สธ.พบป่วยโควิดติดเชื้อ ATK 2 สัปดาห์จ่อ 3 แสนราย 6 เขต กทม. ป่วยสูงสุด

ร้านขายยาองค์การเภสัชกรรม
(Photo by Lillian SUWANRUMPHA / AFP/File Photo)

กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เผยตัวเลข 2 สัปดาห์ พบผู้ติดเชื้อโควิด ATK เป็นบวกมากกว่า 2.93 แสนราย ขณะที่กทม.พบป่วยใหม่วันนี้เพิ่มอีก 1,605 ราย เผยท็อป 10 เขตติดโควิดสูงสุดถึง 6 เขต “บางแค ลาดพร้าว ลาดกระบัง” นำโด่ง ส่วนสัมพันธวงศ์หนึ่งเดียวไร้ผู้ป่วยโควิด

วันที่ 18 กรกฎาคม 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้นอกจากกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) จะรายงานสถานการณ์ผู้ติดเชื้อโควิดรายใหม่เฉพาะที่รักษาตัวในโรงพยาบาลซึ่งมีจำนวน 1,814 ราย และมีผู้เสียชีวิต 17 คนแล้ว กรมควบคุมโรคยังสรุปตัวเลขผู้ติดเชื้อนอกโรงพยาบาล หรือผู้ป่วยที่ติดเชื้อ ATK(ATK+) สัปดาห์ที่ 28 (10-16 ก.ค.2565) ว่ามีจำนวน 143,827 คน ร้อยละของการติดเชื้อเพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ 11.95% รวมติดเชื้อสะสม 6,463,927 คน

2 สัปดาห์ ติดเชื้อ ATK จ่อ 3 แสนคน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับสัปดาห์ก่อนหน้า หรือสัปดาห์ที่ 27(3-9 ก.ค.2565) กรมควบคุมโรครายงานว่ามีผู้ติดเชื้อนอกโรงพยาบาล หรือ ติดเชื้อ ATK+ มีจำนวน 149,537 คน เท่ากับว่าในช่วง 2 สัปดาห์ล่าสุด(สัปดาห์ที่ 27-28) มีผู้ติดเชื้อนอกโรงพยาบาล(ATK+) หรือ ATK เป็นบวกแล้วจำนวน 293,364 ราย (143,827+149,537)

ผู้ป่วยโควิดติดเชื้อ ATK (สัปดาห์ที่ 27)
ผู้ป่วยโควิดติดเชื้อ ATK+(สัปดาห์ที่ 27) 3-9 ก.ค.65
ผู้ป่วยโควิดติดเชื้อ ATK+(สัปดาห์ที่ 28)
ผู้ป่วยโควิดติดเชื้อ ATK+(สัปดาห์ที่ 28) 10-16 ก.ค.65

10 เขตกทม.พบติดเชื้อสูงสุด

ทางด้านสำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร(กทม.) รายงานยอดผู้ป่วยโควิดรายใหม่วันนี้(18 ก.ค. 65) ว่า พบผู้ป่วยรายใหม่จำนวน 1,605 ราย เป็นคนไทย 1,595 ราย และเป็นต่างด้าว 10 ราย รวมผู้ป่วยยืนยันสะสมตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-18 ก.ค. 2565) จำนวน 429,784 ราย สำหรับผู้เสียชีวิตวันนี้มีจำนวน 4 ราย รวมเสียชีวิตสะสม 1,203 ราย คิดเป็น 0.28%

ยอดผู้ป่วยโควิดในกทม.18ก.ค.65

สำหรับ 10 เขตในกทม.ที่มีผู้ติดเชื้อสูงสุด มีถึง 6 เขตที่มีผู้ป่วยหรือผู้ติดเชื้อเกินกว่า100 ราย/วัน โดยอันดับ 1.เป็นเขตบางแค 144 ราย อันดับ 2.เขตลาดพร้าว 131 ราย อันดับ 3.เขตลาดกระบัง 129 ราย อันดับ 4.เขตคลองสามวา 110 ราย อันดับ 5.หนองจอก 106 ราย และ 6.เขตมีนบุรี 106 ราย

อันดับ 7.เป็นเขตหนองแขม 97 ราย 8.คันนายาว 62 ราย 9.บางเขน 51 ราย และอันดับ 10 เขตบึงกุ่ม 44 ราย ขณะที่อันดับ 11 เขตทวีวัฒนา ก็ค่อนข้างสูงคือ 43 ราย อย่างไรก็ตามมี 20 เขตที่มีผู้ติดเชื้อหลักเดียว (1-9 ราย) และมี 1 เขตที่ไม่มีผู้ติดเชื้อเลย หรือ 0 ราย ได้แก่เขตสัมพันธวงศ์

10 เขตกทม.ติดโควิดมากสุด ณ วันที่ 18 ก.ค.2565

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับพื้นที่กทม.น่าจะเป็นจังหวัดเดียวที่ยอดผู้ป่วยโควิดรายใหม่ไม่ลดลงและยังคงเพิ่มขึ้น และทำให้ถูกตั้งข้อสังเกตว่าอาจเป็นผลมาจากการที่นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯกทม.ที่จัดกิจกรรมรวมกลุ่มกันหลายกิจกรรม ทั้งเรื่องของดนตรีในสวน รวมถึงการฉายหนังกลางแปลง เป็นต้น

สาธารณสุข เชิญ กทม.หารือลดกิจกรรมเสี่ยง

ทำให้เมื่อวันที่ 17 ก.ค. 2565 นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่าได้เชิญผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เข้าร่วมประชุมคณะกรรมการอำนวยการศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข กรณีโรคติดเชื้อโควิด 19 (ศปค.สธ.) ในวันจันทร์ที่ 18 ก.ค.2565 นี้ เพื่อหารือการเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับสถานการณ์การระบาดของดควิดที่จะเกิดขึ้น

นพ.เกียรติภูมิ กล่าวว่า ขณะนี้สถานการณ์โรคโควิด 19 มีแนวโน้มพบการติดเชื้อเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะพื้นที่ กทม. ปริมณฑล และจังหวัดท่องเที่ยว ทำให้มีผู้ป่วยเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเพิ่มขึ้น โดย กทม.ถือเป็นพื้นที่เปราะบางและมีความเสี่ยงในการแพร่ระบาดมากกว่าพื้นที่อื่น เนื่องจากเป็นเมืองขนาดใหญ่ มีประชากร มีการเดินทาง และมีกิจกรรมต่าง ๆ จำนวนมาก

ทั้งนี้กระทรวงสาธารณสุขจะขอความร่วมมือในการดำเนินการ 2 ส่วน คือ การลด ละ เลิก กิจกรรมที่ทำให้เกิดความเสี่ยงในการติดเชื้อและแพร่เชื้อ ซึ่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ในฐานะประธานคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร สามารถออกมาตรการต่าง ๆ ภายในพื้นที่ให้มีความเหมาะสมได้

อีกส่วนคือการเตรียมความพร้อมด้านการรักษาพยาบาล โดยปัจจุบันมีผู้ป่วยโควิด 19 เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลประมาณ 2 พันรายต่อวัน และกว่าครึ่งอยู่ในพื้นที่ กทม. คือประมาณ 1 พันกว่าราย ส่วนเตียงผู้ป่วยโควิดอาการสีเหลืองและสีแดง หรือเตียงระดับ 2-3 ภาพรวมทั้งประเทศมีการใช้ประมาณ 13%

แต่ กทม. มีอัตราครองเตียงกว่า 42% ส่วนหนึ่งเกิดจากการคืนเตียงโควิดกลับไปใช้รักษาผู้ป่วยโรคอื่น ๆ ทำให้ ต้องเตรียมความพร้อมในการบริหารจัดการเตียงให้เพียงพอ ซึ่งโรงพยาบาลในพื้นที่ กทม. มีหลากหลายสังกัด ทั้งของกทม. กรมการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ ทหาร ตำรวจ รวมถึงโรงพยาบาลเอกชน จึงต้องประสานความร่วมมือเพื่อช่วยกันรองรับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้น

โดยมี กทม.เป็นหน่วยงานหลักในการเตรียมความพร้อม และกระทรวงสาธารณสุขให้การสนับสนุนในทุกด้านอย่างเต็มที่ สำหรับประชาชนยังคงต้องเข้มมาตรการป้องกันตนเองเพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ และมารับวัคซีนให้ครบ 3 เข็ม รวมถึงรับเข็มกระตุ้นทุก 4 เดือน จะช่วยป้องกันอาการป่วยรุนแรงและเสียชีวิตได้