e-Conomy SEA 2022 อีคอมเมิร์ซ แรงส่งเศรษฐกิจดิจิทัล

แจ็คกี้ หวาง

เศรษฐกิจดิจิทัลไทยอยู่ในช่วงขาขึ้นอ้างอิงจากรายงาน e-Conomy SEA Report-Through the waves, towards a sea of opportunity ฉบับที่ 7 จัดทำโดย Google, Temasek และ Bain & Company ที่เจาะลึกแนวโน้ม และข้อมูลเชิงลึกในภาคธุรกิจอีคอมเมิร์ซ การท่องเที่ยว ออนไลน์ ขนส่ง บริการส่งอาหารออนไลน์ สื่อออนไลน์ และด้านการเงินดิจิทัล

“แจ็คกี้ หวาง” Country Director, Google ประเทศไทย กล่าวว่า เศรษฐกิจดิจิทัลของภูมิภาคนี้มีมูลค่าสินค้ารวม (Gross Merchandise Volume : GMV) สูงถึง 2 แสนล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2565 เร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ในปี 2559 ถึง 3 ปี หรือเติบโตขึ้นถึง 20% จากปีที่ผ่านมา แสดงให้เห็นถึงโอกาสในการเติบโตของเศรษฐกิจดิจิทัลทั่วภูมิภาคมากขึ้น หลังจากที่ต้องฟันฝ่าอุปสรรคในช่วงเวลายากลำบาก

สำหรับประเทศไทยเศรษฐกิจดิจิทัลจะมีมูลค่าสินค้ารวมสูงถึง 3.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2565 เติบโต 17% เทียบปีที่แล้วที่มีมูลค่า 3 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ แม้ต้องรับมือกับความท้าทายต่าง ๆ

และคาดการณ์ว่า ในปี 2568 มูลค่าสินค้ารวมเศรษฐกิจดิจิทัลของไทยจะแตะ 5.3 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ หรือเติบโตเฉลี่ย 15% ต่อปี และจะโตขึ้น 2 เท่า ที่มูลค่า 1-1.65 แสนล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2573 โดยอีคอมเมิร์ซ, บริการส่งอาหารออนไลน์ และการซื้อของสดออนไลน์ เป็นบริการดิจิทัล 3 อันดับแรก ที่มีอัตราการใช้บริการสูงที่สุดในกลุ่มคนไทยที่อยู่ในเขตเมือง

กราฟฟิกศก.ดิจิทัล

อีคอมเมิร์ซขับเคลื่อน ศก.

รายงานดังกล่าวระบุว่า อีคอมเมิร์ซเป็นแรงผลักดันที่สำคัญของเศรษฐกิจดิจิทัลไทย คิดเป็น 63% ของมูลค่าเศรษฐกิจดิจิทัลโดยรวมในปี 2565 โดยตลาดไทยใหญ่เป็นอันดับ 2 ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รองจากอินโดนีเซีย ขณะที่อัตราการใช้บริการอีคอมเมิร์ซของไทยอยู่ที่ 94% เป็นอันดับ 2 ในภูมิภาค รองจากสิงคโปร์

ภาคธุรกิจอีคอมเมิร์ซโตขึ้น 8% จากปีก่อน มีมูลค่าสินค้ารวมสูงถึง 2.2 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2565 และคาดว่าจะแตะ 3.2 หมื่นล้านเหรียญปี 2568

23% ของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในไทยตั้งใจใช้บริการอีคอมเมิร์ซมากขึ้นในช่วง 12 เดือนข้างหน้า สำหรับการขนส่ง และบริการส่งอาหารออนไลน์ คาดว่าจะมีมูลค่าสินค้ารวมแตะ 3 พันล้านเหรียญสหรัฐในปี 2565 เพิ่มขึ้น 12% จากปี 2564 คาดว่าจะเติบโตขึ้นถึง 20% หรือแตะ 5 พันล้านเหรียญ ในปี 2568

ส่อง “ฟู้ดดีลิเวอรี่-สตรีมมิ่ง”

ตลาดบริการส่งอาหารออนไลน์กลับสู่แนวโน้มการเติบโตในทิศทางเดิม หลังจากที่มีการเติบโตถึง 3 เท่าในช่วงโควิด และคาดว่าจะโต 11% มีมูลค่าสินค้ารวมที่ 2.7 พันล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2565 และคาดว่าจะแตะถึง 3.6 พันล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2568 ทำให้ตลาดบริการส่งอาหารออนไลน์ของไทยใหญ่เป็นอันดับ 2 รองจากอินโดนีเซีย

ส่วนภาคการขนส่งคาดว่าจะฟื้นตัวได้ และเติบโตถึง 36% มีมูลค่ารวมอยู่ที่ 300 ล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2565 และขึ้นสู่ระดับ 1.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2568

สื่อออนไลน์ (บริการวิดีโอออนดีมานด์ เพลงออนดีมานด์ เกม) ชะลอตัวจากปีที่ผ่านมาที่พุ่งสูงเป็นประวัติการณ์ จากโควิด โดยปี 2565 โต 10% มูลค่าสินค้ารวม 5 พันล้านเหรียญ การเติบโตของเพลงออนดีมานด์ และวิดีโอออนดีมานด์เริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติ ด้านโฆษณาออนไลน์ยังรักษาการเติบโตไว้ได้คงเดิม ส่วนเกมออนไลน์การใช้ลดลง และคาดว่าธุรกิจสื่อออนไลน์จะเติบโต 12% หรือคิดเป็นมูลค่า 7 พันล้านเหรียญ ในปี 2568

ท่องเที่ยวออนไลน์เริ่มฟื้น

การท่องเที่ยวออนไลน์จะกลับมาฟื้นตัว จากการที่ผู้คนออกเดินทางท่องเที่ยวมากขึ้น สูงกว่าช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโควิด โดยเติบโต 139% จากปี 2564 คิดเป็นมูลค่าสินค้ารวม 5 พันล้านเหรียญ ในปี 2565 และคาดว่าจะโต 22% หรือมีมูลค่าสินค้ารวมที่ 9 พันล้านเหรียญ ในปี 2568

การค้นหาเกี่ยวกับการท่องเที่ยวในไทยแตะระดับเดียวกับช่วงก่อนโควิด แสดงให้เห็นถึงความต้องการเดินทางท่องเที่ยวที่อั้นไว้ และคาดว่าภาคการท่องเที่ยวจะค่อย ๆ ฟื้นตัว แต่ใช้เวลาหลายปีกว่าจะเข้าสู่ก่อนโควิดในปี 2562

บริการด้านการเงินดิจิทัล (digital financial services) ได้แก่ การชำระเงิน การโอนเงินต่างประเทศ การกู้ยืม การลงทุน และประกัน เติบโตเป็นตัวเลข 2 หลักในปี 2565 จากพฤติกรรมของผู้บริโภคที่หันมาทำธุรกรรมทางการเงินออนไลน์มากขึ้น และคาดว่าการเติบโตจากนี้ไปจนถึงปี 2568 จะขับเคลื่อนโดยการกู้ยืมและการลงทุน ซึ่งมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปี (compounded annual growth rate : CAGR) 40% และ 45% ตามลำดับ

ส่องการลงทุนเทคโนโลยี

ส่วนการลงทุนด้านเทคโนโลยี ตั้งแต่ครึ่งแรกปี 2564 จนถึงครึ่งแรกปี 2565 มูลค่าการซื้อขายเพิ่มขึ้น 15% โดยเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังเป็นแหล่งรวมการลงทุนด้านเทคโนโลยี ส่วนการลงทุนในบริการด้านการเงินดิจิทัล มีสัดส่วนการลงทุนสูงที่สุดในประเทศไทย มีมูลค่าประมาณ 150 ล้านเหรียญสหรัฐ ในครึ่งแรกของปี 2565 แซงหน้าอีคอมเมิร์ซมาเป็นอันดับหนึ่ง โดยเกือบครึ่งอยู่ในไทยเช่นเดียวกับทั่วทั้งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มูลค่าการซื้อขายเพิ่มสูงขึ้นจากการลงทุนระดับ Series-C ในธุรกิจบริการการเงินดิจิทัล และอีคอมเมิร์ซ

“วิลลี่ ชาง” Associate Partner at Bain & Company กล่าวว่า ธุรกิจอีคอมเมิร์ซของไทยในส่วนของการซื้อของสดออนไลน์ มีโอกาสเติบโตที่สดใสด้วยระบบนิเวศที่หลากหลายของผู้ประกอบการที่ใช้โมเดล “quick commerce” (การจัดส่งแบบทันที) และผู้ประกอบการที่มีการปรับเปลี่ยนการค้าขายสินค้า และของใช้ที่จำเป็นในชีวิตประจำวันแบบดั้งเดิมมาเป็นออนไลน์