ชัชชาติ ปรับบทบาทพนักงานรักษาความสะอาดยุคใหม่สู่ Green BKK 2030

ชัชชาติ สิทธิพันธุ์
ชัชชาติ สิทธิพันธุ์

“ชัชชาติ” ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ยกพนักงานฝ่ายรักษาความสะอาดเป็นหัวใจสำคัญของ กทม. ไม่ใช่แค่ทำความสะอาด แต่เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยการดูแลเมืองให้ปลอดภัย พร้อมดูแลสวัสดิการให้เหมาะสม

วันที่ 29 มิถุนายน 2565 นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมผู้บริหารสำนักสิ่งแวดล้อม และหัวหน้าฝ่ายรักษาความสะอาดและสวนสาธารณะสำนักงานเขต ครั้งที่ 1/2565

โดยมีนายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นายพรพรหม วิกิตเศรษฐ์ ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ร่วมประชุม

สำหรับระเบียบวาระการประชุมมีเรื่องเพื่อทราบ 2 เรื่อง คือ

1.การขับเคลื่อนนโยบายของผู้ว่าฯ กทม. ที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม

2.เป้าหมายการเพิ่มพื้นที่สีเขียวตามโครงการ Green Bangkok 2030

ส่วนเรื่องเพื่อพิจารณา มี 4 เรื่อง ได้แก่

1.นโยบายปลูกต้นไม้ล้านต้น สร้างพื้นที่สีเขียวและกำแพงกรองฝุ่นทั่วกรุง

2.แนวทางการดำเนินโครงการตามนโยบายสวน 15 นาทีทั่วกรุง

3.การพัฒนาแนวทางการเก็บขนมูลฝอย เพื่อสภาพแวดล้อมเมืองที่ดี จุดคัดแยกขยะถูกสุขอนามัย ไม่มีขยะตกค้าง

4.การจัดตั้งจุดรับพลาสติกรีไซเคิล และขยะกำพร้าส่งคืนสู่ระบบหมุนเวียนใช้ประโยชน์ “แยกเพื่อให้พี่ไม้กวาด”

ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ฝ่ายรักษาความสะอาดเป็นหัวใจสำคัญของกรุงเทพมหานคร ที่จะดูแลประชาชน เวลาลงพื้นที่จะพบพนักงานกวาดตลอด ต้องดูแลพนักงานทั้งในส่วนของลูกจ้างประจำ ลูกจ้างชั่วคราว รวมถึงสวัสดิการต่าง ๆ ความมั่นคงในชีวิต

ที่ได้ยินบ่อยคือ เป็นลูกจ้างชั่วคราวมา 10 ปีแล้วยังไม่ได้บรรจุ ต้องดูเรื่องความเป็นธรรมให้ดี ผลงานของพนักงานรักษาความสะอาดมีผลต่อผลงานของ กทม. พวกเขาคือโซ่ที่เชื่อมระหว่าง กทม. กับประชาชน ถ้าโซ่ที่เชื่อมนี้อ่อนแอ สุดท้ายเราก็ไม่สามารถดีกว่าโซ่ข้อนี้ไปได้ หัวหน้าฝ่ายต้องให้ความเมตตากับลูกน้องและปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกัน

“พนักงานฝ่ายรักษาความสะอาด เป็นเหมือนหูตาให้กับเรา ช่วยดูเรื่องต่าง ๆ ให้เรา อาจจะดูเรื่องทางม้าลายให้ปลอดภัย ดูแลในเรื่องของจุดที่มีปัญหา

อยากให้มีการจัดอบรมเพิ่มเติมเรื่องเทคโนโลยีพวกเขา อย่างระบบ Traffy Fondue ให้กับพนักงานรักษาความสะอาดทุกคน เพื่อให้เขาช่วยแจ้งเหตุ

เมื่อเขาแจ้งมาเชื่อว่าทุกจุดได้รับการแก้ไขทั้งหมด เพราะทุกที่ในกรุงเทพฯ ต้องมีคนกวาด หน้าที่ของเขาไม่ใช่แค่ทำความสะอาดแต่หมายถึงการเป็นหูเป็นตาในการดูแลเมือง” นายชัชชาติ กล่าว

ทั้งนี้ กรุงเทพมหานคร มีการประกวดพนักงานรักษาความดีเด่นเป็นประจำทุกปี โดยมีคณะกรรมการคัดเลือก ซึ่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้เสนอในที่ประชุมว่า ขอให้เพิ่มการคัดเลือกพนักงานดีเด่นทุกอาทิตย์ด้วย

เนื่องจาก กทม. มีกิจกรรมผู้ว่าฯ สัญจร ทุกวันอาทิตย์ โดยสัญจรไปที่สำนักงานเขตไหน ก็ให้ทางสำนักงานเขตนั้นคัดเลือก ประมาณ 4-5 คน เพื่อร่วมทานข้าวด้วยกัน พูดคุยแลกเปลี่ยนปัญหาในการปฏิบัติงาน และสร้างขวัญกำลังใจ

ในส่วนของการดำเนินงานเกี่ยวกับนโยบายด้านสิ่งแวดล้อม ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เพิ่มเติมว่า ไม่อยากจำกัดอยู่ในกรอบของนโยบาย หากใครมีความคิดที่ทำให้เขตดีขึ้นสามารถเสนอได้เลย เพราะผู้ปฏิบัติงานอยู่ในพื้นที่อยู่แล้วย่อมรู้ปัญหาดีกว่า แต่ละเขตก็มีปัญหาไม่เหมือนกัน

“ผมชอบคนที่มีความคิดสร้างสรรค์ เราบอก 1 แล้วได้ 10 แสดงถึงความใส่ใจในการมองปัญหาให้แตก แต่บอก 1 แล้วได้ 0 ไม่ได้ ถ้าบอก 1 แล้วได้ 1 ก็ยังเสมอตัว อย่างที่บอกพวกเรารู้ละเอียดกว่าผมเยอะ ผมก็ทำแบบคนนอกที่คิดนโยบายมา อย่าไปผูกติดกับนโยบาย ต้องพยายามดูปัญหาบางทีอาจไม่ใช่เรื่องใหญ่ อาจะเป็นเรื่องเล็ก ๆ ที่สร้างความเปลี่ยนแปลงขนาดใหญ่ได้

เนื่องจากงบประมาณเรามีจำกัด เราอยากทำน้อยแล้วได้เยอะ อย่างที่เราให้พนักงานกวาดช่วยดูเรื่องความปลอดภัย เรื่องทางม้าลาย เท่านี้ก็ไม่ต้องเสียเงินเพิ่ม หรือตรงไหนไฟดับ พนักงานกวาดก็เห็นแล้ว ถ้าเขาใช้ Traffy Fondue เป็น ก็สามารถถ่ายรูปแจ้งเหตุได้ ถ้าเรามีแนวคิดที่เสนอขึ้นมาก็จะดี ความแตกต่างของการทำงานอยู่ตรงนี้ ว่าใครจะมีความคิดมีความกระตือรือร้นในการเสนอคำตอบนอกเหนือจากที่เราคิดให้” ผู้ว่าฯ ชัชชาติกล่าว