นายจ้างตื่นตัว! ขนแรงงานขึ้นทะเบียน ระทึกเวลาผ่อนผัน180 วัน จี้รัฐเร่งเปิดทำบัตรให้เร็ว

นายจ้างต่างจังหวัดตื่นตัว จูงมือแรงงานต่างด้าวไปขออนุญาตที่สำนักงานจัดหางานจังหวัดคึกคัก เหตุโทษหนัก ด้านกลุ่มแปรรูปอาหารทะเลมหาชัยวอนรัฐบาลเปิดทำบัตรให้เร็ว เหตุเวลาผ่อนผันแค่ 180 วัน ด้านจัดหางานหนองคายเผยยอดนายจ้าง ลูกจ้างขึ้นทะเบียนเพิ่มขึ้น 50%

การประกาศใช้ พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 23 มิถุนายน 2560 ได้สร้างผลสะเทือนอย่างหนักต่อนายจ้างและแรงงานต่างด้าว แม้ล่าสุดเมื่อวันที่ 7 ก.ค. 2560 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ใช้อำนาจ คสช.ตามมาตรา 44 ให้ชะลอหรือเลื่อนการบังคับใช้พระราชกำหนดดังกล่าว 3 มาตรา (มาตรา 101, 102 และ 122) ออกไป 180 วัน ก็ยังทำให้เกิดปรากฏการณ์แรงงานต่างด้าวแตกตื่นไหลทะลักกลับประเทศเมียนมา สปป.ลาว และกัมพูชา โดยเฉพาะแรงงานเมียนมาเดินทางกลับประเทศมากที่สุดเกือบ 2 หมื่นคน ในช่วงผ่อนผัน 180 วันนี้ จึงเป็นหน้าที่เร่งด่วนของบรรดานายจ้างและลูกจ้างที่จะต้องไปขออนุญาตให้ถูกต้อง

จี้รัฐเปิดทำบัตรเร็ว

นายอาคมเครือวัลย์ประธานชมรมแปรรูปอาหารทะเล จังหวัดสมุทรสาคร และเจ้าของกิจการแปรรูปอาหารทะเล บริษัท นงค์ ก. จำกัด เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า กฎหมายแรงงานต่างด้าวที่ประกาศใช้ตอนนี้กระทบกับผู้ประกอบการแปรรูปอาหารทะเลเต็ม ๆ ทำให้แรงงานที่ไม่มีบัตรแห่กลับบ้านกันหมด โดยที่ภาครัฐเองแทนที่จะเปิดรับทำบัตรทันที กลับยังไม่มีความชัดเจนว่าจะทำอย่างไร

“ผู้ประกอบการพร้อมที่จะนำแรงงานไปทำบัตรให้ถูกต้อง แม้ว่าจะมีค่าใช้จ่ายหัวละ 20,000 บาท เราก็พร้อมจะทำเพื่อให้เกิดความถูกต้อง แต่ที่ผ่านมาไม่ว่าจะทำบัตรกี่คน แรงงานก็หนีไปเข้าโรงงานใหญ่หมด ทำให้โรงงานเล็กเกิดปัญหา”

นายอาคมกล่าวอีกว่า เป็นเคราะห์ซ้ำกรรมซัดจากปัญหาห้ามเรือที่ไม่ถูกต้องออกทะเล ทำให้ต้องนำเข้าปลาในราคาแพง จากเดิมเคยซื้อปลาในประเทศราคา 10-20 บาท/กก. แต่ล่าสุดต้องซื้อปลาจากต่างประเทศ 80 บาท/กก. และต้องใช้เงินหมุนเวียนเพิ่มขึ้นจาก 5 ล้านบาทเป็น 20 ล้านบาท สำหรับกิจการของตนในช่วง 2-3 ปีมานี้ติดหนี้ 20-30 ล้านบาท ถ้าเลิกทำก็เกิดปัญหาหนักกว่าเดิม เพราะเป็นเงินหมุน ซึ่งทำให้รายเล็กล้มหายตายจากไปหลายโรง แม้กระทั่งล้งกุ้งจากเดิมมี 392 ล้ง ตอนนี้เหลือ 5 ล้ง

Advertisment

“กฎหมายนี้ถือว่าเป็นเรื่องดี เพราะกลุ่มที่ผิดประเภทก็ต้องกลับเข้ามาให้ถูกต้อง คือ เป็นกรรมกร และแม่บ้าน คนที่ไปทำอยู่ภาคบริการอื่น ๆ ต้องกลับมาให้ถูกต้อง แต่ขอให้รัฐบาลเปิดให้ทำบัตรโดยเร็ว ผู้ประกอบการแปรรูปอาหารทะเลก็พร้อมที่จะทำให้ถูกต้อง” นายอาคมกล่าว

Advertisment

เรือประมงสมุทรสาครยังขาดคน

สำหรับจังหวัดสมุทรสาครมีแรงงานข้ามชาติเข้ามาอาศัยอยู่เกือบเท่าตัวของประชากรคนไทยที่มีอยู่จริงตามทะเบียนบ้านจากสถิติการจ้างคนต่างด้าวจังหวัดสมุทรสาครณ วันที่ 20 มิ.ย. 2560 มีคนต่างด้าวที่ได้รับใบอนุญาตทำงาน 263,406 คน ในจำนวนนี้มีแรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติ เมียนมา ลาว กัมพูชา ประเภทนำเข้าแบบ MOU จำนวน 48,463 คน และประเภทพิสูจน์สัญชาติ 107,958 คนซึ่งในจำนวนนี้มีผู้ที่ทำงานผิดนายจ้าง หรือผิดประเภทจากใบที่ได้รับอนุญาต

นายกำจร มงคลตรีลักษณ์ นายกสมาคมการประมงสมุทรสาคร กล่าวว่า สิ่งที่อยากให้ภาครัฐดำเนินการคือ ช่วยผลักดันเรื่องการนำแรงงานข้ามชาติมาใช้ในเรือประมงได้เป็นผลสำเร็จ ไม่เช่นนั้นเรือประมงทุกลำต้องจอดแล้วก็จะเกิดผลกระทบเป็นลูกโซ่ต่อเนื่องไปถึงประมงบนฝั่ง และธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับประมงทั้งหมด

แรงงานสระแก้วไปเช้า-เย็นกลับ

นายวสันต์ ปาลาศ จัดหางานจังหวัดสระแก้ว เปิดเผยว่า กรมการจัดหางานจะประชุมใหญ่ในวันที่ 5 กรกฎาคมนี้พร้อมกันทั่วประเทศเกี่ยวกับการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าว เพื่อจะได้แนวทางที่ชัดเจน

ด้านนายประมวล เขียวขำ เลขาธิการหอการค้าจังหวัดสระแก้ว เปิดเผยว่า แรงงานจังหวัดสระแก้วถือว่าไม่กระทบมากนัก เพราะมีชายแดนติดกับประเทศกัมพูชา แรงงานชั่วคราวสามารถไปเช้า-เย็นกลับได้ ส่วนโรงงานขนาดใหญ่แรงงาน 50-200 คน มีไม่ถึง 10 แห่ง ส่วนใหญ่เป็นแรงงานตัดอ้อย ทำนา และกลุ่มค้าขายที่ตลาดโรงเกลือ 90% เป็นแรงงานที่ข้ามฝั่งไปเช้า-เย็นกลับ แต่หากต้องบังคับใช้กฎหมายต้องจดทะเบียนทุกคนจะกระทบกับเศรษฐกิจภาพรวมอย่างแน่นอน

อย่างไรก็ตามในส่วนของจัดหาแรงงานที่จังหวัดสระแก้วมีการเตรียมพร้อมมาถึง2 ปีแล้ว โดยตั้งสำนักงานอยู่ที่ตลาดโรงเกลือ ผู้ประกอบการสามารถนำแรงงานที่ได้รับใบอนุญาตจากกรมการจัดหางานไปจดทะเบียนได้เลย

ค่าทำพาสปอร์ตกัมพูชา2หมื่น

นายวุฒิพงศ์ รัตนมณฑ์ ประธานกรรมการหอการค้าจังหวัดตราด เปิดเผยว่า แรงงานต่างด้าวจังหวัดตราดขึ้นทะเบียนถูกต้องไว้เกือบ 3 หมื่นคน ในสภาพแท้จริงมีแรงงานไม่ถูกต้อง 30-40% การบริหารจัดการให้ถูกต้องเป็นเรื่องที่ดี ทุกวันนี้เศรษฐกิจอยู่ได้เพราะแรงงานต่างด้าว แต่เนื้อแท้ของการจ้างงานรัฐบาลยังเข้าไม่ถึง แรงงานไม่ได้เดินเข้ามาได้ด้วยตัวเอง ค่าใช้จ่ายพาสปอร์ตฝั่งกัมพูชาเกือบ 10,000 บาท บอร์เดอร์พาสต่ออายุทุก 30 วัน ค่าใช้จ่ายเกือบ 10,000 บาท/ปี ค่ารถ ค่าตรวจสุขภาพ ค่าใบอนุญาต นายจ้างต้องออกให้ก่อนทั้งหมดและหักเงินเดือนทีหลัง หากมีลูกจ้างหนีไป นายจ้างก็ต้องรับผิดชอบ

นายชวภณ ศตนันท์นารา จัดหางานจังหวัดจันทบุรี กล่าวว่าแรงงานต่างด้าวที่จันทบุรี 40,597 คน เป็นแรงงานกัมพูชา 33,784 คน เมียนมา 1,640 คน ลาว 5,173 คน จันทบุรีมีผลกระทบน้อยมากเพราะเป็นจังหวัดชายแดน แรงงานเกือบ 60% อนุญาตตาม ม.14 ให้ใช้แรงงานตามฤดูกาล 3 เดือน ใช้บอร์เดอร์พาสทำใบอนุญาตต่ออายุทุก 30 วันและยังมีแรงงานที่เข้ามาใช้แรงงานได้ในอำเภอติดชายแดนไปเช้ากลับเย็นได้ครั้งละ 7 วัน จะมีปัญหาอยู่บ้างสำหรับแรงงานที่ออกนอกเขตจังหวัดจันทบุรีต้องเป็นแรงงานนำเข้า MOU ใช้เวลาดำเนินการนาน 45-60 วัน และเสียค่าพาสสปอร์ตแพง 20,000 บาท/คน อยู่ได้ครั้งละ 2 ปี

หนองคายตื่นตัวแห่ขึ้นทะเบียน

ผู้สื่อข่าวรายงานจากสำนักงานจัดหางานจังหวัดหนองคายว่าเมื่อวันที่ 3 ก.ค. 2560 เป็นต้นมา ได้มีนายจ้างพาลูกจ้างซึ่งเป็นแรงงานต่างด้าวสัญชาติลาว มาขึ้นทะเบียนให้ถูกต้องตามกฎหมายแรงงานใหม่ บางรายมาสอบถามข้อมูลล่วงหน้าก่อนจะมาขึ้นทะเบียนในวันถัดไป ซึ่งเป็นบรรยากาศที่ตื่นตัวของทั้งนายจ้างและลูกจ้าง

นายวิสูตร จ้อนเมือง จัดหางานจังหวัดหนองคาย กล่าวว่า ในปีงบประมาณ 2560 มีจำนวนนายจ้าง 6,178 ราย ลูกจ้างแรงงานต่างด้าวชาวลาว 13,067 คน คนเหล่านี้จะกระจายไปทำงานยังจังหวัดต่าง ๆ หลังจากที่ พ.ร.ก.คนต่างด้าวฯ มีผลบังคับใช้เมื่อ 23 มิ.ย.60 พบว่าในพื้นที่ จ.หนองคาย มีความตื่นตัวมาก มีนายจ้างพาลูกจ้างชาวลาวมายื่นเรื่องกับทางจัดหางานอย่างต่อเนื่องเพิ่มขึ้นร้อยละ 50 แต่เนื่องจากในพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นงานด้านธุรกิจบริการ ร้านอาหาร ไม่ใช่โรงงานอุตสาหกรรม จึงมีแรงงานต่างด้าวไม่มากนัก

ด้านนายขัตติยะ แพนเดช จัดหางานจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า ตอนนี้นายจ้างอยากทำให้ถูกต้องโดยมาขอโควตาเปลี่ยนนายจ้าง ส่วนใหญ่เป็นสัญชาติเมียนมาเข้ามาจำนวนมากวันละ 200-250 คน ส่วนที่ไม่ถูกต้องผลักดันออกวันละ 200-300 คน ส่วนแรงงานต่างด้าวที่ถูกต้องในภูเก็ตกว่า 5 หมื่นคน

ติดตามข่าวสาร ผ่านแฟนเพจเฟซบุ๊ค ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
www.facebook.com/PrachachatOnline
ทวิตเตอร์ @prachachat

ติดตามอ่านข่าวสารจากประชาชาติออนไลน์
ดาวน์โหลดผ่านแอปพลิเคชั่น >> Prachachat << ได้แล้ววันนี้