ชำแหละตลาดคริปโตขาลง วิกฤต FTX เขย่าขวัญนักลงทุน

FTX

สัปดาห์ที่ผ่านมา อุตสาหกรรมคริปโตเคอร์เรนซีต้องอกสั่นขวัญแขวนอีกครั้ง เมื่อกระดานซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลยักษ์ใหญ่อันดับสองของโลก “FTX” ประกาศล้มละลาย ต้อนรับวาระแห่งการครบรอบ 1 ปีที่ “บิตคอยน์” เคยทำราคาขึ้นไปถึงจุดสูงสุดตลอดกาล (69,000 เหรียญสหรัฐ/BTC)

กรณี FTX นับเป็นฝันร้ายอีกครั้งของนักลงทุนคริปโตทั่วโลก และไม่ใช่แค่กับ FTX เอง หลายฝ่ายยังหวั่นว่าจะกลายเป็นไฟลามทุ่งไปยังผู้ให้บริการรายอื่น ๆ อย่าง BlockFi และ Genesis Global Capital ที่มีข่าวว่าอาจต้องยื่นขอล้มละลายด้วยเช่นกัน

ไม่มีใครรู้ว่าใต้พรม FTX มีอะไรซ่อนอยู่อีกบ้าง และจะส่งผลสะท้านสะเทือนไปไกล จนลามมาถึงตลาดบ้านเรา เป็นโดมิโอเอฟเฟ็กต์ ดังเช่นการล่มสลายของ Teera LUNA หรือไม่ หลังมูลค่าตลาดหล่นฮวบลงไปกว่า 2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ตั้งแต่กลางปีที่ผ่านมา และดูเหมือนฝันร้ายจะยังไม่จบสิ้น แต่ละกรณีล้วนเขย่าขวัญนักลงทุนทั้งสิ้น

มูลค่าการซื้อขายลดฮวบ

ในรายงานสรุปภาวะตลาดสินทรัพย์ดิจิทัล โดย สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือ “ก.ล.ต.” (ณ วันที่ 11 พ.ย. 2565) ชี้ให้เห็นว่า มูลค่าการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลในประเทศไทยมีแนวโน้มลดลงอย่างเห็นได้ชัดในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา โดยเดือน พ.ย. 2564 เคยมีมูลค่าสูงถึง 2.2 แสนล้านบาท แต่ ณ เดือน ต.ค. 2565 มีมูลค่าการซื้อขายเหลือเพียง 4 หมื่นล้านบาทเท่านั้น เป็นการลดลงเกือบ 6 เท่า ตามราคา “บิตคอยน์” ที่มีการปรับตัวลงต่อเนื่อง

และเมื่อเจาะลงไปดูจำนวนบัญชีที่มีการเปิดผ่านศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลในประเทศพบว่า ณ ต.ค. 2565 มีจำนวนบัญชีโดยรวมอยู่ที่ 2.9 ล้านบัญชี แม้จะเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัวจากช่วงเดียวกันของปีที่่แล้วที่มี 1.6 ล้านบัญชี แต่กลับพบว่าจำนวนบัญชีซื้อขายที่ active มีสัดส่วนเพียง 7.2% ของบัญชีทั้งหมด

Stable Coin แซงบิตคอยน์

สำนักงาน ก.ล.ต.ยังเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับราคาสินทรัพย์ดิจิทัลที่มีมูลค่าซื้อขายสูงสุด 5 อันดับแรก ในรอบสัปดาห์ของแต่ละศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลไทย 6 แห่ง ได้แก่ Bitkub, Zipmex, Satang Pro, Upbit, Z.com และ InnovestX เปรียบเทียบกับราคาสินทรัพย์ดิจิทัลในตลาดโลก โดยระบุว่าในเดือน ต.ค.ที่ผ่านมา มีปริมาณและการซื้อขายสะสมเป็น Stable Coin สกุล USDT สูงที่สุด 1.67 แสนล้านบาท และในช่วง 2 สัปดาห์สุดท้ายของเดือน ต.ค. เฉพาะ “Bitkub” ที่เดียวมีปริมาณการซื้อขาย USDT ถึง 200 ล้าน USDT หรือมีมูลค่าราว 7,400 ล้านบาท

ADVERTISMENT

มูลค่าการซื้อขายลำดับถัดมา คือสกุลเงิน “Bitcoin” มีมูลค่าซื้อขายสะสม 1 แสนล้านบาท ตามด้วย Ethereum ที่ 8 หมื่นล้านบาท GALA 5.49 หมื่นล้านบาท Zilliqa 5.46 ล้านบาท Luna Classic 5.1 หมื่นล้านบาท KUB Coin 4.8 หมื่นล้านบาท Near 4.3 หมื่นล้านบาท Dogecoin 2.8 หมื่นล้านบาท Cardano 2.6 หมื่นล้านบาท และเหรียญสกุลอื่น ๆ รวมทั้งสิ้น 3.24 แสนล้านบาท (ณ 7 พ.ย. 2565)

นิติบุคคลช้อนซื้อแซงคนทั่วไป

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ปกติสถิติคริปโตเคอร์เรนซีที่อยู่อันดับแรกจะครองด้วย Bitcoin, Ethereum แต่ในรอบเดือนที่ผ่านมา เหรียญ Stable Coin กลับเติบโตอย่างน่าสนใจ แม้จะอยู่ในช่วงที่เงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าก็ตาม

ADVERTISMENT

นอกจากนี้ จากข้อมูลล่าสุด (ณ 7 พ.ย.2565) ของสำนักงาน ก.ล.ต.ยังรายงานด้วยว่า จำนวนนิติบุคคลต่างประเทศมีมูลค่าการซื้อสุทธิ 16,000 ล้านบาท ขณะที่บุคคลธรรมดาในประเทศ มีการเท “ขาย” คริปโตเคอร์เรนซีมากกว่า “ซื้อ” โดยมียอดซื้อสุทธิเพียง 4,000 ล้านบาท ขณะที่นิติบุคคลในประเทศ มียอดซื้อสุทธิ 6,000 ล้านบาท และบุคคลธรรมดาในต่างประเทศมีการขายสุทธิอยู่ที่ 24,000 ล้านบาท

กูรูมองตลาดคริปโตไทย

“พีรเดช ตันเรืองพร” ประธานสมาคมการค้าผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลไทย (TDO) และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อัพบิต เอ็กซ์เชนจ์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า โดยปกตินักลงทุนรายใหญ่หรือนักลงทุนสถาบันมีความสนใจตลาดคริปโตเคอร์เรนซีมานานแล้ว แต่จากข้อมูลของ ก.ล.ต.เพิ่งเห็นได้อย่างชัดเจน ส่วนหนึ่งเพราะการเข้ามาลงทุนของสถาบันหรือนิติบุคคลต่าง ๆ มีขั้นตอนพอสมควรจึงอาจไม่ใช่เพราะตลาดขาลงจึงเป็นโอกาสในการเข้าซื้อ

“โดยส่วนตัวมองว่าการเข้าสู่ตลาดคริปโตของนักลงทุนสถาบัน ไม่เกี่ยวกับฤดูหนาวคริปโต เพียงแต่เขาใช้เวลาเป็นปีในการดำเนินการ จริง ๆ อาจจะอยากลงทุนตั้งแต่ในช่วงที่ตลาดเป็นขาขึ้นก็ได้ แต่ลากยาวมาจนเข้าสู่ฤดูหนาวคริปโตก็เท่านั้นเอง”

สำหรับจำนวนบัญชีซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลโดยรวมในประเทศปัจจุบันที่มีเกือบ 3 ล้านบัญชีนั้น น่าจะเป็นตัวเลขที่ตกค้างมาตั้งแต่ช่วงที่ตลาดยังเป็นขาขึ้นในปีที่ผ่านมา แต่เทียบกับจำนวนบัญชีที่มีการ “แอ็กทีฟ” ถือว่ามีสัดส่วนลดลง สะท้อนภาพตลาดในจังหวะ “ขาลง” ส่วนการเทรด USDT หรือ Stable Coin ในประเทศไทย โดยปกติจะซื้อขายเพื่อเป็น “ทางผ่าน” ของเงินไปยังกระดานเทรดข้างนอก หรือเป็นการผ่านเข้ามาจากกระดานเทรดนอกเพื่อแปลงเป็นเงินบาทไทย

“ไม่คิดว่า เป็นการซื้อขาย USDT เพื่อเก็งกำไรค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ แม้เดือนที่ผ่านมา ค่าเงินจะมีความผันผวนสูง แต่ถามว่าอาจมีการซื้อดอลลาร์ด้วยการซื้อ USDT หรือเปล่าก็เป็นไปได้ แต่จริง ๆ ตลาด FX ในระดับโลกที่มีการซื้อขายค่าเงิน ใหญ่กว่าตลาดคริปโตมาก จึงไม่น่าเข้ามาเก็งกำไรเงิน USD ด้วย USDT”

“บิตคอยน์” กับดัชนีเศรษฐกิจ

“พีรเดช” กล่าวด้วยว่า ราคาเงินสกุลดิจิทัลอย่าง “บิตคอยน์” เริ่มอิงกับตัวบ่งชี้ทางเศรษฐกิจ หรือตลาดทุนสหรัฐ ตั้งแต่กลางปี 2565 ที่ผ่านมา ต่างจากในช่วงตลาดขาขึ้น “ราคา” จะไม่ได้อิงกับอะไรเลย แต่ในช่วงขาลงจะแนบสนิทกับตัวเลขทางเศรษฐกิจต่าง ๆ เรียกว่า ถ้ากระตุกขึ้นก็ขึ้นด้วยกัน กระตุกลงก็ลงด้วยกัน ตั้งแต่กลางปีเป็นต้นมา เนื่องจากคนมองว่าหุ้นเทคโนโลยีเป็นกลุ่มที่ค่อนข้างมีความเสี่ยง ดังนั้นเวลาดอกเบี้ยปรับตัวสูงขึ้น ธุรกิจที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด คือกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง ขณะที่กลุ่มความเสี่ยงน้อยอย่างทองคำ, น้ำมัน หรือแม้แต่หุ้นวอลมาร์ต เศรษฐกิจแย่แค่ไหนคนก็ยังต้องกินต้องใช้ เป็นต้น

“หุ้นเทคไม่ใช่อย่างนั้น นักลงทุนใช้เงินเย็นลงหุ้นเทค เมื่อสถานการณ์ดูไม่ดี เขาก็มักจะถอนเงินออก นั่นทำให้ราคาบิตคอยน์จึงล้อไปกับดัชนี Nasdaq รวมถึงคริปโตอื่น ๆ ด้วย”

บทเรียนจาก LUNA-FTX

วิกฤตเศรษฐกิจโลกกดดันการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงอย่างคริปโตเคอร์เรนซีอย่างมิอาจหลีกเลี่ยงได้ และก่อให้เกิดวิกฤตลูกใหญ่ และจุดเริ่มต้นของการล่มสลายของระบบนิเวศ Terra LUNA และล่าสุดกรณี FTX

“กรณี FTX เป็นเรื่องที่ไม่คาดคิดมาก่อน เป็นเซอร์ไพรส์ ถามว่าจะเกิดเหตุการณ์ในลักษณะนี้อีกไหมก็ไม่อาจทราบได้ เพราะถ้ารู้ก็จะไม่ใช่เซอร์ไพรส์ ส่วนเรื่องที่รู้แน่ ๆ เช่น เฟด (ธนาคารกลางสหรัฐ) จะขึ้นอัตราดอกเบี้ย เพื่อสู้ภาวะเงินเฟ้อ ถ้าเขาคุมเงินเฟ้ออยู่ก็จะเริ่มชะลอการขึ้นดอกเบี้ย สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่เซอร์ไพรส์ เพราะมีประกาศออกมาอยู่แล้ว”

อย่างไรก็ตาม ในทุกวิกฤตมีบทเรียน

“สิ่งที่ได้ตั้งแต่กรณี LUNA, Defi จนมาถึง FTX คงต้องบอกว่าในโลกคริปโต มีสมมุติฐานกันว่า ตลาดจะขึ้นเรื่อย ๆ แล้วก็จะ leverage เล่นกับความเสี่ยงมาก ๆ เราก็เห็นว่าธุรกิจประเภทนี้ เวลาเกิดวิกฤตขึ้นจะอยู่รอดไม่ได้ หรือเวลาเกิดตลาดหมี (ขาลง) จะไม่รอด ที่ผ่านมามีธุรกิจที่กู้มาแล้วโดน liquidate ค่อนข้างเยอะ”

สำหรับ Upbit โชคดีที่ค่อนข้างระแวดระวัง และไม่มีทางที่จะนำเงินของ “ลูกค้า” ไปใช้อย่างอื่นอยู่แล้ว จึงไม่ได้รับผลกระทบและสามารถผ่านสถานการณ์แย่ ๆ ของตลาดคริปโตเคอร์เรนซีไปได้ ทั้งมองว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในหลายกรณีอาจมีผลต่อการออกกฎระเบียบต่าง ๆ ของหน่วยงานกำกับดูแลที่จะต้องคิดต่อว่าจะป้องกันไม่ให้เกิดวิกฤตแบบนี้ในประเทศไทยได้อย่างไร