เจาะอินไซต์ เทรนด์ประกันภัยรถ ปี 2566 อาจถูกลง 30%

รถยนต์

Priceza Money เผยข้อมูลเทรนด์ประกันภัยรถยนต์มีแนวโน้มถูกลงกว่า 30% จากการเติบโตแผนประกันเฉพาะบุคคล การขายโดยตรง และพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป

วันที่ 4 ธันวาคม 2565 นายสิรวิชญ์ ฉายะวาณิชย์ Head of Priceza Money แพลตฟอร์มเว็บไซต์เปรียบเทียบประกันรถยนต์ และ Insurance Content Creator เปิดเผยข้อมูลอินไซต์ (Insight) ที่ได้จากการร่วมงานกับบริษัทประกันหลายรายที่แสดงแนวโน้มของวงการประกันภัยรถยนต์ หลังจากวิกฤตโควิด-19 หรือช่วงเวลาระหว่างปี พ.ศ. 2562 ที่ส่งผลกระทบต่อเนื่องถึง พ.ศ. 2565 และคาดการณ์ว่าจะเปลี่ยนพฤติกรรมการซื้อและการขายประกันรถยนต์ในประเทศไทยไปอีกรูปแบบหนึ่ง ซึ่งจะส่งผลดีต่อผู้บริโภคในด้านราคาประกันรถยนต์อาจจะถูกลง 30-40% ในช่วงปี 2566 เป็นต้นไป 

“ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา วิกฤตโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบต่อวงการประกันภัยในหลาย ๆ ด้าน นอกจากนั้นยังส่งผลกระทบของพฤติกรรมการซื้อสินค้าประกันรถยนต์ของคนไทยอีกด้วย ซึ่ง Priceza Money ได้นำข้อมูลอินไซต์จากการที่ได้ร่วมงานกับบริษัทประกันหลายแห่งของไทย มาสรุปเป็น 3 เทรนด์หลัก ๆ ได้แก่ เทรนด์ Personalize insurance, เทรนด์การขายตรงโดยบริษัทประกัน และพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปหลังการล้มละลายของบริษัทประกันช่วงโควิด-19″ 

  1. เทรนด์ Personalize insurance

นายสิรวิชญ์ระบุว่า ก่อนหน้าวิกฤตโควิด-19 คนไทยคุ้นเคยกับการซื้อประกันรถยนต์แบบคุ้มครองแบบครอบคลุม หรือผลิตภัณฑ์ประกันภัยรถยนต์แบบดั้งเดิม ที่เฉลี่ยราคา 10,000-20,000 บาท แต่พอถึงช่วงโควิด-19 ระบาด คนส่วนใหญ่ที่เคยใช้รถยนต์อย่างเคยชินกันทุกวัน แทบจะไม่ได้ใช้รถยนต์เลย ทำให้หลาย ๆ คนเริ่มรู้สึกไม่คุ้มค่าที่จะต้องจ่ายค่าประกันภัยรถยนต์ในราคาระดับนี้อีกต่อไป

มุมมองที่เปลี่ยนไป จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เกิดกระแสความสนใจประกันรถยนต์แบบตามความต้องการของผู้ใช้ (Personalize insurance) ขึ้นมา 

จากสถิติของ Priceza Money จะเห็นแนวโน้มของ “ประกันเติมไมล์” หรือประกันที่คุ้มครองตามระยะทางการขับรถเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดในช่วงโควิด-19 ระบาด

ADVERTISMENT

โดยปริมาณการเข้าค้นหาและเปรียบเทียบประกันภัยรถยนต์แบบดังกล่าว มีอัตราการเพิ่มขึ้นของความสนใจจากปี 2562 เป็น 210% ในช่วงปี 2563 และเพิ่มจากปี 2563 อีก 85% ในช่วงปี 2564 ถึงปัจจุบัน ในขณะที่ฝั่งยอดขายของแผนประกันเติมไมล์เพิ่มขึ้น 10 เท่าระหว่างปี 2563-2564

นอกจากนี้ ประกันรถยนต์แบบเปิด-ปิด ที่คุ้มครองตามชั่วโมงการขับรถ ก็มีคนค้นหาใน Google มากขึ้นในช่วงเวลาเดียวกันด้วย ขณะเดียวกันประกันรถยนต์ตามโปรไฟล์ผู้ขับก็เป็นอีกบริษัทที่มีอัตราการเติบโตสูงขึ้นในระหว่างช่วงโควิด-19

ADVERTISMENT

โดยข้อมูลการค้นหาคำว่า ประกันเปิด-ปิด ในปี 2563 เพิ่มขึ้น 72.79% และลดลง -2.31 ในปี 2564 แต่ยังถือว่าอยู่ในอัตราที่สูงกว่าก่อนโควิดมาก

เทรนด์ประกันรถยนต์ตามความต้องการของผู้ใช้ (Personalize insurance) ในต่างประเทศถือเป็นเรื่องปกติสำหรับผู้ใช้ประกันรถยนต์มาหลายปีแล้ว เช่น https://www.bymiles.co.uk/ ประกันรถยนต์จากประเทศอังกฤษที่คิดราคาเบี้ยตามระยะทางการขับขี่ https://www.tesla.com/insurance ประกันรถยนต์ของ tesla มีการให้ reward เป็นส่วนลดค่าประกัน ถ้าหากผู้ขับขี่ขับรถแบบปลอดภัย

ข้อดีของประกันรถยนต์ตามความต้องการของผู้ใช้ (Personalize insurance) มีราคาเฉลี่ยที่ถูกกว่าประกันรถยนต์แบบคุ้มครองจัดเต็มถึง 30-40% (ข้อมูลจาก Priceza Money)

ตัวอย่างของประกันรถยนต์ตามความต้องการของผู้ใช้ (Personalize insurance) ไนไทย เช่น ประกันรถยนต์ TIP Shock Price : ลดความคุ้มครองที่ไม่เป็นบางส่วนลงมา ทำให้ราคาประกันถูกลง ประกันตามโปรไฟล์ผู้ขับขี่ Roojai : ยิ่งอายุมากยิ่งราคาถูก เพราะบริษัทประกันมองว่ามีความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุน้อย ประกันระยะสั้นคุ้มครอง 1-3 เดือน : สำหรับคนที่ไม่ต้องการจ่ายเบี้ยประกันรถยนต์เป็นก้อนใหญ่ ๆ เป็นต้น

ในปัจจุบันหลังจากวิกฤตโควิด-19 ผ่านไปแล้ว แต่ประกันรถยนต์ตามความต้องการของผู้ใช้ (Personalize insurance) ก็ยังมีอัตราเติบโตสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องครับ

“เรามองว่าอนาคตในปี 2566 ที่จะถึง และปีต่อ ๆ ไป จะมีคนที่สนใจและเลือกซื้อประกันรถยนต์ตามความต้องการของผู้ใช้ (Personalize insurance) มากขึ้นเรื่อย ๆ อย่างแน่นอน จากราคาที่ถูกลง และการใช้งานที่เหมาะสมกับแต่ละคนมากขึ้น ยังไม่รวมการมาถึงของรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ที่จะสามารถเก็บข้อมูลการขับขี่ได้ละเอียดขึ้น ทำให้บริษัทประกันสามารถบริหารความเสี่ยงในการเลือกรับประกันภัยให้กับลูกค้าแต่ละคนได้ดีขึ้นอีกด้วยนั่นเอง” นายสิรวิชญ์กล่าว  

2. Direct to customers

เทรนด์ต่อมา คือ การขายประกันรถยนต์ตรงจากบริษัทประกัน (Direct to customers) ประกันรถยนต์ในอดีตมาถึงปัจจุบัน สัดส่วนการขายส่วนใหญ่ถึง 90% จะเป็นการซื้อขายผ่านตัวแทนประกันรถยนต์ (Agent) หรือ นายหน้าประกันรถยนต์ (Broker)

โดยบริษัทประกันรถยนต์จะทำหน้าที่เป็น back office ให้กับตัวแทนและนายหน้าเท่านั้น แต่ด้วยผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 ที่ทำให้พฤติกรรมการซื้อสินค้าต่าง ๆ ของคนไทยเปลี่ยนไป เริ่มคุ้นเคยกับการ “ซื้อออนไลน์” กันมากขึ้น

ทำให้บริษัทประกันรถยนต์หลาย ๆ บริษัทมองเห็นโอกาสที่จะเข้าถึงลูกค้าโดยตรงผ่านช่องทางออนไลน์ของตัวเอง ซึ่งจากสถิติของ คปภ. หรือสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย จะเห็นได้เลยว่าการซื้อประกันรถยนต์ออนไลน์โตขึ้นอย่างก้าวกระโดดในช่วงโควิด-19 

โดยอัตราการเติบโตในปี 2563 เพิ่มขึ้นจากปี 2562 ที่ 223.41% ขณะที่ปี 2021 เติบโตลดลง -33.87% จากปี 2563 แต่ยังคงแสดงให้เห็นเเนวโน้มขาขึ้นของการซื้อประกันออนไลน์

เมื่อประกอบกับการขายประกันรถยนต์ตามความต้องการของผู้ใช้ (Personalize insurance) ที่ทำให้เบี้ยประกันรถยนต์ถูกลง 30-40% ทำให้ประกันรถยนต์กลุ่มนี้ไม่ได้เป็นที่นิยมสำหรับตัวแทนและโบรคเกอร์มากนัก เพราะได้ค่านายหน้า (commission) น้อยลงอย่างมาก

เมื่อพิจารณาจากทั้ง 2 ปัจจัยที่เกิดขึ้น ทำให้บริษัทประกันรถยนต์มีโอกาสในการสร้างช่องทาง Direct to customers ได้ โดยพยายามหลีกเลี่ยงความขัดแย้งกับตัวแทนและนายหน้าที่เป็นช่องทางการขายหลัก ๆ ให้มากที่สุด

โดยกรณีศึกษาที่เป็นตัวอย่างที่ดีอย่างบริษัท ไทยวิวัฒน์ประกันภัย ที่เน้นขายประกันรถยนต์ตามความต้องการของผู้ใช้ (Personalize insurance) อย่างเดียวในหน้าเว็บ Thaiviat.co.th และยกประกันของไทยวิวัฒน์ที่มีความคุ้มครองแบบจัดเต็มให้ตัวแทนและนายหน้าขาย เพื่อพยายามให้เกิดความขัดแย้งน้อยที่สุด

อีกกรณีศึกษาคือ ทิพยประกันภัย ที่เปิดตัวเน้นขายประกันรถยนต์แบบ Direct to customers ในทุก ๆ แผนประกัน โดยข้อดีคือทำให้ราคาประกันรถยนต์ของทิพยประกันภัยดึงดูดลูกค้ามาก เพราะเอาค่า commission ที่จะให้ตัวแทนหรือนายหน้า มาเป็นส่วนลดให้ลูกค้าแทน ส่วนข้อเสียก็ทำให้เกิดความขัดแย้งกับตัวแทนและโบรกเกอร์ ทำให้ตัวแทนและโบรกเกอร์ในปัจจุบันเลือกที่จะขายประกันรถยนต์ของทิพยประกันภัยเป็นตัวเลือกท้าย ๆ

และสุดท้าย บริษัทประกันยักษ์ใหญ่ยอดขายอันดับ 1 อย่าง วิริยะประกันภัย ที่ช่องทางการขายในอดีตและปัจจุบันเป็นการขายผ่านตัวแทนและนายหน้าเป็นส่วนใหญ่ ก็ได้ลงมาทำการตลาดเองอย่างเงียบ ๆ ผ่านการทำ SEO (Search Engine Optimization) และการสร้าง content ที่มีสาระให้ลูกค้า ตั้งแต่ปลายปี 2021 เพื่อดึงลูกค้าเข้าเว็บ viriyah.com ที่มีระบบการซื้อประกันออนไลน์ได้โดยตรงผ่านบริษัทเอง

โดยยอด Traffic ของเว็บไซต์วิริยประกันภัยเติบโตแบบ Organic จากเดือนสิงหาคม 2564-สิงหาคม 2022 จากหลักร้อยถึงพันครั้งต่อเดือนเป็น 1.47 แสนครั้งต่อเดือน

“ถ้าเรามองภาพรวมในประเทศไทยในปัจจุบัน ช่องทางการขายประกันรถยนต์แบบ Direct to customers มีสัดส่วนราว ๆ 1% จากช่องทางการขายประกันรถยนต์ทั้งหมดเท่านั้น ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศสหรัฐอเมริกา ที่มีสัดส่วนการซื้อแบบ Direct to customers เฉลี่ยสูงถึง 20% และในสหราชอาณาจักร (UK) ก็มีสัดส่วนเฉลี่ยสูงถึง 35% ก็อาจจะหมายความว่าช่องทาง Direct to customers ในประเทศไทยยังมีโอกาสที่จะเติบโตอีกเยอะมาก ๆ” นายสิรวิชญ์กล่าว  

3. พฤติกรรมหลังโควิด-19

ข้อมูลจาก Priceza Money ระบุว่า ช่วงก่อนโควิด-19 ถึง ระหว่างโควิด-19 พฤติกรรมการเลือกซื้อประกันรถยนต์ของลูกค้าจะเลือกจากการเน้นดู “ราคาถูก” เป็นหลัก เนื่องจากลูกค้ายังไม่ได้ตระหนักถึงความแตกต่างกันของบริษัทประกันแต่ละแห่ง จึงเน้นว่า “ที่ไหนขายถูก ก็เลือกที่นั่น”

ในช่วงปี 2562-2564 บริษัทประกันรถยนต์ที่ลูกค้านิยมเลือกมากที่สุดคือ สินมั่นคงประกันภัย ไทยศรีประกันภัย และรู้ใจประกันภัย ที่มีเบี้ยประกันรถยนต์ชั้น 1 เฉลี่ยที่ราคา 9,000-12,000 บาท

แต่พอถึงช่วงปลายปี 2564 เข้าปี 2565 เกิดเหตุการณ์ที่มีผลกระทบมาจากโควิด-19 นั่นก็คือ “ประกันโควิด-19” ที่ทำให้บริษัทประกันหลาย ๆ บริษัทถึงกับต้องปิดกิจการ ทิ้งให้ลูกค้าที่เคลมประกันโควิดรอเงินค่าเคลมกันมาถึงปัจจุบัน ส่งผลกระทบต่อความตระหนักถึงความสำคัญของบริษัทประกันภัยขึ้นมาทันที หลาย ๆคนเอาบริษัทที่ตัวเองทำประกันโควิดด้วยแล้วจ่ายเร็ว เคลมได้ อย่างวิริยะประกันภัย มาเปรียบเทียบว่าไว้ใจได้ มีความน่าเชื่อถือ ไม่ทิ้งลูกค้า

ดังนั้นสถิติการซื้อประกันรถยนต์ของลูกค้าในปี 2565 ถึงปัจจุบัน บริษัทที่มีชื่อเสียงที่ดี มีความน่าเชื่อถือ อย่างวิริยะประกันภัย และธนชาติประกันภัยในเครือของธนาคาร TTB ที่ถึงแม้จะขายเบี้ยประกันรถยนต์ที่แพงกว่าเจ้าอื่น ๆ ได้รับความนิยมจากลูกค้าเพิ่มขึ้นเต็ม ๆ

ราคาเบี้ยประกันรถยนต์ชั้น 1 ที่ลูกค้าเลือก โดยเฉลี่ยในปี 2565 เพิ่มสูงขึ้นเป็น 15,000-18,000 บาท โดยบริษัทยอดนิยมที่ถูกเลือกมากที่สุดคือ วิริยะประกันภัย ธนชาติประกันภัย กรุงเทพประกันภัย สวนทางกับบริษัทที่กำลังฟื้นฟูกิจการอยู่อย่างสินมั่นคงประกันภัย ที่ถึงแม้จะยังขายประกันรถยนต์ในราคาที่ถูกมาก ๆ  (เฉลี่ย 9,000 บาท) แต่ลูกค้าหลาย ๆ คนก็เลือกที่จะไม่ไว้วางใจที่จะซื้อประกันด้วย

โดยแนวโน้มของเทรนด์ “การเลือกบริษัทประกันก่อนราคา” จะดำเนินต่อไปในปีหน้าอย่างแน่นอนซึ่งบริษัทประกันขนาดเล็กที่ไม่ได้มีชื่อเสียงมาอย่างยาวนานก็จะต้องใส่ใจในเรื่องของบริการและการรับประกันคุณภาพให้ลูกค้ามั่นใจมากขึ้น แทนที่จะสนใจแต่ราคาถูกอย่างเดียว และบริษัทใหญ่ ๆ ก็จะได้เปรียบในการแข่งขันไปอีกสักพักอย่างแน่นอน