
ไม่เพียงแต่ผู้ใช้รถบน “ถนน” เท่านั้น แต่ระบบขนส่งสาธารณะทุกประเภท ได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันที่ปรับสูงขึ้น
ประเทศไทยมีระบบขนส่งทุกประเภท ไม่ว่าจะทางบก ทางน้ำ ทางราง หรือทางอากาศ ทั้งหมดล้วนแล้วแต่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตราคาน้ำมันที่ปรับเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง สืบเนื่องจากปัญหาความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน
- ตรวจหวย ผลสลากกินแบ่งรัฐบาล ตรวจผลรางวัล งวด 1 ธ.ค. 2566
- เช็กเงินช่วยเหลือชาวนาไร่ละ 1,000 บาท เข้าบัญชีวันนี้ 5 จังหวัด
- วิธีเช็กเงินช่วยเหลือชาวนา ไร่ละ 1,000 บาท chongkho.inbaac.com
“ประชาชาติธุรกิจ” พาสำรวจขนส่งสาธารณะทุกประเภท ถึงความเคลื่อนไหวด้านค่าบริการโดยสารในช่วงนี้ที่ “น้ำมันแพง”
บขส. ยันไม่ขึ้นค่าโดยสาร
เริ่มที่ขนส่งสาธารณะทางบก อย่าง บริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) เป็นระบบขนส่งสาธารณะที่คนส่วนมากเลือกใช้บริการเพื่อเดินทางไกล ไปต่างจังหวัด ได้ออกมายืนยันเมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2565 ว่า แม้ราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้นจะส่งผลกระทบต่อต้นทุนการเดินรถ แต่ไม่มีนโยบายหยุดเดินรถและปรับขึ้นค่าโดยสาร เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่ประชาชน
โดยเป็นไปตามข้อสั่งการของนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม
เรือด่วนเจ้าพระยา ขึ้นราคา 1 บาท
ด้าน ขนส่งทางน้ำ อย่างเรือด่วนเจ้าพระยา ได้แจ้งปรับอัตราค่าโดยสาร เรือธงส้ม ธงเหลือง ธงเขียว ขึ้นอีก 1 บาท จากอัตราค่าโดยสารเดิม เริ่มมีผลตั้งแต่วันที่ 15 มิถุนายน 2565 โดยมีอัตราค่าโดยสาร ดังนี้
1. เรือธงส้ม เส้นทางนนทบุรี-วัดราชสิงขร จากราคา 15 บาท เพิ่มขึ้นเป็น 16 บาท (ตลอดสาย)
2. เรือธงเหลือง เส้นทางนนทบุรี-สาทร จากราคา 20 บาท เพิ่มขึ้นเป็น 21 บาท (ตลอดสาย)
3. เรือธงเขียว
- เส้นทาง ปากเกร็ด-นนทบุรี จากราคา 13 บาท เพิ่มขึ้นเป็น 14 บาท
- เส้นทาง นนทบุรี-สาทร จากราคา 20 บาท เพิ่มขึ้นเป็น 21 บาท
- เส้นทาง ปากเกร็ด-สาทร จากราคา 32 บาท เพิ่มขึ้นเป็น 33 บาท
4. เรือธงแดง (ปรับอากาศ) นนทบุรี-สาทร ราคา 30 บาทตลอดสาย คงเดิม (ราคาปกติ 50 บาท)
อย่างไรก็ตาม หากราคาน้ำมัน ปรับตัวลดลงต่ำกว่าเกณฑ์ ตามประกาศกรมเจ้าท่าที่ 110/2559 บริษัทจะปรับลดอัตราค่าโดยสารต่อไป
ร.ฟ.ท.สบช่อง ชูขนส่งทางรางแทนรถ คุมต้นทุนธุรกิจ
ส่วนการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เองก็ยังไม่ได้มีการเคลื่อนไหวด้านค่าบริการในช่วงที่น้ำมันเพิ่มสูงขึ้น แต่นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการการรถไฟฯ ได้เปิดเผยว่า มีลูกค้าหลายบริษัทสนใจและติดต่อมายังการรถไฟฯ เพื่อจะใช้บริการขนส่งสินค้าทางรถไฟแทนรถบรรทุก
เนื่องจากการขนส่งทางรางสามารถช่วยลดต้นทุนค่าขนส่งได้ โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างการเจรจากับลูกค้ารายใหม่ประมาณ 10 ราย คาดว่า จะได้ข้อสรุปและเปิดเดินขบวนรถขนส่งสินค้าได้ภายในปีนี้
สำหรับรายจ่ายค่าน้ำมันของ ร.ฟ.ท. ปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 34 บาทต่อลิตร โดยทุก 1 บาท ที่ราคาน้ำมันเพิ่มขึ้นจะส่งผลให้ มีค่าใช้จ่ายเพิ่มประมาณ 2 ล้านบาทต่อเดือน
BTS MRT ขสมก. ยังนิ่ง คนกรุง-ปริมณฑล รอลดราคา
ขณะที่ ขนส่งสาธารณะจากภาคเอกชน ยังไม่มีความเคลื่อนไหวต่ออัตราค่าบริการในช่วงนี้ ทั้งในส่วนของรถไฟฟ้า BTS ที่บริหารงานโดย บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC, รถไฟใต้ดิน (MRT) รวมถึง รถโดยสารสาธารณะ องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ หรือ ขสมก.
เยียวยามอเตอร์ไซค์รับจ้าง-แท็กซี่ ?
นอกจากนี้ อีกหนึ่งประเภทขนส่งที่ถือว่า มีผู้ใช้บริการอย่างมากโดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพมหานคร อย่าง มอเตอร์ไซค์รับจ้าง ที่ต้องใช้น้ำมันเช่นกัน แต่เป็นกลุ่มอาชีพเดียวที่ได้รับการเยียวยาในช่วงน้ำมันแพงจากทางรัฐบาลผ่านโครงการ “วินเซฟ”
มาตรการดังกล่าวได้รับการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 19 เมษายน 2565 เพื่อช่วยเหลือค่าน้ำมันให้กับผู้ขับขี่จักรยานยนต์รับจ้างไม่เกิน 250 บาท/คน/เดือน ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม-กรกฎาคม 2565 โดยสามารถกดรับสิทธิได้ผ่านทางแอปพลิเคชั่น “เป๋าตัง”
ส่วนรถแท็กซี่ แม้จะยังไม่ได้รับการช่วยเหลือด้านค่าน้ำมัน เพราะส่วนใหญ่ยังใช้แก๊สในการขับเคลื่อนรถ ที่ขณะนี้ราคาต่ำกว่า น้ำมันรถที่ 3-4 เท่าตัว โดยเมื่อช่วงเดือนมีนาคม 2565 ทางกรมขนส่งทางบกได้เยียวยา ด้วยการคงราคาขายปลีกผู้ที่ใช้ก๊าซ NGV ไว้ที่ 15.59 บาทต่อกิโลกรัม
สำหรับผู้ขับขี่แท็กซี่มิเตอร์ภายใต้โครงการลมหายใจเดียวกัน สามารถซื้อก๊าซได้ในราคา 13.62 บาท/กิโลกรัม จนถึงวันที่ 15 มิถุนายน 2565 หลังจากขยายเวลาจากเดิมสิ้นสุด 15 มีนาคม 2565