เอไอเอส ปั้นนักพากย์เกม เสริมอีโคซิสเต็มอีสปอร์ต

AIS eSports ปั้นนักพากย์กีฬาอีสปอร์ตรุ่นใหม่ เร่งสร้างอีโคซิสเต็มอีสปอร์ตมูลค่า 3.3หมื่นล้านบาท

วันที่ 28 กันยายน 2565 นางสาวรุ่งทิพย์ จารุศิริพิพัฒน์ กรรมการผู้จัดการพันธมิตรธุรกิจด้านบันเทิงและคอนเทนต์ AIS กล่าวว่า นักพากย์กีฬาอีสปอร์ตเป็นอีกหนึ่งอาชีพที่เกิดขึ้นจากการเติบโตของอุตสาหกรรมอีสปอร์ตในเมืองไทย ซึ่งจากการจัดโครงการเพื่อเปิดพื้นที่ให้กับนักพากย์ได้เข้ามาเรียนรู้การพากย์อย่างมืออาชีพในปีที่ผ่านมากับโครงการ AIS eSports Young Caster Talent 2021 ทำให้เราเห็นข้อมูลสำคัญว่า วันนี้มีเยาวชนและคนรุ่นใหม่จำนวนมากที่สนใจอยากเข้าสู่เส้นทางสายอาชีพในวงการเกมและอีสปอร์ต ในฐานะ Caster อีสปอร์ตระดับมืออาชีพ จึงเป็นเหตุผลที่เรายังคงเดินหน้าจัดโครงการดังกล่าวขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 2

โดยปีนี้มีการขยายกลุ่มผู้สนใจเข้าร่วมโครงการออกเป็น 2 กลุ่มคือ 1.นักพากย์เยาวชนหน้าใหม่ ระดับมัธยมศึกษาอายุตั้งแต่ 12–17 ปี ซึ่งจะเปิดรับสมัครในเดือนพฤศจิกายน
2.กลุ่มนักพากย์รุ่นบุคคลทั่วไปที่มีอายุ 18 ขึ้นไป ที่จะเปิดรับสมัครในวันที่ 1 ตุลาคม

โดยทั้งสองกลุ่มจะมีการคัดเลือกผู้เข้ารอบถัดไปจำนวน 2 คนที่มาร่วมงานระดับอาชีพกับ AIS eSports ที่มีรายการแข่งขันระดับประเทศมากมาย

นอกจากนี้ น.ส.รุ่งทิพย์ ยังกล่าวถึงภาพรวมของตลาดเกมและอีสปอร์ตในปัจจุบันที่มีมูลค่า 1.1 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 3.3 หมื่นล้านบาท อย่างไรก็ตาม เอไอเอสยังไม่ได้แยกว่ากลุ่มที่เป็นผู้ชมกีฬามีสัดส่วนหรือมูลค่าเท่าใดในตลาดเกมและอีสปอร์ต

น.ส. รุ่งทิพย์ กล่าวเสริมว่า เอไอเอสมีความตั้งใจในการยกระดับอุตสาหกรรมอีสปอร์ตของไทยให้ทัดเทียมกับนานาชาติ ด้วยทำงานร่วมกับภาคส่วนต่างๆ ที่อยู่ในคอมมูนิตี้ของตลาดในทุกระดับ และแน่นอนว่า Caster หรือ นักพากย์ ก็เป็นฟันเฟืองชิ้นสำคัญของอุตสาหกรรมอีสปอร์ต การลุกขึ้นมาให้ความสำคัญกับการสร้างองค์ความรู้และมาตรฐานของวิชาชีพจึงเป็นส่วนหนึ่งของเป้าหมายในการนำพาอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศให้เติบโตได้อย่างยั่งยืน

นายตรีภพ เที่ยงตรง ผู้ก่อตั้ง และประธานกรรมการบริหาร บริษัท สเปคเตอร์ อีสปอร์ต จำกัด หรือ ไซคลอป กล่าวในฐานะผู้ดำเนินการจัดหลักสูตรเนื้อหาผู้เข้าร่วมว่า ปัจจุบันการพากย์กีฬาอีสปอร์ตไม่ได้เป็นเพียงแค่กิจกรรมยามว่างของผู้ชื่นชอบและคลั่งไคล้การแข่งขันเกมเท่านั้น แต่ยังสามารถต่อยอดเป็นอาชีพที่สามารถสร้างรายได้จากการเติบโตของตลาดและการแข่งขัน ทั้งในระดับประเทศและระดับโลก

ดังนั้นการพัฒนาทักษะความสามารถของนักพากย์ให้ทันต่อการเติบโตของอุตสาหกรรมจึงเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่จะช่วยทำให้ภาพรวมของอีสปอร์ตไทยสามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก

ด้าน นางสาวจิรัฐติกาล สุทธิวรรณารัตน์ ผู้อำนวยการด้านคอนเทนต์ ทวิตช์ ประเทศไทย (Twitch) แพลตฟอร์มสตรีมมิ่งออนไลน์ กล่าวว่า สำหรับ Caster หรือ นักพากย์ ในประเทศไทยนั้น ยังเป็นอาชีพที่ใหม่ และคนรุ่นใหม่ให้ความสนใจค่อนข้างมาก แต่มีหน่วยงาน หรือองค์กรที่ให้ความสำคัญในการพัฒนาศักยภาพของบุคลากรในกลุ่มนี้ค่อนข้างน้อย

น.ส.จิรัฐติกาล กล่าวอีกด้วยว่า ความสนใจในรับชมความบันเทิงจากการพากย์เกมส่วนหนึ่งเห็นได้จากการเกิดสตรีมเมอร์จำนวนมากบนแพลตฟอร์มออนไลน์ ซึ่งบน Twitch เอง ก็มีการสตรีมการแข่งขันอีสปอร์ต การจัดปาร์ตี้เพื่อดูอีสปอร์ตโดยมีนักพากย์มาช่วยสร้างความสนุก ตลอดจึงการสตรีมมิ่งเกมทั่วไป หรือแม้กระทั่งการสตรีมมิ่งการวาดรูป ก็เกิดขึ้นอย่างหลากหลายบน Twitch


“สำหรับสตรีมเมอร์ในไทยมีอยู่ราว 1 หมื่นถึง 1 แสนคน ซึ่งนักพากย์เป็นส่วนหนึ่งของสตรีมเมอร์หล่านี้ ด้วยจำนวนและความหลากหลายของการสตรีมเช่นนี้ทำให้คนไทยใช้เวลาบน Twitch กว่า 5 ชม. ต่อวัน”