องค์กรผู้บริโภค บุกสถานทูตนอร์เวย์ ค้านดีลทรู-ดีแทค

เครือข่ายภาคประชาชนยื่นหนังสือต่อทูตนอร์เวย์ หวังให้เป็นตัวกลางยับยั้งดีล “ทรู-ดีแทค” เหตุส่งผลเสียต่อผู้บริโภคชาวไทย

วันที่ 10 สิงหาคม 2565 กลุ่มพลเมืองเพื่อเสรีภาพในการสื่อสาร สภาองค์กรของผู้บริโภค ตัวแทนกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาผลกระทบการควบรวมกิจการระหว่างทรูกับดีแทค สภาผู้แทนราษฎร เข้ายื่นหนังสือต่อ นายชาร์ชติ เริดสมูเอิน เอกอัครราชทูตนอร์เวย์ประจำประเทศไทย เพื่อเป็นสื่อกลางยับยั้งการควบรวมกิจการระหว่างทรูและดีแทค

นางสาวปวริศา อินทรีย์ ตัวแทนสภาองค์กรผู้บริโภค ระบุว่าการควบกิจการของทั้งสองบริษัทนั้นจะส่งผลให้บริการค่าบริการสามารถเพิ่มขึ้นถึง 200% ผู้บริโภคต้องแบกรับค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น ในขณะที่ประสิทธิภาพของสัญญาณและการบริการเท่าเดิม ถือเป็นการตัดช่องทางเลือกช่องทางเลือกบริโภคของคนไทยจาก 3 ผู้ให้บริการเหลือแค่ 2 ซึ่งจะนำไปสู่การผูกขาดราคาและบริการ เกิดการแข่งขันขันน้อย ขณะเดียวกันยังไม่มีประเทศใดที่ให้ควบรวมธุรกิจโทรคมนาคมให้เหลือเพียง 2 ค่าย

การลดการแข่งขันเหลือเพียง 2 ค่ายใหญ่ จะเกิดการแทรกแซง คุกคาม ปิดกั้นข้อมูลข่าวสาร ซึ่งขัดต่อหลักธรรมาภิบาลและหลักการชี้แนะของสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน

ขณะที่นายศรัณย์ ทีมสุวรรณ์ ส.ส.พรรคเพื่อไทย และตัวแทนกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาผลกระทบการควบรวมกิจการระหว่างทรูกับดีแทคของสภาผู้แทนราษฎร ได้เข้าร่วมสังเกตการณ์ พร้อมเปิดเผยว่า เรื่องนี้คณะกรรมาธิการได้ติดตามรู้และเห็นตรงกันว่าการควบรวมเป็นการผูกขาดจำกัดสิทธิการบริโภคของประชาชน ที่ผ่านมาเคยเรียกตัวแทนของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะ กสทช.ไปชี้แจงเรื่องมาตรการคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคอย่างไรหากเกิดการควบรวม ก็ไม่ได้คำตอบที่แน่ชัด

“คณะกรรมาธิการต่างตั้งข้อสังเกตถึงการแก้ไขระเบียบ กสทช. ที่เดิมกำหนดไว้ว่า การควบรวมโทรคมนาคมจะต้องได้รับการอนุญาตจาก กสทช. แต่ต่อมาปี 2561 ได้แก้ไขประกาศ กสทช. ให้การควบรวมเป็นเพียงแค่ให้บริษัทมาแจ้งให้ กสทช.ทราบเท่านั้น”

โดย “กลุ่มพลเมืองเพื่อเสรีภาพในการสื่อสาร” ตัวแทนจากภาคประชาชนที่เข้ายื่นหนังสือต่อทูตนอร์เวย์ครั้งนี้ ได้แถลงถึงประเด็นที่ไม่เห็นด้วยกับการควบรวมกิจการดังกล่าว 3 ข้อ ได้แก่

1.การควบรวมกิจการของทั้งสองบริษัทขัดต่อพระราชบัญญัติโทรคมนาคม พ.ศ. 2544 มาตรา 21 ที่ให้อำนาจ คณะกรรมการ กสทช. กำหนดมาตรการเฉพาะตามลักษณะการ ประกอบกิจการโทรคมนาคม มิให้ผู้รับใบอนุญาตกระทำการอย่างใดอันเป็นการผูกขาด หรือลด หรือจํากัดการแข่งขันในการให้บริการกิจการโทรคมนาคม

2.การควบรวมกิจการ ทำให้เหลือผู้ให้บริการหลักเพียงสองราย ส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคทั้งในแง่การพัฒนาคุณภาพบริการ การกำหนดราคา และเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาและแข่งขันในด้านเศรษฐกิจดิจิทัลซึ่งเป็นประเด็นที่ประเทศไทยและนานาประเทศให้ความสำคัญ

โดยปัจจุบันดีแทคมีส่วนแบ่งการตลาดสำหรับสัญญาณมือถืออยู่ที่ 19.6 ล้านเลขหมาย (20% ของตลาด) ทรูอยู่ที่ 32.2 ล้านเลขหมาย (34% ของตลาด) และเอไอเอส 44.1 ล้านเลขหมาย (46%ของตลาด) จะเห็นได้ว่าหากมีการควบรวม จะทำให้ “ทรู-ดีแทค” มีส่วนแบ่งทางการตลาดเกินกึ่งหนึ่งและสามารถชี้นำตลาดได้ทั้งในเรื่องราคาและคุณภาพของการให้บริการ

3.การควบรวมอาจส่งผลต่อเสรีภาพในการสื่อสารของประชาชน ที่ต้องไม่ถูกแทรกแซงโดยบริษัทเอกชนหรือรัฐ เนื่องจากหากผู้ให้บริการกิจการโทรคมนาคมมีจำนวนน้อยลง จะทำให้การแทรกแซง คุกคาม จำกัด และปิดกั้นการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารเกิดขึ้นได้ง่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์ปัจจุบันที่มีการใช้เทคโนโลยีสปายแวร์ในการเข้าถึงข้อมูลในการสื่อสารของนักกิจกรรมและผู้ที่เห็นต่างจากรัฐโดยไม่ได้รับอนุญาต

บริษัทเอกชนเองก็มีความรับผิดชอบในการปกป้องสิทธิมนุษยชนตามหลักการชี้แนะของสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน (United Nations Guiding Principles on Business and Human Rights : UNGPs) ซึ่งในเสาหลักที่สองได้เน้นย้ำว่าบุคคลและองค์กรที่ประกอบธุรกิจไม่ว่าจะเป็นธุรกิจประเภทใดหรือขนาดใดก็ตาม ย่อมมีความรับผิดชอบที่จะเคารพสิทธิมนุษยชน (Respect)

กลุ่มพลเมืองเพื่อเสรีภาพในการสื่อสาร เห็นว่า บริษัท เทเลนอร์ ในฐานะบริษัทแม่ของ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค เป็นบริษัทที่ให้ความสำคัญกับเรื่องธรรมาภิบาลและสิทธิมนุษยชน

“การรักษาจุดยืนในเรื่องนี้อาจเป็นไปได้ยากขึ้น หากเกิดการควบรวมกับบริษัทภายในประเทศที่มีนโยบายด้านสิทธิมนุษยชนและการรักษาความเป็นส่วนตัวไม่เท่ากับมาตรฐานของ บริษัท เทเลนอร์ ดังนั้น จึงขอเรียกร้องให้เทเลนอร์ยุติข้อเสนอควบรวมกิจการระหว่าง ทรู-ดีแทค ในครั้งนี้ และขอเรียกร้องรัฐบาลนอร์เวย์พิจารณาว่าข้อเสนอควบรวมกิจการระหว่าง ทรู-ดีแทค ในครั้งนี้ เป็นไปตามหลักการชี้แนะของสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนหรือไม่”

ตัวแทนของสถานเอกอัครราชทูตนอร์เวย์เมื่อได้มอบหนังสือและได้รับทราบถ้อยแถลงของตัวแทนภาคประชาชน จึงกล่าวว่าจะนำเอาแถลงการณ์ของภาคประชาชนในครั้งนี้ส่งต่อไปยังรัฐบาลนอร์เวย์และบริษัทเทเลนอร์ เพื่อให้พิจารณาทบทวนต่อไป

นอกจากนี้ เครือข่ายภาคประชาชนดังกล่าว ยังเรียกร้องไปยังคณะกรรมการ กสทช.ให้แสดงบทบาทการทำหน้าที่ ต้องยึดประชาชนเป็นหลัก แถลงการณ์ของกลุ่มพลเมืองเพื่อเสรีภาพในการสื่อสาร