1 ปีสูงสุดสู่สามัญ บิตคอยน์ จากวิกฤต LUNA ถึง FTX

บิตคอยน์
(FILES) Photo by Ozan KOSE / AFP

10 พ.ย.ที่ผ่านมา เป็นวันครบรอบ 1 ปีที่สกุลเงินดิจิทัลอันดับหนึ่งของโลก “บิตคอยน์” เคยขึ้นไปทำจุดสูงสุดตลอดกาลที่ราคาสูงถึง 69,000 เหรียญสหรัฐ ต่อ BTC หรือราว 2.1 ล้านบาท ต่อ BTC เป็นจุดสูงสุดทุกด้านทั้งปริมาณการซื้อขาย และพลังของเครือข่ายในการประมวลผลธุรกรรมหรือการขุดเหมืองบิตคอยน์

การพุ่งขึ้นของราคาบิตคอยน์ในเวลานั้นทำให้ตลาดรวมคริปโตเคอร์เรนซีขยับตามขึ้นไปด้วยจนมีมูลค่ารวมกันสูงถึง 3 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ แต่ดูเหมือนว่านับจากนั้นเป็นต้นมาตลาดก็เข้าสู่ช่วงขาลงอย่างแท้จริง

โดยตลอดปี 2565 เป็นต้นมา ตลาดคริปโตเคอร์เรนซีโลกเผชิญสถานการณ์ย่ำแย่มาแล้วหลายระลอก จากความไม่แน่นอนของสภาวะเศรษฐกิจโลก ทั้งจากวิกฤตพลังงานโลก สงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครน และการล่มสลาย Terra LUNA เมื่อเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา ทำให้สกุลเงินดิจิทัล “บิตคอยน์” ร่วงหล่นลงสู่ระดับต่ำกว่า 20,000 เหรียญสหรัฐต่อ BTC เป็นครั้งแรก

ล่าสุดกับกรณีกระดานเทรดสกุลเงินดิจิทัลเบอร์ต้น ๆ ของโลกอย่าง “FTX” ยื่นล้มละลาย เมื่อคืนวันที่ 11 พ.ย.ที่ผ่านมา

นับเป็นวันการฉลองครบรอบปีของการขึ้นสู่จุดสูงสุดด้วยการกลับสู่สามัญ ด้วยราคาต่ำกว่า 16,000 เหรียญสหรัฐ/BTC และทำให้มูลค่าตลาดวูบลงไปต่ำกว่า 8 แสนล้านเหรียญสหรัฐ จนเริ่มเกิดคำถามว่าตลาดคริปโตเคอร์เรนซีจะถึงจุดเสี่ยงล่มสลายอีกครั้งในวันครบรอบ 1 ปีที่เคยขึ้นไปสู่จุดสูงสุด ?

มองปรากฏการณ์

สัญญาณของฤดูหนาวคริปโตเคอร์เรนซี หรือการที่ตลาดซบเซาไม่หวือหวาเริ่มปรากฏชัด เดือน ก.พ. 2565 ในช่วงที่เกิดสงครามรัสเซียและยูเครน จุดระเบิดวิกฤตพลังงาน ทำให้ต้นทุนการทำเหมืองบิตคอยน์-คริปโตเคอร์เรนซีสูง

ขณะเดียวกัน พลังงานและราคาเชื้อเพลิงที่แพงขึ้นมาก ผลักดันให้ค่าครองชีพและอัตราเงินเฟ้อถีบตัวสูงสุดในรอบ 40 ปี ทำให้รัฐบาลและธนาคารกลางทั่วโลกเร่งนโยบายด้านการเงิน ทั้งมาตรการดอกเบี้ยนโยบาย เพื่อสกัดพิษเงินเฟ้อ ส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจ และกดดันสินทรัพย์เสี่ยงทั่วโลก ซึ่ง “คริปโตเคอร์เรนซี” ได้รับผลกระทบโดยตรง

ด้วยเหตุนี้ราคา “บิตคอยน์” และ “คริปโตเคอร์เรนซี” จึงทยอยปรับตัวลงทำจุดต่ำสุดใหม่อย่างต่อเนื่อง ตามแรงกดดันของเศรษฐกิจมหภาค ก่อหวอดระเบิดลูกใหม่ที่ก่อนหน้านี้มี “กิมมิก” ที่ทำให้เกิดขาขึ้น นั่นคือการเกิดขึ้นของบริการด้านการเงินแบบกระจายศูนย์ หรือ “DeFi”

ในช่วงตลาดขาขึ้น สถาบันการเงินและนักลงทุนกระเป๋าหนักทั้งหลาย ต่างเข้ามาลงทุนในตลาดคริปโตเคอร์เรนซีจำนวนมาก ผ่านแพลตฟอร์มต่าง ๆ ทั้งด้วยกลไกปกติ และกลไกการเงินแบบกระจายอำนาจหรือ DeFi ในการ leveraged หรือกู้เพื่อซื้อ และไปลงทุนในโปรเจ็กต์ DeFi ที่เกิดใหม่จำนวนมาก

ซึ่งหลักทรัพย์ที่ใช้ค้ำประกันการกู้ คือ “บิตคอยน์” และเหรียญอันดับ 2 “อีเทอเรียม” ดังนั้นการที่ราคา “บิตคอยน์” ร่วงลงต่อเนื่องยาวนาน ทำให้หลักทรัพย์ค้ำประกันเสื่อมมูลค่า จึงลากตลาดคริปโตเคอร์เรนซีทั้งหมดเข้าสู่หุบเหวหายนะ

ย้อนรอยระเบิด LUNA

เดือน พ.ค. 2565 หายนะแรกเริ่มต้น เมื่อโปรเจ็กต์ Terra LUNA ที่ใช้กลไกการออกเหรียญ Stable Coin ชื่อ UST ด้วยการเผาเหรียญ LUNA ของตัวเองในราคาเท่ากับ 1 ดอลลาร์ เพื่อสร้าง 1UST เข้าซื้อบิตคอยน์จำนวนมหาศาล เพื่อหวังเป็นหลักประกันในการออกเหรียญ

เมื่อราคาบิตคอยน์ร่วงต่อเนื่อง ส่งผลให้ LUNA หล่นต่อเนื่องเช่นกัน เมื่อกลไกที่วางไว้ไม่ทำงาน ส่งผลให้ UST หลุดการตรึงมูลค่ากับดอลลาร์ และลากระบบนิเวศ Terra LUNA พังครืน

วิกฤต LUNA ยังลากสถาบันการเงินและกองทุนต่าง ๆ ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ให้ติดร่างแหไปด้วย เนื่องจากหลักทรัพย์ที่ใช้ค้ำประกันสูญเสียมูลค่าต่ำกว่าเงินที่กู้ และมีการแห่ถอนสินทรัพย์จากลูกค้าและนักลงทุนออกจากแพลตฟอร์ม เกิด “วิกฤตสภาพคล่อง” และโดน “บังคับขายหลักทรัพย์” จึงล้มครืนทั้งวง สร้างวิกฤตศรัทธาทั่วตลาด ซ้ำเติมราคาที่ตกต่ำอยู่แล้วให้ตกต่ำลงไปอีก

พ.ค.-มิ.ย. 2565 เป็น 2 เดือนที่กองทุนและแพลตฟอร์มที่ลงทุนคริปโตจำนวนมาก เช่น Three Arrow Capital, Voyager Digital, Celsius Network และอื่น ๆ ทยอยประกาศล้มละลาย ฉุดราคา “บิตคอยน์” ดิ่งลงมาที่ 17,000 เหรียญสหรัฐ

ต่ำกว่าจุดสูงสุดของวัฏจักรขาขึ้นรอบก่อน (ปี 2559-2560) มูลค่ารวมของตลาดคริปโตเคอร์เรนซีทั้งหมดหล่นวูบจาก 3 ล้านล้านเหรียญสหรัฐเหลือไม่ถึง 9 แสนล้านเหรียญสหรัฐ สร้างความหวาดหวั่นว่านี่คือจุดสิ้นสุดของตลาด “คริปโตเคอร์เรนซี”

ตลาดคริปโตเคอร์เรนซีเป็นตลาดที่ไร้พรมแดน ดังนั้นผลพวงการล้มละลายของกองทุนต่าง ๆ ลุกลามถึงประเทศไทย ดังกรณี Zipmex Global ศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลที่ให้บริการในประเทศไทย อินโดนีเซีย สิงคโปร์ และออสเตรเลีย ระงับการถอนเงินจากบัญชีซื้อขายปกติ และบัญชีพิเศษ Z Wallet ซึ่งใช้สำหรับการฝากคริปโต รับดอกเบี้ยในผลิตภัณฑ์ชื่อ ZipUp+

เนื่องจากบริษัทแม่ที่สิงคโปร์นำเงินในผลิตภัณฑ์ดังกล่าวไปฝากไว้ที่ Celsius Network และ Babel Finance เป็นมูลค่ารวมกันกว่า 2,000 ล้านบาท ปัจจุบันยังไม่สามารถคืนเงินให้ลูกค้าได้

FTX โดมิโนเอฟเฟ็กต์ครั้งใหม่

ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาเกิดความปั่นป่วนอีกครั้ง เมื่อกระดานเทรดยักษ์อันดับสองของโลก FTX เผชิญวิกฤตสภาพคล่อง จนต้องร้องขอให้ Binance กระดานยักษ์คู่แข่งช่วยอุ้มกิจการ แต่ดีลล้มไปในชั่วข้ามคืน จนนำไปสู่การยื่นล้มละลายเมื่อวันที่ 11 พ.ย.ที่ผ่านมา ตรงกับวันครบรอบจุดสูงสุดตลอดกาลของบิตคอยน์และคริปโตเคอร์เรนซี

“ศุภกฤษฎ์ บุญสาตร์” นายกสมาคมสินทรัพย์ดิจิทัลไทย มองกรณี FTX ดังกล่าวว่า จะมีโดมิโนเอฟเฟ็กต์ด้วยเช่นกัน และเริ่มเกิดขึ้นแล้ว เช่น BlockFi ธนาคารสินทรัพย์ดิจิทัลระงับการถอน และล่าสุด Crypto.com 1 ใน 5 กระดานเทรดที่ใหญ่ที่สุดในโลกระงับการถอนเงินเช่นกัน

“น่าจะมีตามมาอีก เพราะเมื่อสภาพคล่องมีปัญหาก็จะมีผลต่อความเชื่อมั่น เมื่อคนไม่เชื่อมั่นจะเกิดลักษณะคล้าย ๆ ที่คนแห่ถอนเงิน คือ เราไม่รู้เลยว่าเขาใช้เงินลูกค้าไปทำอะไรบ้าง เราเห็นเขาสปอนเซอร์การแข่งขันฟุตบอล เห็นทำการตลาดมากมาย และให้ดอกเบี้ยมากมายในกระดานเทรด

แต่ไม่รู้เอาเงินตรงไหน เงินลูกค้าหรือเปล่า เราไม่รู้เลย แม้ Crypto.com กับ FTX ไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกันโดยตรง แต่อะไรที่ทำให้เขาขาดสภาพคล่องตรงนี้น่าสนใจ”

โดมิโนเอฟเฟ็กต์รอบนี้จะส่งผลกระทบแค่ไหน (ยัง) ไม่มีใครรู้ แต่เป็นไปได้แน่นอนบนโลกการเงินดิจิทัลไร้พรมแดน