“ดีแทค” จุดพลุ Mobility Data พลิกเกมท่องเที่ยวเมืองรอง

“ดีแทค” จุดพลุ Mobility Data พลิกเกมท่องเที่ยวเมืองรอง
นายชารัด เมห์โรทรา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค

“ดีแทค-สดช.-สถาปัตย์ จุฬาฯ-บุญมีแล็บ”เผยผลวิจัย 3 แนวทางส่งเสริมท่องเที่ยวเมืองรอง ด้วย Mobility Data หนุนยุทธศาสตร์เที่ยวไทยเติบโตยั่งยืน ฟื้นฟูเศรษฐกิจฐานราก

วันที่ 5 กันยายน 2565 นายชารัด เมห์โรทรา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค กล่าวว่า โครงการวิจัยศักยภาพการท่องเที่ยวจังหวัดเมืองรองจาก Mobility Data เป็นความร่วมมือทางวิชาการระหว่างหน่วยงานภาครัฐ สถาบันการศึกษา และเอกชน ในการนำร่องใช้ Mobility Data เพื่อประโยชน์สาธารณะ โดยโจทย์ของการวิจัยมุ่งเน้นที่ ‘การฟื้นฟูภาคการท่องเที่ยว’ หลังได้รับผลกระทบอย่างหนักจากวิกฤตโควิด-19 กว่า 2 ปีที่ผ่านมา

และเพื่อให้กระบวนการออกแบบนโยบายมีประสิทธิภาพมากขึ้น “ข้อมูล” เชิงพฤติกรรมจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง โดยเฉพาะ Mobility Data ที่มีข้อได้เปรียบ และศักยภาพ โดยเฉพาะความสามารถในการประเมินสถานการณ์การเดินทางและการกระจุกตัวของผู้คนได้รวดเร็ว แม่นยำ และวิเคราะห์ความเปลี่ยนแปลงในเชิงพื้นที่ได้หลากหลายระดับ

“ภาคส่วนต่าง ๆ ในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวควรใช้วิกฤตนี้รีเซต เพื่อทำความเข้าใจและสร้างสมดุลระหว่างการท่องเที่ยวในประเทศและระหว่างประเทศ สนับสนุนการเติบโตซึ่งกันและกัน นำมาสู่อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่เข้มแข็งและยั่งยืน”

นายภุชพงค์ โนดไธสง เลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจ และสังคมแห่งชาติ (สดช.) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวว่า รัฐบาลตระหนักถึงบทบาทและความสำคัญของข้อมูลที่จะช่วยส่งเสริมให้เกิดเศรษฐกิจดิจิทัล และเปลี่ยนผ่านโครงสร้างประเทศสู่ Digital Nation ข้อมูลที่เรียลไทม์จะช่วยให้ภาครัฐบริหารจัดการปัญหาต่าง ๆ ได้รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น การบริหารจัดการน้ำ การรับมือกับภัยพิบัติ เป็นต้น

ด้าน ผศ.ดร.ณัฐพงศ์ พันธ์น้อย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ประจำภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า แม้การท่องเที่ยวจะเป็นอุตสาหกรรมที่ทำรายได้ให้ประเทศเป็นจำนวนมาก แต่ที่ผ่านมาผลลัพธ์ทางเศรษฐกิจกระจุกตัวอยู่เพียงบางจังหวัดที่เป็นเมืองท่องเที่ยวหลัก การระบาดของโรคโควิด-19 ยังสร้างผลกระทบต่อภาคการค้า การบริการ และการท่องเที่ยวในประเทศเป็นอย่างมาก

ขณะเดียวกัน ความต้องการเดินทางท่องเที่ยวทั้งภายในประเทศและจากต่างประเทศกำลังเพิ่มปริมาณขึ้น จากการลดลงของโรคระบาด จึงเป็นโอกาสดีที่จะสร้าง “สมดุล” ระหว่างการกระจายนักท่องเที่ยวและผลลัพธ์ทางเศรษฐกิจไปสู่จังหวัดที่เป็นเมืองรอง เพื่อส่งเสริมให้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวของไทยเข้มแข็ง และเติบโตอย่างยั่งยืน ตลอดจนกระจายรายได้ไปสู่ท้องถิ่นและชุมชนได้มากยิ่งขึ้น

จากการวิจัยโดยใช้ข้อมูลการเคลื่อนที่ หรือ Mobility Data ระหว่างเดือนมิถุนายน 2563 ถึงตุลาคม 2564* พบว่า ผู้เดินทางในภาพรวมเป็นเพศชาย 40% เพศหญิง 35% ไม่ได้ระบุเพศ 25% โดยส่วนใหญ่มีถิ่นพำนักในกรุงเทพฯ 54%

นักเดินทางท่องเที่ยว 47% มีอายุระหว่าง 21-40 ปี หรือวัยผู้ใหญ่ตอนต้น ตามด้วยวัยกลางคน (41-60 ปี) มีสัดส่วนที่ 35% วัยสูงอายุ (60 ปีขึ้นไป) 14% และวัยเด็กและเยาวชน (ต่ำกว่า 20 ปี) ที่ 4% และเมื่อพิจารณาลักษณะนักท่องเที่ยวในช่วงการระบาดโควิด-19 พบว่ามีลักษณะเป็นการเดินทางแบบพักค้าง 67% และเดินทางแบบเช้าไปเย็นกลับ 33%

นายณัฐพงศ์กล่าวเพิ่มเติมว่า จากการวิเคราะห์ Mobility Data สามารถสรุป 3 แนวทาง เพื่อการส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองรองได้ดังนี้

1.การส่งเสริม Micro tourism หรือการดึงดูดนักท่องเที่ยวที่เดินทางแบบเช้าไปเย็นกลับในระยะการเดินทาง 150 กิโลเมตร หรือใช้เวลา 1-2 ชั่วโมง

เพื่อร่วมกิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงการเรียนรู้รวมถึงบริโภคสินค้า และบริการของท้องถิ่น ซึ่งมีแนวโน้มเป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยวทั้งในกลุ่มครอบครัว กลุ่มวัยทำงาน และกลุ่มวัยเกษียณ

“การพัฒนาการท่องเที่ยวรูปแบบนี้ ทำได้โดยผลักดันให้เกษตรกร และผู้ผลิตรายย่อยร่วมกันพัฒนากิจกรรมที่นักท่องเที่ยวมีส่วนร่วมในกระบวนการผลิตผลผลิต และสินค้าของท้องถิ่น เพื่อส่งเสริมให้นักท่องเที่ยวได้เรียนรู้ประสบการณ์ใหม่ เปิดโอกาสให้เกิดการบริโภคสินค้าและบริการจากทรัพยากรในพื้นที่ และสร้างรายได้เสริมจากท่องเที่ยวให้เกษตรกรและผู้ผลิต“

ทั้งนี้ ผู้ศึกษาได้พัฒนาดัชนีชี้วัดศักยภาพของเมืองรองในพัฒนา Micro tourism จาก Mobility Data โดยใช้ 3 เกณฑ์ชี้วัด ได้แก่

  1. ปริมาณการเดินทางท่องเที่ยวแบบไปกลับที่เข้ามาในพื้นที่
  2. สัดส่วนการเดินทางท่องเที่ยวแบบไปกลับที่ดึงดูดได้จากจังหวัดอื่นในระยะ 150 กม.
  3. ความสามารถในการดึงดูดการท่องเที่ยวแบบไปกลับได้จากระยะไกล

จะพบว่าจังหวัดเมืองรองที่มีศักยภาพในการพัฒนาการท่องเที่ยวแบบ Micro tourism อย่างโดดเด่นมี 16 จังหวัด ประกอบด้วย จังหวัดนครศรีธรรมราช เชียงราย นครพนม ลำพูน นครนายก ระนอง เพชรบูรณ์ อุบลราชธานี แม่ฮ่องสอน พัทลุง ราชบุรี นครสวรรค์ บุรีรัมย์ มหาสารคราม สุพรรณบุรี และชุมพรตามลำดับ

2. การพัฒนาการท่องเที่ยวแบบค้างคืนเพื่อสร้างประสบการณ์ใหม่ (Experience-based overnight tourism)

เป็นอีกแนวทางในการกระจายผลลัพธ์เชิงบวกจากการท่องเที่ยวสู่เมือง ทั้งนี้ จากการวัดศักยภาพการพัฒนาการท่องเที่ยวแบบค้างคืน เพื่อสร้างประสบการณ์ใหม่โดย Mobility Data ผ่าน 3 ดัชนีชี้วัด ได้แก่

  1. ปริมาณการกระจุกตัวของการเดินทางท่องเที่ยวแบบค้างคืนในพื้นที่
  2. สัดส่วนการเดินทางท่องเที่ยวแบบค้างคืนที่ดึงดูดได้จากจังหวัดอื่นในระยะ 150 กิโลเมตร
  3. สัดส่วนการเลือกพักค้างของผู้มาเยือนในพื้นที่

พบว่ามี 21 จังหวัดเมืองรองที่มีศักยภาพสูงในการส่งเสริมการท่องเที่ยวแบบค้างคืน ได้แก่ นครศรีธรรมราช เพชรบูรณ์ เชียงราย อุบลราชธานี พิษณุโลก ชุมพร จันทบุรี ศรีสะเกษ บุรีรัมย์ เลย ตราด น่าน นครสวรรค์ อุดรธานี ลำปาง ร้อยเอ็ด สุรินทร์ มหาสารคราม สตูล ตรัง และชัยภูมิ ตามลำดับ

3. การส่งเสริมการท่องเที่ยวแบบกลุ่มจังหวัด (Tourism Cluster)

เป็นแนวคิดการส่งเสริมให้เกิดการพัฒนากิจกรรมและเส้นทางการท่องเที่ยวร่วมกันระหว่างกลุ่มจังหวัดเมืองรองที่นักท่องเที่ยวมีแนวโน้มเดินทางไปเยือนในการเดินทางท่องเที่ยว 1 ทริป เพื่อเพิ่มทางเลือกในเป้าหมายการเดินทางท่องเที่ยวให้กับผู้มาเยือน

โดยการสร้างเรื่องราว (Storytelling) เชื่อมโยงสถานที่และกิจกรรมการท่องเที่ยวระหว่างจังหวัด การจัดโปรโมชั่นส่วนลดที่พักและร้านอาหารในกลุ่มจังหวัด การพัฒนากิจกรรมเพื่อสะสมแต้มผ่านสกุลเงินดิจิทัล (Cryptocurrency) ที่สามารถใช้ในแต่ละกลุ่มจังหวัด เป็นต้น

จากผลการวิเคราะห์ Mobility Data สามารถแบ่งประเภทของคลัสเตอร์ของการท่องเที่ยวที่จังหวัดเมืองรองเป็นสมาชิกได้เป็น 4 รูปแบบ ดังนี้

  1. กลุ่มเมืองรองแฝงเมืองหลัก เป็นกลุ่มที่มีจังหวัดเมืองรองร่วมอยู่ด้วย แต่สมาชิกในกลุ่มโดยส่วนใหญ่เป็นเมืองท่องเที่ยวหลัก เช่น กลุ่มจังหวัดบุรีรัมย์-นครราชสีมา-สระบุรี
  2. กลุ่มเมืองรองล้อมเมืองหลัก เป็นกลุ่มที่มีสมาชิกโดยส่วนใหญ่เป็นจังหวัดเมืองรอง อยู่ร่วมกับจังหวัดที่เป็นเมืองท่องเที่ยวหลัก เช่น กลุ่มจังหวัดนครสวรรค์-ชัยนาท-สิงห์บุรี-อ่างทอง-พระนครศรีอยุธยา-ปทุมธานี
  3. กลุ่มเพื่อนเมืองรอง เป็นกลุ่มจังหวัดที่มีสมาชิกทั้งหมดเป็นจังหวัดเมืองรอง เช่น กลุ่มจังหวัดลำปาง-ตาก-กำแพงเพชร-นครสวรรค์
  4. กลุ่มเมืองฝาแฝด เป็นกลุ่มที่มีสมาชิกเพียง 2 จังหวัด โดยมีทั้งการจับคู่ระหว่างเมืองหลักกับเมืองรอง หรือระหว่างเมืองรองด้วยกันเอง เช่น จังหวัดปราจีนบุรี-ฉะเชิงเทรา

นายชารัดกล่าวต่อว่า ดีแทคเชื่อว่า Mobility Data จะช่วยให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชนเข้าใจรูปแบบการเดินทางและการกระจุกตัวของนักท่องเที่ยวได้อย่างบูรณาการ เติมเต็ม และเพิ่มประสิทธิภาพ การวางแผนและการจัดทำนโยบายการพัฒนาการท่องเที่ยว ตั้งแต่ระดับประเทศจนถึงท้องถิ่น
นอกจากนั้น ข้อมูลชุดนี้ยังช่วยเปลี่ยนโลกให้ดีและน่าอยู่ยิ่งขึ้น

โดยนำข้อมูล Mobility Data ไปใช้เพื่อประโยชน์สาธารณะและการแก้ไขปัญหาสังคม ภายใต้หลักจริยธรรมและการปกป้องความเป็นส่วนตัวอย่าง

หมายเหตุ: ข้อมูลที่นำมาวิเคราะห์ในโครงการนี้ เป็นชุดข้อมูลที่ไม่สามารถระบุตัวตนของผู้ใช้งานได้ ทั้งทางตรงและทางอ้อม ภายใต้การกำกับและดูแลนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลและความปลอดภัยทางไซเบอร์ที่เข้มงวดของดีแทค