
ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครมอบนโยบายหัวหน้าหน่วยงานกรุงเทพมหานครเตรียม Action Plan เร่งจัดการถนนคนเดิน หาบเร่แผงลอยบนทางเท้า พร้อมรับทุกการชุมนุม ชี้ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างยังจัดเก็บได้ไม่ครบ
วันที่ 16 มิถุนายน 2565 นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวกับคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร และหัวหน้าหน่วยงาน ในการประชุมหัวหน้าหน่วยงานของกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 6/2565 ว่า “หน้าที่ของผมคือแก้ปัญหาให้พวกเรา เพื่อให้พวกเราแก้ปัญหาให้ประชาชน”
- ในหลวง พระราชินี เสด็จฯส่วนพระองค์ ทรงร่วมแข่งเรือใบ จ.ภูเก็ต
- เช็กที่นี่ เงินอุดหนุนบุตร 600 บาท เดือนธันวาคม 2566 เงินเข้าวันไหน
- เปิดค่าตอบแทน “ผู้บริหาร” ยักษ์ บจ. BBL จ่ายพันล้านต่อปี ทิ้งห่างคู่แข่ง
ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวว่า วันนี้เป็นการประชุมหัวหน้าหน่วยงาน กทม. ครั้งแรก เริ่มการประชุมจากเรื่องนโยบายและยุทธศาสตร์ ทำกรุงเทพฯ ให้เป็นเมืองน่าอยู่สำหรับทุกคน นโยบาย 9 ด้าน 9 ดี แผนปฏิบัติการ (Action Plan) 216 แผน ซึ่งได้ให้ทุกหน่วยงานนำไปปฏิบัติ ทำตัวชี้วัด รายงานความคืบหน้าของแต่ละแผนให้ชัดเจน เพื่อให้ประชาชนสามารถติดตามได้ โดยหัวใจของการดำเนินงานคือความโปร่งใสที่สามารถตรวจสอบได้ว่าแต่ละโครงการมีความคืบหน้าและปัญหาในการดำเนินงานอย่างไร สามารถเพิ่มหรือปรับรายละเอียดของโครงการได้ตามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งทุกคนเข้าใจ และเดินหน้าต่อไปได้
เล็งจัดถนนคนเดินบรรเทาปัญหาเศรษฐกิจ
ส่วนเรื่องปัญหาเศรษฐกิจ ปากท้อง เป็นปัญหาใหญ่ ซึ่ง กทม. อาจจะช่วยได้ในระดับหนึ่ง ได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปดูแนวทางการจัดกิจกรรมที่สามารถช่วยเหลือประชาชนได้ เช่น หาพื้นที่จัดถนนคนเดินในแต่ละเขต เพื่อให้ผู้ค้าสามารถนำของมาขายได้ หรืออาจจะนำผลิตภัณฑ์ของแต่ละเขต เช่น หนองจอก มีนบุรี ซึ่งส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกร ก็นำสินค้าทางการเกษตรมาขายในราคาถูกให้กับประชาชน โดยเป็นการหาพื้นที่ทำการค้าให้แบบไม่คิดเงิน หรือถ้าต้องคิดค่าเช่าพื้นที่ก็คิดน้อยมาก ๆ เพื่อให้ผู้ค้ามีพื้นที่ในการขายในแต่ละช่วงตามความเหมาะสม เชื่อว่าอย่างน้อยน่าจะช่วยบรรเทาปัญหาเศรษฐกิจได้บ้าง ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วน
เปิดทางเท้า จัดระเบียบหาบเร่แผงลอย
นอกจากนี้ ยังมีการพิจารณาจุดทำการค้าสำหรับหาบเร่แผงลอย เพื่อให้สามารถทำการค้าได้โดยไม่ไปเบียดเบียนหรือกระทบกับคนที่ใช้ทางเดินเท้า ซึ่งปัจจุบันมีเรื่องอยู่ระหว่างดำเนินการรออนุมัติประมาณ 30 จุด หากพิจารณาแล้วพบว่าจุดไหนไม่มีผลกระทบกับคนเดินเท้า สามารถควบคุมและดำเนินการตามระเบียบปฏิบัติได้ก็สามารถทำการค้าได้ อีกทั้งได้มอบหมายให้แต่ละเขตเข้าไปพูดคุยขอความร่วมมือกับเอกชน ในการเปิดพื้นที่ให้พ่อค้าแม่ค้าที่ถูกยกเลิกทำการค้าได้กลับมาทำการค้าในพื้นที่เอกชน
“เพราะกรุงเทพฯ เป็นเมืองแบ่งปัน ต้องแบ่งปันพื้นที่ที่มีเหลือซึ่งกันและกัน หลายพื้นที่สามารถทำได้ดี ลดการกีดขวางทางเดิน ขณะเดียวกันต้องมีพื้นที่ที่อาหารราคาไม่แพงสำหรับประชาชน ทำมาหากินได้ มีความสะอาด และความเหมาะสมด้วย” ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าว
ภาษีที่ดิน กทม. จัดเก็บได้ไม่ครบถ้วน
ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าวต่อว่า ในส่วนของภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง กทม. ได้ดำเนินตามประกาศกระทรวงการคลัง แต่ปัจจุบัน กทม. ยังไม่สามารถเก็บภาษีได้ครบ เนื่องจากติดปัญหาเรื่องฐานข้อมูลที่ยังมีไม่ครบถ้วน หากมีรายได้มากขึ้น กทม. ก็สามารถนำเงินดังกล่าวมาดำเนินโครงการต่าง ๆ เพื่อช่วยเหลือประชาชนได้ ซึ่งจะเร่งรัดกระบวนการจัดทำฐานข้อมูลในการจัดเก็บภาษี เพื่อให้เกิดความยุติธรรมกับทุกคน รวมถึงเร่งรัดให้มีการเบิกจ่ายงบประมาณให้มากที่สุดเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ
กทม. พร้อมรับทุกการชุมนุม
สำหรับความคืบหน้าแนวทางปฏิบัติในพื้นที่ชุมนุมสาธารณะ กทม. ให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ อาทิ สนับสนุนบริการทางการแพทย์ และรักษาความสะอาด ซึ่งที่ผ่านมายังไม่มีเหตุน่ากังวล รวมทั้งให้แต่ละเขตเสนอพื้นที่สาธารณะในการชุมนุม หรือแสดงออกทางความคิดเห็น เพราะในอนาคตอาจมีการแสดงความคิดเห็นในหลาย ๆ เรื่อง อาจจะไม่ใช่แค่เรื่องทางการเมือง อาจจะเป็นการแสดงออกทางความคิดเห็นในเรื่องอื่น เช่น ที่อยู่อาศัย หรือ EIA โดยจะมีการพิจารณารายละเอียดให้รอบคอบก่อนประกาศใช้ ซึ่งพื้นที่นั้นมีความแตกต่างกันจะต้องมีการจัดการให้เหมาะสมกับแต่ละพื้นที่ต่อไป