สธ.พบป่วยโควิดติดเชื้อ ATK สัปดาห์ที่ 3 พุ่ง 2 แสนคน 2 เขต กทม.นำโด่ง

ตรวจโควิด
(Photo by Tuwaedaniya MERINGING / AFP/File Photo)

กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข สรุปตัวเลขผู้ติดเชื้อนอกโรงพยาบาล (ATK+) สัปดาห์ที่ 3 ยอดพุ่ง 204,615 ราย ขณะที่ กทม.วันนี้พบผู้ป่วยใหม่ตรวจแบบ RT-PCR เพิ่ม 1,329 ราย เสียชีวิต 4 คน ส่วน 10 เขต กทม.ติดเชื้อสูงสุด เป็นเขต “ราชเทวี-บางแค” 

วันที่ 25 กรกฎาคม 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้นอกจากกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) จะรายงานสถานการณ์จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ประจำวันรักษาตัวในโรงพยาบาลว่ามีจำนวน 1,740 ราย และเสียชีวิตเพิ่ม 32 คนแล้ว

สัปดาห์ที่ 29 ป่วย ATK นอก รพ.พุ่ง

กรมควบคุมโรคยังสรุปตัวเลขผู้ติดเชื้อนอกโรงพยาบาล (ATK+) สัปดาห์ที่ 29 หรือเป็นสัปดาห์ที่ 3 ที่กรมควบคุมโรคสรุปตัวเลขเป็นรายสัปดาห์สำหรับผู้ป่วย ATK เป็นบวก นอกโรงพยาบาล ระหว่างวันที่ 17-23 กรกฎาคม 2565 มีจำนวน 204,615 ราย รวมสะสม 6,668,542 ราย (ตามกราฟิก)

ผู้ป่วยโควิด ATK นอกรพ. สัปดาห์ที่3

ส่วนผู้ป่วยที่กำลังรักษา 23,985 ราย จำแนกเป็น อยู่ในโรงพยาบาล 11,993 ราย อยู่ในโรงพยาบาลสนาม 11,992 ราย เป็นผู้ป่วยปอดอักเสบ 890 ราย และผู้ป่วยใช้ท่อช่วยหายใจ 425 ราย

ก่อนหน้านี้ กรมควบคุมโรค รายงานตัวเลขผู้ติดเชื้อนอกโรงพยาบาล (ATK+) สัปดาห์ที่ 28 (10-16 ก.ค. 2565) ว่ามีจำนวน 143,827 คน ร้อยละของการติดเชื้อเพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ 11.95% รวมติดเชื้อสะสม 6,463,927 คน

และสัปดาห์ก่อนหน้า หรือสัปดาห์ที่ 27 (3-9 ก.ค. 2565) กรมควบคุมโรครายงานว่ามีผู้ติดเชื้อนอกโรงพยาบาล หรือติดเชื้อ ATK+ มีจำนวน 149,537 คน

เท่ากับว่าในช่วง 3 สัปดาห์ล่าสุด (สัปดาห์ที่ 27-29) มีผู้ติดเชื้อนอกโรงพยาบาล (ATK+) หรือ ATK เป็นบวกแล้วจำนวน 497,979 ราย

และเมื่อเร็ว ๆ นี้ นพ.อำนาจ กุสลานันท์ กรรมการแพทยสภา และอดีตนายกแพทยสภา ได้ออกมาโพสต์วอนให้ผู้บริหารระดับประเทศรายงานผู้ป่วยโควิดให้ประชาชนทราบตามความเป็นจริง โดยนพ.อำนาจกล่าวยืนยันจากประสบการณ์ตรวจผู้ป่วย​จริง ผู้ติดเชื้อรายวัน อยู่​ที่​วันละ 5 หมื่น-แสนคน รวมทั้งเรียกร้องให้รัฐบาลหาทางแก้ไขปัญหาดังกล่าวด้วย

ฉากทัศน์ผู้ป่วยโควิดระยะ post pandemic พ.ศ. 2565

ย้อนดูฉากทัศน์ สธ. ป่วยพีกสุด 8 หมื่นรายต่อสัปดาห์

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2565 นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงฉากทัศน์ของโควิด-19 ช่วงเดือนกรกฎาคม-ธันวาคม 2565 ว่า กรณีที่ผ่อนคลายมาตรการป้องกันโรค ลดแยกกักตัวผู้ป่วย ไม่กักตัวผู้สัมผัสเสี่ยงสูง ประชาชนย่อหย่อนต่อมาตรการ UP สวมหน้ากาก น้อยกว่า 50% ตัวเลขผู้ติดเชื้อที่รักษาตัวใน รพ. ช่วงสัปดาห์ที่ 24 หรือประมาณเดือนมิถุนายนจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่องไปจนถึงจุดพีกที่เกือบถึง 8 หมื่นรายต่อสัปดาห์ในสัปดาห์ที่ 33 หรือเดือนสิงหาคม-กันยายน

แต่ในกรณีที่คงมาตรการป้องกันโรค และประชาชน ผู้ประกอบการให้ความร่วมมือ และฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นในกลุ่ม 608 ได้เพิ่ม จะทำให้จุดพีกช่วงเดือนในเดือนสิงหาคม-กันยายน มีผู้ป่วยต่ำกว่า 4 หมื่นราย

ส่วนจำนวนผู้เสียชีวิตคาดว่าจะมีจุดพีกในเดือนพฤศจิกายน เช่นกัน โดยกรณีเลวร้ายจะมีผู้เสียชีวิต 400 รายต่อสัปดาห์ ส่วนกรณีดีที่สุดจะมีผู้เสียชีวิตประมาณ 200 รายต่อสัปดาห์ โดยแนวโน้มปัจจุบันไปในทางที่กรณีมีผู้เสียชีวิตสูง

กทม.อัพเดต 10 เขตติดเชื้อโควิดสูงสุด

ทางด้านสำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร รายงานสถานการณ์โควิดวันนี้ (25 ก.ค.) ว่า มีผู้ป่วยรายใหม่จากการตรวจด้วย RT-PCR จำนวน 1,329 ราย เป็นคนไทย 1,313 ราย ต่างด้าว 16 ราย และพื้นที่ กทม.วันนี้มีผู้เสียชีวิต 4 ราย รวมเสียชีวิตสะสม 1,274 ราย คิดเป็นร้อยละ 0.29

ขณะที่ 10 อันดับเขตที่มีผู้ติดเชื้อสูงสุด อันดับ 1 เป็นเขตราชเทวี 158 ราย รองลงมาเป็นบางแค 122 ราย ส่วน 8 เขตที่เหลือต่ำกว่า 100 ราย ได้แก่ ภาษีเจริญ 66 ราย พญาไท 44 ราย หนองแขม 40 ราย บางซื่อ 34 ราย บางกอกน้อย 33 ราย จตุจักรและตลิ่งชัน เขตละ 28 ราย ดุสิต 25 ราย และทั้ง 50 เขตของ กทม.มีผู้ป่วยโควิดครบทั้ง 50 เขต และเขตที่มีผู้ป่วยน้อยสุดเป็นเขตมีนบุรีและหนองจอกเขตละ 5 ราย (ตามกราฟิก)

ผู้ป่วยโควิดกทม.ตรวจด้วย RT-PCR 25 ก.ค.65


10 เขตกทม.ติดเชื้อโควิดสูงสุด