เมื่อ FTX ล้มละลาย ถึงเวลาวางกฎคุม คริปโต ?

FTX
คอลัมน์ : ชีพจรเศรษฐกิจโลก
ผู้เขียน : ไพรัตน์ พงศ์พานิชย์

การยื่นล้มละลายของ FTX แพลตฟอร์มหรือกระดานเทรดเงินคริปโตที่ใหญ่ที่สุดอันดับ 3 หรือ 4 ของโลก ส่งผลสะเทือนมหาศาล ชนิดยากที่จะมองข้ามไปง่าย ๆ ได้

เหตุผลหนึ่งเพราะนี่ไม่ใช่การล้มละลายของกิจการที่เกี่ยวเนื่องกับคริปโตทั่ว ๆ ไป แต่เป็นกิจการคริปโตระดับหัวแถว ได้รับความเชื่อถือไว้วางใจ ที่ก่อตั้งโดยหนึ่งในผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็น “ตำนาน” ของวงการอย่าง “แซม แบงค์แมน-ฟรีด” หรือ “เอสบีเอฟ” ที่เป็นมหาเศรษฐีพันล้านเหรียญขณะที่อายุยังไม่ถึง 30 ปี

และเหตุการณ์การล่มสลายของ FTX ยังเกิดขึ้นแบบ “สายฟ้าแลบ” ใช้เวลาเพียงไม่ถึง 10 วันก็เป็นที่ชัดเจนว่า FTX หนึ่งในแพลตฟอร์มเทรดคริปโตที่เติบโตเร็วที่สุดในโลก ไม่มีเงินเหลือมากพอที่จะใช้คืนให้กับลูกค้าที่ลงทุนอยู่กับบริษัท

ทุกอย่างเกิดขึ้นเร็ว สถานการณ์ที่เริ่มต้นจากข้อเขียนในเว็บข่าว CoinDesk ทรุดตัวลงรวดเร็วเกินคาดหมายชนิดที่แม้แต่ผู้เชี่ยวชาญหรือผู้สื่อข่าวที่เป็นต้นตอของรายงานข่าวก็ไม่คาดคิดเช่นกัน

เร็วเสียจนทุกคนตั้งคำถามขึ้นเหมือนกันว่า เกิดอะไรขึ้นกันแน่ ? อะไรคือสาเหตุที่แท้จริงของการล้มละลายและมีอะไรที่ไม่ชอบมาพากลอยู่เบื้องหลังหรือไม่ ?

ทั้งหมดเริ่มต้นขึ้นเมื่อ “เอียน อลิสสัน” ผู้สื่อข่าวของ CoinDesk เกิดไปได้บัญชีงบดุลของ อลาเมดา รีเสิร์ช (Alameda Research) มาตรวจสอบ ในบทความที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 2 พ.ย.ที่ผ่านมา ชี้ให้เห็นว่าทรัพย์สินจำนวนมากในงบดุลของ อลาเมดา ไม่ได้เป็นตัวเงินหรือทรัพย์สินจริง ๆ แต่เป็น โทเค็น FTT

ปัญหาจะไม่เกิดขึ้นถ้า อลาเมดา รีเสิร์ช ที่เป็นกองทุนประเภทเฮดจ์ฟันด์ กับ FTX เป็นบริษัทที่ แซม แบงค์แมน-ฟรีด ก่อตั้งและร่วมก่อตั้งมาเหมือน ๆ กัน ในขณะที่ FTT ก็ไม่ใช่อะไร เป็นโทเค็นที่ออกโดย FTX เองอีกต่างหาก

ข่าวเริ่มสะพัดในวันที่ 4 พ.ย.ว่า FTX ขาดสภาพคล่องหลังจากนักลงทุนเริ่มกังขามากขึ้นว่า ถ้างบดุลของอลาเมดา เต็มไปด้วยโทเค็น แล้วในบริษัทอื่น ๆ ที่เหลือจะเป็นอะไร ไม่ได้เป็นทรัพย์สินในโลกแห่งความเป็นจริงใช่หรือไม่ ?

แม้ถึงตอนนั้นสถานการณ์ของ FTX ก็ยังไม่เลวร้ายเท่าใดนัก ถ้าหากไม่บังเกิดเหตุการณ์หนึ่งขึ้นตามมา นั่นคือการประกาศ ของ “ไบแนนซ์” แพลตฟอร์มเทรดคริปโตที่ใหญ่ที่สุดในโลก ก่อตั้งโดย จ้าว ฉางเผิง ออกมาประกาศเทขาย FTT ที่ถือครองอยู่ทั้งหมด รวมมูลค่า 530 ล้านดอลลาร์ทิ้ง

ผลก็คือนักลงทุนรายอื่น ๆ แห่พากันถอนเงินจาก FTX ข่าวบางสำนักระบุว่า เฉพาะ 6 พ.ย.วันเดียวมีความพยายามถอนเงินออกมากถึง 5,000 ล้านดอลลาร์

ต่อด้วยวันที่ 7 พ.ย.อีก 650 ล้านดอลลาร์ ทั้งหมดมากเกินกว่าที่ FTX จะรับได้จำเป็นต้องหยุดดำเนินการ

นับตั้งแต่ 4 พ.ย.เป็นต้นมา มูลค่าเหรียญ FTT ของ FTX ร่วงลงถึง 90%

สถานการณ์ของ FTX เปลี่ยนจากย่ำแย่เป็นเลวร้ายถึงขีดสุด เมื่อ แซม แบงค์แมน-ฟรีด กับ จ้าว ฉางเผิง แห่งไบแนนซ์ ร่วมลงนามในหนังสือแสดงเจตจำนงแบบไม่ผูกมัด (nonbinding) ในวันที่ 8 พ.ย.จะเข้าซื้อกิจการ FTX เพียงเพื่อที่จะถอนตัวในวันรุ่งขึ้น

ก่อให้เกิดข่าวหลายกระแสว่า บัญชีของ FTX ขาดเงินรองรับอยู่ระหว่าง 10,000-50,000 ล้านดอลลาร์ บางกระแสระบุว่า เอสบีเอฟ เองยอมรับกับนักลงทุนว่า เงินสดขาดมือถึง 8,000 ล้านดอลลาร์ หากไม่มีเงินทุนเข้ามาเพิ่ม ก็ต้องล้มละลาย ถึงเช้าวันที่ 11 พ.ย. FTX ก็ยื่นล้มละลาย ในขณะที่ แซม แบงค์แมน-ฟรีด ลาออกจากซีอีโอ

จากมหาเศรษฐีที่เคยถูกประเมินว่ามีทรัพย์สินสูงถึง 26,000 ล้านดอลลาร์ ชั่ววันเดียวมูลค่าลดลงถึง 94% กลายเป็นสถิติใหม่เช่นกัน

ผลกระทบไม่ได้จำกัดอยู่ที่ FTX แม้แต่บิตคอยน์ยังร่วงลงหนักนับตั้งแต่วันที่ 8 พ.ย.เรื่อยมา พอถึง 14 พ.ย. ก็ลงไปอยู่ต่ำกว่า 16,000 ดอลลาร์ ต่ำสุดในรอบ 2 ปี

ปัญหาใหญ่ที่สุดยังคงเป็นเรื่องของ “ความน่าเชื่อถือ” เพราะแทนที่การล้มละลายจะสร้างความกระจ่างชัดให้เกิดขึ้น กลับเกิดคำถามมากมายที่ไม่มีคำตอบ

แน่นอนว่า สาเหตุหลักมาจากการที่ อลาเมดา รีเสิร์ช “ยืม” เงินลงทุนของนักลงทุนจาก FTX หลายพันล้านดอลลาร์มาเทรด แล้วนำโทเค็น FTT มาใช้เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน ซึ่งถือเป็นการกระทำผิดกฎหมาย

คำถามคือ FTX ทำเพียงแค่นั้นจริงหรือ ทำมาแล้วมากแค่ไหน มีกี่บริษัทที่โยงใยอยู่กับ FTX รายงานข่าวบางกระแสระบุว่า เพียงไม่ถึง 24 ชั่วโมงหลัง FTX ยื่นล้มละลาย มีอีกมากถึง 134 บริษัททยอยยื่นล้มละลายตามมา

กรณี FTX ถือเป็นบทเรียนที่มีค่ามากพอสำหรับนักลงทุนสถาบัน ไม่ว่าจะเป็น เทมาเส็ก กองทุนเพื่อความมั่งคั่งของสิงคโปร์ หรือซอฟต์แบงก์ ของญี่ปุ่น และกองทุนบำเหน็จบำนาญครูในแคนาดา ล้วนตกเป็นเหยื่อของ FTX ทั้งสิ้น และคงขยาดที่จะลงทุนในคริปโตต่อไป

นักวิเคราะห์บางคนไปไกลถึงขนาดว่า นี่อาจเป็นจุดเริ่มต้นของการเข้ามาวางกฎเกณฑ์เพื่อควบคุมคริปโตเคอร์เรนซีโดยเฉพาะ เพราะทั้ง ก.ล.ต. และกระทรวงยุติธรรมสหรัฐ กำลังตรวจสอบกรณีนี้อยู่อย่างเข้มข้น

หากเป็นเช่นนั้นจริง ก็นับเป็นโศกนาฏกรรมสำหรับอุตสาหกรรมนี้โดยแท้