ย้อนรอย “ดับเบิลโหวต” พลิกมติควบรวม “ทรู-ดีแทค”

ดับเบิลโหวต

หลังการประชุมนัดพิเศษเพื่อพิจารณาดีลควบรวมธุรกิจระหว่าง “ทรูและดีแทค” สิ้นสุดลงในช่วงค่ำวันที่ 20 ต.ค. 2565 รายงานจากสำนักงาน กสทช.ระบุว่า กสทช.มีมติ “เสียงข้างมาก” รับทราบการควบรวมธุรกิจ “ทรูและดีแทค” พร้อมกำหนดเงื่อนไข/มาตรการเฉพาะเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค และการพัฒนากิจการโทรคมนาคม โดยมีการเปิดเผยรายละเอียดว่า เนื่องจากการลงมติมีคะแนนเสียงเท่ากัน ประธานที่ประชุมจึงใช้อำนาจตามข้อ 41 ของระเบียบ กสทช. ว่าด้วยข้อบังคับการประชุม กสทช. พ.ศ. 2555 ออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งเสียงเป็นเสียงชี้ขาด

ปัจจุบัน บอร์ด กสทช.มีทั้งหมด 5 คน คือ 1.นายแพทย์สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธาน กสทช. 2.นายต่อพงศ์ เสลานนท์ 3.พลอากาศโท ดร.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ 4.รองศาสตราจารย์ ดร.ศุภัช ศุภชลาศัย และ 5.ศาสตราจารย์ ดร.พิรงรอง รามสูต ซึ่งผลการลงคะแนนออกมาเท่ากัน 2 : 2 : 1 ด้วยว่า พลอากาศโท ดร.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ งดออกเสียง

จึงต้องหาข้อสรุปด้วยออกเสียงเพิ่มอีกหนึ่งเสียง หรือ “ดับเบิลโหวต”

เปิดระเบียบ กสทช.พลิกโหวต

จากคะแนนเสียง 2 : 2 : 1 จึงออกมาเป็นมติเสียงข้างมาก 3 : 2

อย่างไรก็ตาม เมื่อพลิกระเบียบข้อบังคับการประชุม กสทช. ตามข้อ 41 ระบุว่า การวินิจฉัยชี้ขาดของที่ประชุมตามความในข้อ 40 วรรคสอง ให้ใช้หลักเกณฑ์ ดังต่อไปนี้

(1) กรณีเป็นการวินิจฉัยชี้ขาดเกี่ยวกับการใช้อำนาจตามกฎหมายว่าด้วยองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม มาตรา 27 (19) (23) และ (25) หรือเป็นกรณีการบริหารจัดการภายในตามความในมาตรา 58 ให้ใช้เสียงข้างมากของกรรมการผู้มาประชุม

(2) กรณีเป็นการวินิจฉัยชี้ขาดในประเด็นอื่นนอกเหนือจากประเด็นตามความใน (1) ต้องได้รับมติพิเศษ กล่าวคือ ได้รับความเห็นชอบจากกรรมการไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมด หากคณะกรรมการเห็นว่าประเด็นใดตามความใน (1) เป็นประเด็นสำคัญอาจกำหนดให้ประเด็นนั้นต้องได้รับมติพิเศษก็ได้

ในการวินิจฉัยชี้ขาด ให้กรรมการหนึ่งคนมีหนึ่งเสียงในการลงคะแนน ถ้าคะแนนเสียงเท่ากัน ให้ประธานออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด

ย้อนอดีตคะแนนเสียงปริ่มน้ำ

แหล่งข่าวจาก กสทช.กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า บอร์ด กสทช.ในอดีต เคยมีการลงมติตามข้อ 41 (2) มาพิจารณาอย่างน้อย 2 ครั้ง ครั้งแรกกับการอนุมัติการจ่ายค่าชดเชยการเวนคืนคลื่นความถี่ให้ อสมท กับบริษัท เพลย์เวิร์ก ถัดมาเป็นกรณีการต่อใบอนุญาตโฆษณาวิทยุชุมชน แต่ทั้งสองกรณี ประธานในขณะนั้นให้มีการเลื่อนการพิจารณาเป็นครั้งถัดไป และระหว่างนั้นมีการพูดคุยกันหาข้อสรุปนอกรอบกันได้ จึงไม่มี “ดับเบิลโหวต” เพื่อหาทางออกในวาระพิเศษที่ต้องใช้ “เสียงข้างมาก” มาก่อน

“กรณี อสมท และเพลย์เวิร์ก วาระที่ต้องพิจารณาคือ จะชดเชยมากหรือน้อย คะแนนเสียงออกมาว่าให้ชดเชยมาก 2 คะแนน อีก 2 ให้ชดเชยน้อย กรรมการมี 6 คน เท่ากับคะแนนเสียงไม่ถึงกึ่งหนึ่งทั้งคู่ สำนักงาน กสทช.จึงเสนอให้โหวตซ้ำ แต่กรรมการ กสทช.ท่านหนึ่งแย้งว่าไม่สามารถโหวตซ้ำได้ จึงเลื่อนไปโหวตสัปดาห์ต่อไป ซึ่งในภายหลังมีการคุยกันแล้วลงคะแนนเป็น 3 ได้ ส่วนเรื่องการต่อใบอนุญาตโฆษณาวิทยุชุมชนก็คล้าย ๆ กัน คะแนนออกมา 2 ต่อ 2 เพราะมี กรรมการ กสทช.บางท่านลา ประธานจึงเลื่อนการลงมติ เพื่อรอให้อีก 2 คนที่ลาประชุมกลับมาลงคะแนน เพื่อให้ได้เสียงเกินกึ่งหนึ่ง”

แหล่งข่าวกล่าวต่อว่า คนทั่วไปอาจเข้าใจว่า เมื่อคะแนนเท่ากัน 2 : 2 : 1 ประธานมีสิทธิโหวตซ้ำเพื่อชี้ขาดออกมาเป็นเสียงข้างมาก แต่ถ้าอ่านข้อบังคับโดยละเอียดจะพบว่า กรณีเป็นเสียงข้างมากพิเศษ หรือเสียงข้างมากเด็ดขาด จะโหวตซ้ำได้ต้องมีคะแนนมากกว่ากึ่งหนึ่งของกรรมการที่มีอยู่ นับจำนวนกรรมการที่มีอยู่จริง เช่น มี 5 คน ต่อให้มาไม่ครบก็นับคนที่ไม่อยู่ในที่ประชุมมารวมด้วย ถ้าเสียงกรรมการที่มีอยู่จริงไม่ถึงกึ่งหนึ่ง ไม่มีสิทธิโหวตซ้ำได้

สภาผู้บริโภคเกาะติด

ด้านสภาองค์กรของผู้บริโภคซึ่งเกาะติด และคัดค้านดีลนี้อย่างต่อเนื่อง ล่าสุดได้ทำหนังสือด่วนถึง กสทช.ระบุว่า มติดังกล่าวอาจผิดกฎหมาย เนื่องจากผิดระเบียบข้อบังคับการประชุมของ กสทช. และขัดกับคำวินิจฉัยของศาลปกครอง ประกอบถ้อยคำให้การที่ กสทช. ให้ไว้ในการพิจารณาคดีที่ศาลปกครองว่า กสทช.เป็น “ผู้มีอำนาจอนุญาต หรือไม่อนุญาต” พิจารณาการควบรวมบริษัท และว่าหาก กสทช.ไม่รับฟังการทักท้วง และดำเนินการส่งหนังสือแจ้งมติไปยังบริษัทเอกชนทั้งสอง อาจถือว่าเป็นเจตนาจงใจฝ่าฝืนกฎหมาย

นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ ประธานอนุกรรมการด้านการสื่อสาร โทรคมนาคม และเทคโนโลยีสารสนเทศ สภาองค์กรของผู้บริโภค และอดีตกรรมการ กสทช. กล่าวว่า การยื่นหนังสือต่อ กสทช.ครั้งนี้ เพื่อขอให้ชะลอการส่งหนังสือแจ้งมติ และทบทวนมติให้ถูกต้องตามกฎหมายก่อน เนื่องจากกรณีดังกล่าวไม่ใช่กรณีที่มีคะแนนเสียงเท่ากัน และไม่ใช่กรณีได้คะแนนเสียงเกินกึ่งหนึ่งของคะแนนทั้งหมด เนื่องจากกรรมการที่ลงคะแนนมี 5 คน และมีการลงมติเห็นชอบ 2 เสียง ลงมติไม่เห็นชอบ 2 เสียง และงดออกเสียง 1 เสียง ประธานจึงไม่มีสิทธิออกเสียงเพิ่มอีกเสียงเป็นเสียงชี้ขาดตามข้อ 41 วรรคท้าย

และว่า ผลการลงมติเป็นกรณีคะแนนเสียงไม่ถึงกึ่งหนึ่งตามข้อ 41 (2) เนื่องจากเป็นการประชุมที่ต้องได้รับมติพิเศษ คือได้รับความเห็นชอบจากกรรมการ “ไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่ง” ของจำนวนกรรมการทั้งหมด มติดังกล่าวจึงต้องตกไป และต้องมีการลงมติใหม่ ดังนั้นการที่ประธานมีคะแนนเสียงเพิ่มอีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด และกำหนดให้การประชุมดังกล่าวมีมติรับทราบ และกำหนดเงื่อนไขหรือมาตรการเฉพาะจึงอาจเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย


“ในแง่ผู้บริโภค ที่พอจะทำได้ คือใช้การขอคุ้มครองชั่วคราว ซึ่งศาลต้องนัดไต่สวนฉุกเฉิน ก็ต้องดูว่าศาลจะรับฟ้องไหม นัดไต่สวนไหม ถ้านัดไต่สวนฉุกเฉินก็จะเร็ว และเข้มข้น มีการเชิญทั้งสองฝ่ายมาให้ข้อมูล ศาลจะวินิจฉัยว่าควรคุ้มครองไหม ถ้าคุ้มครอง มีนัยว่าเป็นคุณต่อผู้บริโภค หมายความว่า มติ 2 : 2 : 1 ของ กสทช. ยังไม่เป็นผล”