชูส์ตั้งแต่ “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” รับตำแหน่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) คนที่ 17

เมื่อพบว่า กทม.มีงบประมาณปี 2565 ด้านการลงทุน เหลืออยู่เพียง 94 ล้านบาท ในขณะที่มีเวลาบริหารราชการ กทม.ถึง 4 เดือนกว่าจะหมดปีงบประมาณ 2565 (มิถุนายน-กันยายน 2565)

“เราเข้ามาเปลี่ยนวิธีคิด”

โดยเรื่องนี้ “ชัชชาติ” ผู้ว่าฯ กทม. ตอบคำถามสื่อหลังจากร่วมประชุมกับผู้บริหาร กทม.นัดแรกว่า เท่าที่ได้รับรายงานชี้แจง ยังมีงบฯกลางเหลือ 1,000 กว่าล้านบาท ที่ใช้ได้ ส่วนอีก 4,000 ล้านบาทเป็นวงเงินที่เหลืออยู่ แต่มีข้อกำหนดว่าจะนำไปใช้โครงการอะไรบ้าง (มีโครงการรองรับ) เพราะฉะนั้น การบริหาร กทม.ที่มีเวลาเหลืออีก 4 เดือน ก่อนจะจบปีงบประมาณ 2554 จึงเป็นการใช้งบประมาณปกติไปก่อน

สำหรับทีมชัชชาติ ปีงบประมาณ 2566 เป็นแผนหลักที่จะทำให้เป็นรูปธรรมจริง ๆ

“…ก็ยังดีที่ท่านสำนักยุทธศาสตร์เรียนว่า หลาย ๆ เรื่อง (200 นโยบายหาเสียง) เป็นแนวทางเดียวกัน การทำนโยบายผมคิดว่าเกิน 40% มีอยู่ในนโยบาย กทม.อยู่แล้ว เราจัดลำดับความสำคัญขึ้น งบฯก็มีอยู่แล้ว”

คำถามที่ต้องตอบหลายครั้งก็คือ งบประมาณเหลือน้อยเป็นอุปสรรคหรือไม่

“ปี 2565 ผมไม่ได้กังวล นโยบายหลาย ๆ อย่างเป็นเรื่องแนวคิด เรื่องที่ไม่ต้องใช้งบประมาณ ปีนี้ส่วนใหญ่เป็นเรื่องการเริ่มต้นนับ 1 (ทีมบริหารชุดใหม่) การตั้งคณะทำงานศึกษา หลาย ๆ เรื่องไม่ใช่เรื่องใช้งบฯที่เหลืออยู่”

วลีเด็ดคือ “…เราไม่ได้ตั้งใจเข้ามาใช้งบประมาณ แต่เข้ามาเปลี่ยนวิธีคิด” โดยส่งสัญญาณจุดเปลี่ยนวิธีงบประมาณ กทม.ใหม่ ด้วยการนำเสนอโมเดล Zero-Based Budgeting การทำงบประมาณเป็น 0 ก็เริ่มต้นนับ 1 แล้ว มีการนำผู้เชี่ยวชาญมาพูดให้ผู้บริหาร กทม.ฟัง

รื้อวิธีงบประมาณ-ดัน ZBB

เรื่องเดียวกันนี้ “ดร.ยุ้ย-เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์” ประธานยุทธศาสตร์คณะทำงานของผู้ว่าฯ กทม.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ถึงการประชุมสภา กทม.นัดแรก เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2565 ว่า มีเนื้อหาที่พูดกันถึงการจัดสรรงบประมาณจากความจำเป็นของโครงการหรือกิจกรรมให้มีประสิทธิภาพ หรือ “ZBB-Zero-Based Budgeting”

ซึ่งวิธีการจัดทำงบประมาณ Zero-Based Budgeting พัฒนาโดยปีเตอร์ เพียร์ (Peter Pyhrr) ตั้งแต่ปี 1970 (2513) แต่ไม่มีใครหยิบนำมาใช้ให้เป็นรูปธรรมและสามารถจับต้องได้จริงจัง กระทั่ง ผศ.ดร.วิลาสินี วงศ์แก้ว อาจารย์จากคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มาช่วยให้ความรู้และรายละเอียด จึงต้องขอขอบคุณในเรื่องนี้

เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์
เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์

โดย กทม.ยุคชัชชาติ จะเซต Zero-Based Budgeting เอามาปรับใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพื่ออนาคตในวันข้างหน้าของพวกเราทุกคน

“เรื่องบางเรื่อง งานบางอย่างที่มีและดีอยู่แล้ว เราไม่ต้องคิดใหม่ แค่ลงรายละเอียดให้ลึก ลงมือทำให้จริงจัง ใช้ให้เหมาะกับโลกปัจจุบัน ปรับตัวให้เร็ว ให้ทันกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น Zero-Based Budgeting คือ 1 ใน 214 นโยบายหลักทีมชัชชาติ ยุ้ยตั้งใจจริงที่อยากศึกษา เรียนรู้ และนำมาใช้สิ่งใหม่ ๆ ให้เกิดขึ้นจริงในยุคนี้” ดร.ยุ้ยกล่าว

โครงสร้างงบฯกลาง-94 ล้าน

ด้าน “ธนกร ไชยศรี” ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ กรุงเทพมหานคร กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปีงบประมาณ 2565 มียอดงบฯรวม 78,979 ล้านเศษ แบ่งรายจ่ายตัวเลขกลม ๆ ดังนี้ 1.งบฯบุคลากร 2.1 หมื่นล้านบาท 2.งบฯดำเนินงาน 1.2 หมื่นล้านบาท เช่น ค่าตอบแทนพิเศษไม่ใช่เงินเดือน ค่าสาธารณูปโภค 3.งบฯลงทุน 1.3 พันล้านบาท เช่น อุปกรณ์ทำงาน ก่อสร้างปรับปรุงสำนักงาน ซ่อมถนนและตรอกซอย

4.เงินอุดหนุน 1.4 พันล้านบาท แยกย่อยเป็นเงินอุดหนุนสมทบ คือรัฐบาลให้เงินอุดหนุนมา แต่ให้ไม่ครบ เช่น ค่าอาหารกลางวัน อัตรา 100 บาท แต่รัฐจ่ายจริง 80 บาท กทม.เติมอีก 20 บาท แต่ถ้า กทม.จะเพิ่มเป็น 150 บาท ส่วนต่างอีก 50 บาทก็อยู่ในงบฯก้อนนี้ อีกส่วนคือเงินอุดหนุนจากส่วนราชการอื่นที่ช่วย กทม. สัดส่วน 11-12%

5.งบฯรายจ่ายอื่น 3.8 พันล้านบาท เป็นงบฯที่จัดให้ เช่น โครงการประจำปี มีแผนงาน ไม่เกี่ยวกับก่อสร้าง แต่เป็นกิจกรรมเป็นหลัก ส่วนใหญ่เกี่ยวกับการท่องเที่ยว 6.โครงการต่อเนื่อง 1.4 หมื่นล้านบาท ซึ่งต้องทำจนจบโครงการ มีบางโครงการรัฐกับ กทม.สมทบคนละครึ่ง 7.งบฯกลาง 1.4 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นงบฯที่กำลังเป็นประเด็นเป็นปัญหาอยู่

โดยงบฯกลางมี 12 รายการ (ดูตารางประกอบ) ซึ่งรหัส 11, 12, 17 เป็นงบฯกลางที่ผู้ว่าฯ กทม.สามารถนำมาใช้ทำนโยบายได้ ส่วนอีก 9 รายการเป็นงบฯที่มีแผนโครงการรองรับไว้หมดแล้ว

ประเด็นงบฯเหลือ 94 ล้าน ก็มาจากก้อนรหัส “11-12-17” ที่มีการใช้จ่ายเกือบเต็มก้อน ในขณะที่มีเวลาบริหารราชการ กทม.เหลือ 4 เดือน จึงจะหมดปีงบประมาณ 2565

งบกลาง

เปิดช่อง “โยกงบฯเหลือจ่าย”

“งบฯกลางจริง ๆ แล้วกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นถือเป็นเพียงส่วนหนึ่ง ซึ่งงบฯกลางเป็นการเสริมสภาพคล่อง เช่น งบฯตั้งไว้ไม่พอ มีความจำเป็นหรือเร่งด่วน เช่น กรณีโควิด กรณีพายุพัดโรงเรียนพังเสียหาย แต่งบฯปีของโรงเรียนกรณีซ่อมแซมมีอยู่ 300,000 บาท ค่าเสียหายส่วนเกินก็ต้องมาจากงบฯกลาง”

คำถามสุดท้ายคือ ผู้ว่าฯชัชชาติจะมีงบประมาณจากทางใดมาสนับสนุนการทำงานได้บ้าง

แนวคำตอบคือ โครงการใหม่เลยต้องใช้งบฯกลาง โดยงบฯกลางจะสามารถใช้ได้เมื่อ 1.ตั้งงบประมาณไว้ไม่เพียงพอ 2.มีเหตุผลความจำเป็นที่จะจัดทำโครงการ เพียงแต่ว่าตัวงบฯกลางต้องใช้ตามกรอบที่มีอยู่


“มีกรณีหนึ่งที่ผู้ว่าฯ กทม.เพิ่มงบฯกลางได้ คือโอนงบประมาณเหลือจ่ายมาจากโครงการอื่น สมมติว่าบางโครงการได้งบฯ 100 ล้าน พอแข่งขันราคากันแล้วใช้จริง 80 ล้าน เงิน 20 ล้านเรียกว่าเงินเหลือจ่าย สามารถโอนมายังงบฯกลางได้ แต่ว่าต้องผ่านสภา กทม.เสียก่อน”