แนะจับตา 2 คนพิเศษเวทีเอเปค ตัวเต็งทายาทปูติน – ผู้แทนบิ๊กเนมไต้หวัน

แม้ผู้นำสมาชิกเขตเศรษฐกิจพิเศษที่โดดเด่นที่สุดในเวทีเอเปค กรุงเทพฯ ครั้งนี้ น่าจะเป็น สี จิ้นผิง จากจีน แต่นักการทูตผู้เชี่ยวชาญ ชี้ว่ามีอีก 2 คนพิเศษเวทีเอเปค ที่มองข้ามไม่ได้ คนหนึ่งเป็นผู้แทนปูติน อีกคน เป็นนักธุรกิจรวยแสนล้านจากไต้หวัน

วันที่ 17 พฤศจิกายน 2565 จากงานอภิปรายทางวิชาการ หัวข้อ “เอเปค-ประเทศไทย 2022 : ความมุ่งหมายและความสำเร็จ” APEC-THAILAND 2022 : CHALLENGES AND ACHIEVEMENT จัดโดยวิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ และบริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) ที่วิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อ 15 พ.ย. 2565

ดร.กอบศักดิ์ ชุติกุล ที่ปรึกษากรรมาธิการต่างประเทศ วุฒิสภา กล่าวใจความหนึ่งว่า การประชุมเอเปคที่กรุงเทพฯ ครั้งนี้ มีสีสันที่น่าสนใจ มีบุคคล 2 คนที่น่าติดตามและให้ความสนใจอย่างชนิดไม่ควรมองข้าม

กอบศักดิ์ ชุติกุล (ขวา)

เผยวงในเล็ง “แคนดิเดต” แทนปูติน

คนแรกคือ นายอันเดรย์ เบโลอูซอฟ รองนายกรัฐมนตรีคนที่ 1 ของรัสเซีย ตามที่มีการวิเคราะห์กันว่า สุดท้ายของสงครามยูเครน จะทำให้นายวลาดิมีร์ ปูติน อยู่ต่อไปไม่ได้ และคนที่จะมาแทนได้ อาจเป็นนายเบโลอูซอฟ คนนี้ที่จะมาเอเปค

“การพูดว่าปูตินไม่มาคงไม่มีอะไรแล้ว หรือแม้กระทั่งลาฟรอฟ (เซอร์เก ลาฟรอฟ รมว.การต่างประเทศรัสเซีย) ก็ไม่มาทั้งที่ลาฟรอฟไปบาหลีและพนมเปญ จริง ๆ แล้ว ลาฟรอฟแม้มีชื่อเสียงบนเวทีระหว่างประเทศมากกว่า แต่ไม่มีอำนาจบทบาทภายในประเทศเลย

นายอันเดรย์ เบโลอูซอฟ

คนที่มานี้อาจดูโนเนม แต่แกค่อย ๆ ขึ้นมาตลอด จนเป็นมือเศรษฐกิจ เมื่อรัสเซียต้องกลับไปฟื้นเศรษฐกิจที่พังพินาศ คนนี้จึงเป็นแคนดิเดตคนหนึ่งที่วงในอำนาจของมอสโกกำลังมองอยู่ ถ้าจำเป็นต้องเปลี่ยนตัว ก็จะเป็นคนนี้

และถ้าเป็นคนนี้ขึ้นมาจริง ๆ เอเปค กรุงเทพฯ ก็จะเป็นเวทีระหว่างประเทศเวทีแรกของเขา ก็หวังว่าเราจะดูแลเขา ไม่ให้เขามีความรู้สึกไม่ดี” ดร.กอบศักดิ์กล่าว

twitter กระทรวงการต่างประเทศ

ผู้นำคำว่า “ไต้หวัน” ปรากฏในเอเปค

ที่ปรึกษา กมธ.การต่างประเทศ วุฒิสภา กล่าวต่อว่า สำหรับอีกคนที่น่าสนใจมาก คือ นายมอร์ริส จาง ผู้แทนท่านนี้จะทำให้ชื่อไต้หวันติดอยู่ในที่ประชุมเป็นครั้งแรก จากที่ไม่เคยใช้ชื่อไต้หวันเลย และแน่นอนว่าไม่มีธงชาติ และชื่อให้ใช้ว่า ไชนีส ไทเป (จีนไทเป)

แต่ครั้งนี้ไต้หวันชนะ เพราะนายจางเป็นผู้ก่อตั้ง Taiwan Semiconductor Manufacturing Company – TSMC บริษัทใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลกตอนนี้ ผู้ผลิตชิป 65% ของโลก มีการลงทุนในหลายประเทศ รวมถึงสหรัฐ และยังครองสัดส่วนการผลิตไฮเอนด์ คอมพิวเตอร์ ชิป สูงถึง 95%

ดร.กอบศักดิ์กล่าวว่า ความสำคัญของ TSMC ทำให้คิดไปได้ว่า สิ่งนี้หรือเปล่าที่จีนต้องการไต้หวัน และสหรัฐก็พยายามปกป้องไต้หวันอย่างเด็ดขาดไม่ให้จีนเข้ามา เป็นประเด็นชนวนจุดสงครามได้หรือไม่

A man walks past a company logo at the headquarters of the world’s largest semiconductor maker TSMC in Hsinchu on January 29, 2021. (Photo by Sam Yeh / AFP)

นายมอร์ริส จาง ผู้ก่อตั้ง TSMC แม้เขาจะเกษียณจากบริษัทไปแล้ว แต่เซมิคอนดักเตอร์เป็นหัวใจสำคัญ เป็นอนาคตของโลก future of the world และเกิดคำถามว่า What is going to happen to semiconductor TSMC ? จะเกิดอะไรขึ้นกับเซมิคอนดักเตอร์ของทีเอสเอ็มซี

TSMC มีการบริหารงานที่แปลกกว่าที่อื่นคือ ไม่ได้ผลิตของตัวเอง หรือขายของตัวเอง แต่เป็นโรงงาน foundry ให้บริษัทที่เข้ามา research and development R&D ได้ จะ 2-3 หรือ 4 ปี เขาจะผลิตให้ ดังนั้นทุกคนไปที่นั่นหมด อย่าง intel ไปที่นั่น จีนก็ไปที่นั่นหมด นี่เป็นปัจจัยสำคัญของการประชุมเอเปค

“นายจางเป็นตัวแทนเข้ามาประชุมที่ไทยเป็นครั้งแรก เป็นตัวแทนไต้หวัน จะมีชื่อไต้หวันที่เป็นตำแหน่งของเขา ในฐานะผู้ก่อตั้ง และอดีตซีอีโอ ถ้าเขามาแล้ว เรายิ้มด้วย จับมือด้วย หรือแม้กระทั่งมาตั้งโรงงานที่เมืองไทย โอกาสที่จะเกิดสงครามที่ช่องแคบไต้หวันก็อาจจะลดน้อยลง” ดร.กอบศักดิ์กล่าว

ประธานาธิบดีไช่ อิงหวิน มอบหมาย นายมอร์ริส จาง เป็นตัวแทนประชุมเอเปค

ข้อมูลโดยสังเขป

ประวัตินายอันเดรย์ เบโลอูซอฟ (H.E. Mr. Andrey Belousov) เกิดวันที่ 17 มีนาคม 1959 (พ.ศ. 2502) ที่กรุงมอสโก เป็นนักเศรษฐศาสตร์และนักการเมืองของรัสเซีย ส่วนตัวมีความสนใจด้านประวัติศาสตร์ จิตรกรรม และมีงานอดิเรกเข้าฟิตเนส

จบปริญญาตรีวิชาเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยแห่งรัฐ มอสโก และปริญญาโทสถาบันเดียวกัน เมื่อปี 1981 (พ.ศ. 2524) จากนั้นเข้าทำงานเป็นนักวิจัยที่สถาบันคณิตเศรษฐศาสตร์ส่วนกลาง ปี 1981-1986 จากนั้นช่วงปี 1991-2006 เป็นหัวหน้าแผนกปฏิบัติการวิจัย สถาบันพยากรณ์เศรษฐกิจ แห่งรัสเซีย อคาเดมี ออฟ ไซเอินซ์

ปูติน หารือ เบโลอูซอฟ ด้านเศรษฐกิจมาอย่างยาวนาน

ปี 2006 เป็นที่ปรึกษาให้นายกรัฐมนตรี ก่อนได้รับตำแหน่ง รัฐมนตรีช่วยกระทรวงการพัฒนาเศรษฐกิจและการค้าปี 2006-2008 และเติบโตทางการเมืองในงานด้านเศรษฐกิจของรัฐบาลขึ้นเรื่อย ๆ

ขึ้นรับตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีคนที่ 1 เมื่อวันที่ 21 ม.ค. 2020 (พ.ศ. 2563) ก่อนหน้านั้นเป็นผู้ช่วยของนายวลาดิมีร์ ปูติน ผู้นำทรงอิทธิพลของรัสเซีย และเคยเป็นรัฐมนตรีกระทรวงการพัฒนาเศรษฐกิจ

นายเบโลอูซอฟ วัย 63 ปี เคยรักษาการนายกรัฐมนตรีรัสเซีย แทนนายมิกฮาอิล มิชูสติน ช่วงที่นายกฯติดโควิด ช่วงเดือน พ.ค. 2020

คนนอกมองว่า นายอันเดรย์ เบโลอูซอฟ มีโอกาสมาสานต่อนายปูติน

สื่อวิเคราะห์การเมืองชั้นนำ Politico สัญชาติเยอรมัน-อเมริกัน เคยรายงานว่า นายเบโลอูซอฟเป็นคนหนึ่งที่เป็นไปได้ว่าอาจรับตำแหน่งทายาทการเมืองจากนายปูติน

ทั้งนี้หลังเกิดสงครามรัสเซียบุกยูเครน นายเบโลอูซอฟอยู่ในบัญชีถูกยูเครนคว่ำบาตรเมื่อเดือน มิ.ย. และเดือนต่อมาถูกสหภาพยุโรปขึ้นบัญชีคว่ำบาตรเช่นกัน

……..

สำหรับประวัติ มอร์ริส จาง หรือ จาง จงโหมว (Mr. Morris Chang) เกิดปี 1931 (พ.ศ. 2474) เป็นนักธุรกิจชาวไต้หวัน-อเมริกัน ผู้ก่อตั้งและอดีตซีอีโอ Taiwan Semiconductor Manufacturing Company (TSMC) มีทรัพย์สินที่สื่อประเมินว่าสูง 2,800 ล้านดอลลาร์ หรือราว 1 แสนล้านบาท

นักธุรกิจคนสำคัญวัย 91 ปี เกิดที่เมืองหนิงปัว มณฑลเจ้อเจียง ตอนวัยเยาว์อยากเป็นนักเขียนนวนิยายและนักหนังสือพิมพ์ แต่พ่อซึ่งเป็นนายแบงก์พยายามกล่อมให้ลูกสนใจงานด้านเศรษฐกิจ

ช่วงเกิดสงครามจีน-ญี่ปุ่นครั้งที่สอง ครอบครัวของจางย้ายไปอยู่หลายที่ ได้แก่ หนานหนิง กว่างโจว ฉงชิ่งและเซี่ยงไฮ้ หลังสงครามนี้ ก็เกิดสงครามกลางเมืองในจีนที่ลงเอยว่ากลุ่มเจียงไคเช็กแยกไปอยู่ไต้หวัน ตอนนั้นจางย้ายไปฮ่องกง

มอร์ริส จาง หรือ จาง จงโหมว TSMC
reuters

ต่อมาในปี 1949 จางไปเรียนต่อมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด สหรัฐอเมริกา แล้วโอนย้ายไปเรียนสถาบันเอ็มไอที ที่แมสซาชูเซตส์ ได้รับปริญญาตรีและปริญญาโท ต่อเนื่องปี 1952 และ 1953 แต่พลาดเรียนต่อปริญญาเอก

ปี 1955 เข้าทำงานในบริษัทผู้ผลิตเซมิคอนดักเตอร์ Sylvania Semiconductor จนอีก 3 ปี ย้ายไปทำงานที่ Texas Instruments หรือ TI เติบโตก้าวหน้าทางการงานที่นี่มาตลอด 25 ปี (1958-1983) อีกทั้งบริษัทยังให้ทุนไปเรียนด็อกเตอร์จนสำเร็จ ที่มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ปี 1964

หลังออกจาก TI จางไปเป็นประธานและกรรมการผู้อํานวยการฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท General Instrument Corporation ได้ปีเดียว (1984-1985) จากความไม่ลงตัวเรื่องไอเดียในการคุมราคาเซมิคอนดักเตอร์ที่จะส่งผลต่อกำไรในระยะยาว จึงลาออกมา

twitter กระทรวงการต่างประเทศ

จังหวะนั้น นายกรัฐมนตรีไต้หวัน ซุน หยุนซวน ของไต้หวัน ชวนไปเป็นประธานสถาบันวิจัยเทคโนโลยีอุตสาหกรรมไต้หวัน นับเป็นการกลับไต้หวันครั้งแรกของจาง หลังเกิดสงครามกลางเมือง

ต่อมาปี 1987 (พ.ศ. 2530) จางก่อตั้งบริษัท TSMC in 1987 ซึ่งก้าวเป็นบริษัทผู้ผลิตชิปที่ใหญ่โตมากที่สุดแห่งหนึ่งในโลก จางเกษียณในปี 2018 (พ.ศ. 2561)

จางได้รับแต่งตั้งเป็นผู้แทนประธานาธิบดีไต้หวันให้ร่วมประชุมเวทีเอเปคมาหลายครั้ง ตั้งแต่ยุคประธานาธิบดีเฉิน สุ่ยเปียน ปี 2006 จนมาถึงยุคประธานาธิบดีไช่ อิงเหวิน ปี 2018, 2019 และ 2022 ในครั้งนี้

เอกสารแนะนำนายจางในที่ประชุมเอเปคที่กรุงเทพฯ ระบุถึงประวัติและผลงาน ในฐานะผู้ก่อตั้งและซีอีโอบริษัท Taiwan Semiconductor Manufacturing Company ยาวนาน 31 ปี พร้อมเกียรติประวัติและรางวัลที่ได้รับจำนวนมาก

…….