ศบค.เปิดฉากทัศน์ หลังพ้นระบาดใหญ่ หย่อนมาตรการ ป่วย 8 หมื่นรายต่อวัน

นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.)
นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.)

ศบค. ห่วงปอดอักเสบ-ใส่เครื่องช่วยใจ แนวโน้มเพิ่ม ยันมีเตียงรองรับเพียงพอ พบ 23 จังหวัดทิศทางติดเชื้อเพิ่มขึ้น “ภูเก็ต” พุ่งมากสุด เตือนหย่อนมาตรการหลังพ้นระบาดใหญ่ เกิดระลอกใหม่เดือนกันยายน เฉียด 80,000 รายต่อวัน ห่วงผู้สูงอายุ ฉีดเข็มกระตุ้นยังน้อย เหตุมองว่า “ฉีดพอแล้ว” เผยฉีดเข็ม 4 ป้องกันติดเชื้อ 96% เตรียมกระจายวัคซีน 169 ล้านโดสทั่วประเทศ

วันที่ 8 กรกฎาคม 2565 นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) แถลงผลการประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด – 19) ครั้งที่ 10/2565 ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุม

นายแพทย์ทวีศิลป์ ระบุว่า ที่ประชุมได้รายงานสถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19 ทั่วโลกรวมถึงประเทศไทย ขณะนี้กราฟแสดงยอดผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตที่ผ่านมาพุ่งสูงขึ้น เมื่อช่วงต้นปี และกำลังลดลง โดยจะมีเพียงการระบาดระลอกเล็ก ๆ เกิดขึ้นมา ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับสายพันธุ์ BA.4 และ BA.5

ย้ำ รับข้อมูลจาก ศบค. เท่านั้น

ที่ประชุมยังได้รับทราบว่า มีจำนวนผู้ป่วยรายใหม่ที่นอนโรงพยาบาลวันนี้ (8 ก.ค.) จำนวน 2,144 ราย โดยเน้นย้ำว่า เป็นจำนวนผู้ป่วยที่เข้านอนโรงพยาบาล ซึ่งขณะนี้สะสมไปแล้ว 2,317,520 ราย หายป่วย 1,946 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 20 ราย และผู้ป่วยที่กำลังรักษาอยู่ในโรงพยาบาล 25,082

ตัวเลขที่สำคัญคือ จำนวนผู้ป่วยอาการหนักกว่า 763 ราย ใส่เครื่องช่วยหายใจอยู่ที่ 327 ราย และอัตราครองเตียง 11.90%

อีกทั้งยังได้พูดถึงกรณีที่มีการรายงานข่าว รวมถึงแพทย์ผู้เชี่ยวชาญที่ได้ออกมาแจ้งยอดการติดเชื้อทั้งที่สอดคล้องและขัดแย้ง โดยนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขได้ขอความร่วมมือ และเน้นย้ำว่า ขอให้รับฟังข้อมูลจากทาง ศบค.

ห่วง “ปอดอักเสบ” เพิ่มขึ้น ยันมีเตียงเพียงพอ

นายแพทย์ทวีศิลป์ ระบุว่า สิ่งที่น่าจับตามอง คือ ผู้ป่วยปอดอักเสบในสัปดาห์นี้ 763 ราย และใส่เครื่องช่วยหายใจ 327 ราย มีทิศทางเพิ่มขึ้นเล็กน้อย แต่อย่างไรก็ตาม นายอนุทิน ยังยืนยันว่า ขณะนี้มีเตียงเพียงพอที่จะรองรับผู้ป่วย ขณะเดียวกันโรงพยาบาลโดยเฉพาะในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ยังได้คืนเตียงให้กับผู้ป่วยโรคอื่น ๆ ที่มารับการรักษาในโรงพยาบาลอีกด้วย

ส่วนการเสียชีวิตสะสมรายสัปดาห์ ถึงแม้ว่าจะลดน้อยลง แต่ ผอ.ศบค. ก็ยังไม่อยากให้เกิดขึ้น พร้อมอยากให้ช่วยกันรณรงค์ โดยเฉพาะผู้ป่วยกลุ่ม 608 ให้เร่งฉีดวัคซีนให้ได้มากที่สุด

“พอเราผ่อนคลายกิจการ กิจกรรมแล้ว คนที่นำเชื้อไปติดกับผู้สูงอายุ ก็คือลูกหลานท่าน ซึ่งออกไปยังสถานที่ที่มีการจัดกิจกรรมชุมนุม เพราะฉะนั้นยังขอความร่วมมือ ให้ช่วยสวมหน้ากากผ้า หน้ากากอนามัย ป้องกันให้ได้มากที่สุด เท่าที่จะมากได้”

เตือน 23 จังหวัด ยอดพุ่ง ห่วง “ภูเก็ต” มากสุด

สำหรับสถานการณ์ผู้ติดเชื้อทั้ง 77 จังหวัดทั่วประเทศ นายแพทย์ทวีศิลป์ รายงานข้อมูลจากกราฟ พบว่า ขณะนี้มี 54 จังหวัด ที่ผู้ติดเชื้อรายใหม่มีแนวโน้มลดลง

แต่ยังพบ 23 จังหวัดที่ผู้ติดเชื้อมีจำนวนเพิ่มขึ้น หรือ เกิด Small wave (การระบาดขนาดเล็ก) ในบางจังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร ชลบุรี ปทุมธานี นนทบุรี สมุทรปราการ และภูเก็ต โดยเฉพาะภูเก็ตที่มียอดผู้ติดเชื้อพุ่งสูงพอสมควร (จากกราฟ)

“จะเห็นว่า อาจไม่ใช่ Small wave แล้ว โดยเฉพาะอย่างภูเก็ต มียอดพุ่งขึ้นที่สูงพอสมควร และจะเห็นว่าส่วนใหญ่เป็นจังหวัดที่อยู่เกี่ยวข้องกับกรุงเทพฯ ปริมณฑล และจังหวัดที่เป็นการท่องเที่ยวทั้งนั้นเลย นี่คือสิ่งที่ต้องขอความร่วมมือ”

นอกจากนี้ ยังมี จ.เชียงใหม่ ระยอง ตาก สมุทรสงคราม สมุทรสาคร ลพบุรี ชัยนาท สิงห์บุรี นครปฐม พระนครศรีอยุธยา สงขลา กระบี่ พังงา นราธิวาส ตรัง ปัตตานี และยะลา อีกด้วย

เผย 4 ปัจจัยทำติดเชื้อพุ่งหลังพ้นการระบาดใหญ่

นายแพทย์ทวีศิลป์ ระบุว่า กระทรวงสาธารณสุข ยังได้นำเสนอฉากทัศน์การคาดการณ์สถานการณ์โควิด-19 ที่จะเกิดขึ้นภายหลังช่วงพ้นการระบาดใหญ่ โดยอาจมีการเกิดการระบาดขนาดเล็ก (เส้นประสีฟ้าในกราฟ) เช่นเดียวกับยอดผู้เสียชีวิต (เส้นประสีส้มในกราฟ) โดยคาดว่าเกิดจาก 4 เหตุปัจจัย ดังนี้

  • ภูมิคุ้มกันต่อโรคลดลง หลังได้รับวัคซีนเกิน 6 เดือน
  • ประชาชนลดการสวมหน้ากาก และเลี่ยงปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรค UP ในสถานที่หรือกิจกรรมเสี่ย
  • พบการระบาดเป็นกลุ่มก้อนในสถานที่หรือกิจกรรมเสี่ยง โดยเฉพาะหลังเทศกาล
  • พบการเพิ่มขึ้นของสายพันธุ์ BA.4 และ BA.5

“ผอ.ศบค. เน้นย้ำว่า เรื่องหน้ากาก เรื่องภูมิคุ้มกัน และเรื่องของการรวมกลุ่ม ถึงแม้จะผ่อนคลายกันได้ ก็ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน ได้ช่วยกันดูแลในภาพรวมด้วยกัน เพื่อจะได้ไม่ไปเจอ wave ที่สูงขึ้นไปกว่านี้”

เตือน หย่อนมาตรการ “กันยายน” เกิดระลอกใหม่

ส่วนการคาดการณ์ผู้ติดเชื้อรายใหม่ หากผ่อนคลายมาตรการป้องกันโรค ลดแยกการกักตัวผู้ป่วย ไม่กักตัวผู้สัมผัสเสี่ยงสูง ประชาชนย่อหย่อนต่อมาตรการ UP และสวมหน้ากากน้อยกว่า 50% อาจทำให้มีจำนวนเพิ่มขึ้นตั้งแต่ในช่วงสัปดาห์นี้เป็นต้นไป และอาจจะเกิดระลอกใหม่ในช่วงเดือนกันยายน (เส้นประสีแดง อาจพุ่งสูงเกือบ 80,000 รายต่อวัน) และจะเป็นลดลงเป็นแนวระนาบในช่วงเดือนพฤศจิกายน

“หากพี่น้องประชาชน และทุกท่านได้ช่วยกันฉากทัศน์นี้ก็จะได้กดลงไป ได้ต่ำกว่าการคาดการณ์ที่ดูเหมือนว่าจะไปเพิ่มขึ้นในเดือนกันยายน”

เช่นเดียวกันกับ ผู้เสียชีวิต หากมีการติดเชื้อที่เพิ่มขึ้น การเสียชีวิตก็จะไปเพิ่มขึ้นในช่วงเดือนกันยายนในลักษณะที่คล้ายกัน เป็นระลอก 2-3 ระลอก ซึ่งในส่วนนี้ต้องขอความร่วมมือ โดยเฉพาะกลุ่ม 608 ให้เข้ารับการฉีดวัคซีน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า อย่างไรก็ตาม จะพบว่า ในฉากทัศน์ดังกล่าว หากประชาชนยังคงมาตรการป้องกันโรค Universal Prevention ประชาชนและผู้ประกอบการให้ความร่วมมือในการสวมหน้ากาก 100% เว้นระยะห่างในสถานที่ที่มีคนจำนวนมาก และล้างมือบ่อย ๆ ได้อย่างเคร่งครัด ฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นในกลุ่ม 608 ได้เพิ่มขึ้น ยอดติดเชื้ออาจพุ่งขึ้นสูงเกือบ 40,000 ต่อวัน (เส้นประสีเขียว)

ห่วง ผู้สูงอายุ-เด็ก ยอดฉีดเข็มกระตุ้นยังน้อย

ขณะที่ความคืบหน้าการบริการวัคซีนให้กับประชาชนในขณะนี้ นายแพทย์ทวีศิลป์ ระบุว่า ที่ประชุมได้รับทราบข้อมูลผู้สูงอายุ ได้รับวัคซีนเข็มที่ 3 เพียง 47.1% และเด็กอายุ 12-17 ปี ฉีดเข็มที่ 3 ไปได้เพียง 20.5% เพราะฉะนั้นขณะนี้ ผอ.ศบค. ได้ให้ความสำคัญกับการติดเชื้อในโรงเรียน ที่ได้สั่งปิดและปรับให้มีการเรียนการสอนผ่านออนไลน์ โดยขอความร่วมมือให้กระทรวงสาธารณสุข กรุงเทพมหานคร และจังหวัดต่าง ๆ ได้เข้าไปให้คำแนะนำอย่างเต็มที่

“ฉีดพอแล้ว” เหตุยอดฉีดวัคซีนผู้สูงอายุยังต่ำ

นอกจากนี้ ผอ.ศบค. ยังได้กล่าวชื่นชม ข้อมูลจากกรมควบคุมโรค ที่ได้ทำการสำรวจเหตุผลที่ผู้สูงอายุยังไม่เข้ารับการฉีดวัคซีน พบว่า กว่า 34.8% มองว่า ฉีดพอแล้ว 20.5% กำลังรอการฉีด 19.2% กลัวเกิดอันตราย 16.7% แจ้งว่า เพิ่งหายป่วยจากโควิด และอื่น ๆ อย่างเช่น กำลังตั้งครรภ์ และไม่อยากฉีดรวม 8.8%

ข้อคำถามว่า แล้วฉีดหรือไม่นั้น พบว่า 31.2% จะเข้ารับการฉีดวัคซีน 33.9% ยังไม่แน่ใจ และ 34.9% ระบุว่า ไม่ฉีด

เตรียมกระจายวัคซีน 169 ล้านโดส

นายแพทย์ทวีศิลป์ เปิดเผยว่า ขณะนี้ประเทศไทยมีการจัดหาวัคซีนทั้งสิ้น 169 ล้านโดส โดยได้รับมอบแล้วเรียบร้อย เตรียมกระจายทุกพื้นที่ทั่วประเทศไทยทั้งที่เป็นวัคซีนเชื้อตาย และวัคซีนรุ่นใหม่ ๆ พร้อมยืนยันว่า มีวัคซีนเพียงพออย่างแน่นอน โดยที่ประชุมยังรับทราบการวิเคราะห์ประสิทธิผลของวัคซีนโควิด-19 ในช่วงเดือนมกราคมถึงมีนาคม 2565 พบว่า หากฉีดวัคซีนครบ 4 เข็มจะสามารถป้องกันการติดเชื้อได้ถึง 76% ป้องกันการป่วยหนักและต้องใส่เครื่องช่วยหายใจได้ถึง 96%

“ใครที่มีคุณพ่อคุณแม่ ที่สูงอายุ แล้วไม่อยากให้ท่านต้องป่วยหนัก ใส่เครื่องช่วยหายใจ หรือเสียชีวิต ไปรับเข็มที่ 4 กันให้ได้นะครับ ต่อจากเข็ม 3 เวลา 4 เดือน และเข็ม 3 ต่อจากเข็ม 2 ประมาณสัก 3 เดือน”

ต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน 2 เดือน คุมระบาดระลอกใหม่

นอกจากนี้ นายแพทย์ทวีศิลป์ระบุว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบขยาย พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ต่อไปอีก 2 เดือน (สิงหาคม- กันยายน 2565) โดยให้เหตุผลในการพิจารณาขยายระยะเวลาประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทั่วราชอาณาจักร (คราวที่ 19) ว่า เพื่อยังคงไว้ซึ่งดํารงบรรดามาตรการป้องกันและควบคุมโรคโควิด–19 แบบบูรณาการให้มีความเป็นเอกภาพในการบังคับใช้เป็นการทั่วไปทั้งประเทศ

1. ปัจจุบันองค์การอนามัยโลกยังคงระดับการระบาดของโรคโควิด –19 เป็นโรคระบาดใหญ่ (Pandemic)

2. หน่วยงานของไทยยังอยู่ระหว่างการดําเนินการมาตรการต่าง ๆ เพื่อรองรับภายหลังการประกาศให้เป็นโรคประจําถิ่นอาทิ ด้านสาธารณสุข การบริหารจัดการชายแดน การบริหารจัดการวัคซีน


3. เพื่อให้มีการดํารงกลไกและมาตรการการเฝ้าระวังการแพร่ระบาดฯ ในลักษณะของการแพร่ระบาดเป็นกลุ่มก้อน (Cluster) โดยเฉพาะจากสายพันธุ์ BA.4 และ BA.5 ซึ่งมีแนวโน้มจะกลับมาระบาดรุนแรงอีกครั้งในห้วงเดือน สิงหาคม – กันยายน 2565 หากเกิดขึ้นจะเป็นกรณีจําเป็นเร่งด่วนที่ต้องใช้มาตรการควบคุมอย่างทันทีวงทีเพื่อให้ ควบคุมสถานการณ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ