อลหม่านบิ๊กดีลเขย่า กสทช. “ทรู-ดีแทค” ถึงปม “บอลโลก”

กสทช.

สำหรับปีเสือ 2565 ที่เพิ่งผ่านพ้นไป เป็นปีที่บทบาท หน้าที่ และการทำงานของ “กสทช.” หรือคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้รับการความสนใจอย่างมาก ตั้งแต่ กสทช.ชุดใหม่เริ่มเข้ามาทำงาน

แม้จะเริ่มต้นด้วยการมี กรรมการ 5 คน จากที่ต้องมีทั้งหมด 7 คน

โดยงานใหญ่งานแรกของ 5 กสทช.คือการพิจารณาบิ๊กดีลควบรวมระหว่าง 2 บริษัทสื่อสารยักษ์ใหญ่ของไทย “ทรูและดีแทค” ซึ่งเป็นดีลที่อยู่ในความสนใจ และเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง ทั้งก่อน และหลังการลงมติ

มีความเคลื่อนไหวจากฝ่ายต่าง ๆ ทั้งนักวิชาการ, ภาคประชาสังคม และการเมือง ออกมาคัดค้านการควบรวมอย่างต่อเนื่อง

กดปุ่มบิ๊กดีลฝ่าเสียงค้าน

ย้อนกลับไปปลายปี 2564 ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้น ครั้งนั้นกลุ่มซีพี และเทเลนอร์ บริษัทแม่ของทั้งทรู และดีแทค ได้ออกมายอมรับร่วมกันว่า ทั้งคู่กำลังพิจารณาถึงความร่วมมือทางธุรกิจอย่างเท่าเทียมกันในฐานะ “Equal Partnership” เพื่อปรับโครงสร้างธุรกิจสู่การเป็นบริษัทเทคโนโลยี (Technology Company) โดยระบุว่าจะถือหุ้นอย่างเท่าเทียมกันในบริษัทใหม่ที่จะร่วมกันสร้างขึ้น

แต่เนื่องจากเป็นรอยต่อของการ แต่งตั้ง “กสทช.ชุดใหม่” กว่าจะเริ่มได้ก็ล่วงเลยมาเกือบปี โดยในวันที่ 20 ต.ค.2565 ที่ประชุมคณะกรรมการ กสทช. มีมติเสียงข้างมากรับทราบการควบรวมธุรกิจ “ทรูและดีแทค” แบบมีเงื่อนไข โดยระบุว่าจะกำหนดเงื่อนไข/มาตรการเฉพาะเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค และพัฒนาบริการโทรคมนาคม

ซึ่งในขณะนั้น บอร์ด กสทช. ที่พิจารณาดีลนี้มีทั้งหมด 5 คน ได้แก่ นายแพทย์สรณ บุญใบชัยพฤกษ์, นายต่อพงศ์ เสลานนท์, ดร.ศุภัช ศุภชลาศัย, ศาสตราจารย์ ดร.พิรงรอง รามสูต และพลอากาศโท ดร.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ

เมื่อมีการลงคะแนน ผลออกมาเท่ากันที่ 2:2:1 เนื่องจากพลอากาศโท ดร.ธนพันธุ์ งดออกเสียง เป็นเหตุให้ประธานในที่ประชุมต้องใช้อำนาจตามข้อ 41 ของระเบียบ กสทช. ว่าด้วยข้อบังคับการประชุม กสทช. พ.ศ. 2555 ออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งเสียงเพื่อชี้ขาด จึงออกมาเป็นมติเสียงข้างมาก “3:2”

ทำให้ตัวแทนสภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) ที่คัดค้านการควบรวมมาโดยตลอดยื่นฟ้องกรรมการ กสทช.ต่อศาลปกครอง ให้เพิกถอนมติ “รับทราบ” การควบรวมกิจการ โดยระบุว่าจะส่งผลให้เกิดผู้เล่นรายใหม่ที่มีอำนาจเหนือตลาด และกระทบผู้บริโภค

ซึ่งในเวลาต่อมาศาลปกครองมีคำสั่งยกคำร้องของ สอบ. ด้วยเหตุผลว่ายังไม่มีเหตุที่จะรับฟังได้ว่า มติของ กสทช.น่าจะไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ขณะที่ฝั่ง “ทรูและดีแทค” เดินหน้าเต็มตัว ทั้งจัดทีมทำงานร่วมกันจัดตั้งบริษัทใหม่ และปรับโครงสร้างองค์กรเพื่อเดินหน้าสู่การมีความร่วมมือตามแผนควบรวมธุรกิจโดยตั้งเป้าไว้ภายในไตรมาส 1/2566 จะแล้วเสร็จควบคู่ไปกับการดำเนินการตามเงื่อนไข และมาตรการทั้งก่อน และหลังการควบรวมของ กสทช. ไม่ว่าจะเป็นการกำหนดให้ยังคงแบรนด์บริการไว้ตามเดิมอย่างน้อย 3 ปี หรือการลดค่าบริการลง 12% เป็นต้น

AIS เร่งเกมปิดดีล 3BB

แม้ไม่น่าจะเกี่ยวข้องกันโดยตรง แต่หลายฝ่ายมองว่าบิ๊กดีลควบรวม “ทรู-ดีแทค” ไม่มากก็น้อยส่งผลต่อการตัดสินใจเข้าซื้อกิจการ “3บีบี” ของยักษ์ “เอไอเอส” ด้วย

ระหว่างที่บิ๊กดีล “ทรูและดีแทค” กำลังเข้าด้ายเข้าเข็ม “เอไอเอส” ประกาศเข้าซื้อหุ้น บริษัท ทริปเปิลที บรอดแบนด์ จำกัด (มหาชน) หรือ 3BB รวมถึงการซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ต จัสมิน หรือ JASIF มีมูลค่ารวมกันกว่า 3.2 หมื่นล้านบาท

โดย “เอไอเอส” ระบุว่าจะดำเนินการขออนุญาตในการเข้าทำธุรกรรมจาก กสทช.ก่อนตามขั้นตอน จึงจะมีการลงนามในสัญญาซื้อขายหุ้น และหน่วยลงทุน และคาดว่าธุรกรรมจะเสร็จสมบูรณ์ในไตรมาส 1/2566

แหล่งข่าวจาก กสทช.เปิดเผยว่าอยู่ระหว่างขอข้อมูลเพิ่มเติมจาก เอไอเอส หลังจากบริษัททำหนังสือแจ้งเรื่องการเข้าซื้อธุรกิจมาแล้ว

ชัดเจนว่าบริบทธุรกิจสื่อสารโทรคมาคมในปี 2566 นี้จะเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมอย่างมาก และย่อมส่งผลถึงการแข่งขันที่จะเปลี่ยนไปอย่างมากอีกด้วย ทั้งในตลาดโทรศัพท์มือถือ และอินเทอร์เน็ตบ้าน หลัง “ทรู-ดีแทค” ควบรวมและขับเคลื่อนธุรกิจร่วมกันภายใต้บริษัทใหม่

เช่นกันกับกรณี “เอไอเอสไฟเบอร์ และ 3 บีบี”

ทุกสายตาจึงจับจ้องมายังการทำงานตามหน้าที่ของ “กสทช.” (อีกครั้ง) ว่าจะกำกับผู้ประกอบการให้ปฏิบัติตามเงื่อนไข และมาตรการต่าง ๆ เพื่อป้องกันไม่ให้มีการกระทำอันเป็นการผูกขาดหรือครอบงำตลาด จนเป็นเหตุให้ผู้บริโภคเสียประโยชน์ ดังที่หลายฝ่ายกังวลได้หรือไม่

ความเรื่อง บิ๊กดีล “ทรู-ดีแทค” ยังไม่ทันหาย ปม “บอลโลก” ซึ่งเกี่ยวข้องกับ “กสทช.” ด้วย ก็ปะทุขึ้นมาอีก

กสทช.

กสทช.มหากาพย์ปมฉาว “บอลโลก”

เมื่อการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) ยื่นเรื่องถึง กสทช. ขอให้ช่วยสนับสนุนงบประมาณในการซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 2022 (รอบสุดท้าย) ด้วยเหตุว่าไม่มีเอกชนรายใดซื้อลิขสิทธิ์ เพราะ “ฟุตบอลโลก” เป็น 1 ใน 7 รายการ ตามหลักเกณฑ์รายการโทรทัศน์สําคัญที่ให้เผยแพร่ได้เฉพาะทางฟรีทีวี (must have) และหลักเกณฑ์การเผยแพร่กิจการโทรทัศน์ที่ให้บริการเป็นการทั่วไป (must carry) ของ กสทช.

การแข่งขันฟุตบอลโลก 2022 รอบสุดท้าย จะมีขึ้นระหว่างวันที่ 20 พ.ย.-18 ธ.ค. 2565 แต่ “กกท.” ส่งหนังสือแจ้ง “กสทช.” มาในวันที่ 4 พ.ย.

หมายความว่า กสทช.มีเวลาพิจารณาน้อยมาก ๆ ทั้งที่ขอเงินมาตั้ง 1,600 ล้านบาท จึงจัดประชุมนัดพิเศษพิจารณาเรื่องนี้โดยเฉพาะ ซึ่งก็เป็นไปตามคาด ด้วยมติเอกฉันท์ 4:2 เห็นชอบให้อนุมัติเงินสนับสนุน 600 ล้านบาท จากกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.)

“กสทช.” ฝั่งเสียงข้างน้อย คือ ดร.ศุภัช ศุภชลาศัย กสทช. และศาสตราจารย์ ดร.พิรงรอง รามสูต กสทช. ขณะที่เสียงข้างมาก รอบนี้มี 4 คน คือ ศาสตราจารย์คลินิก นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์, พลอากาศโท ดร.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ, นายต่อพงศ์ เสลานนท์ และ พลตำรวจเอก ดร.ณัฐธร เพราะสุนทร ซึ่งเพิ่งได้รับแต่งตั้งให้เข้ามาเป็น กสทช. คนที่ 6

กรณีบอลโลก “กสทช.” โดนวิพากษ์วิจารณ์หลายประเด็น ตั้งแต่การใช้เงินกองทุน กทปส. ซึ่งฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยตั้งคำถามว่าใช้เงินผิดประเภทหรือไม่ แม้แต่สมาคมโทรทัศน์ระบบดิจิตอล (ประเทศไทย) ยังขอให้ทบทวนการใช้เงินกองทุน กทปส.

แม้เบื้องต้นคอบอลจะได้เฮที่ไม่พลาดดูบอลโลก แต่การบริหารจัดการของ “กกท.” กลับเป็นปัญหา

ทวงเงิน กกท.-รื้อมัสต์แครี่

แม้ กกท.จะได้เงินจาก กสทช.แล้ว 600 ล้านบาท ก็ยังไม่พอจ่ายค่าลิขสิทธิ์แม้จะลดลงมาเหลือราว 1,200 ล้านบาทแล้ว จึงต้องหาอีก 600 ล้านบาท โดยขอการสนับสนุนจากเอกชน ซึ่งมีการเปิดเผยว่า “กลุ่มทรู” ตัดสินใจร่วมลงขันด้วย 300 ล้านบาท แบ่งเป็น 100 ล้านบาท สำหรับสิทธิในการถ่ายทอดสดบนช่องทีวีดิจิทัลของตนเอง

อีก 200 ล้านบาท แลกกับสิทธิ์ exclusive บน PayTV, OTT และ IPTV (ทรูวิชั่นส์ และทรูไอดี) ทำให้ มีปัญหาตามมา เนื่องจากผู้ชมที่ดูผ่านแพลตฟอร์ม “ไอพีทีวี” ที่ได้ใบอนุญาตจาก “กสทช.” เอง ไม่สามารถดูได้ ไม่ว่าจะเอไอเอสเพลย์, เอ็นที และ 3บีบี

“กสทช.” ทั้งเรียก ผู้ว่าการ กกท.มาชี้แจง และทำหนังสือกำชับให้ดำเนินการตามข้อตกลง ซึ่งมีเงื่อนไขที่ต้องทำตามกฎ must have/must carry โดยมีหน้าที่บริหารจัดการให้ผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรทัศน์ทุกประเภทของ กสทช. ถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลโลกได้ หากไม่สามารถทำได้ “กสทช.” มีสิทธิทวงเงินคืน และก่อนสิ้นปี 2565 ไม่กี่วันได้ส่งหนังสือแจ้งทวงเงินไปแล้ว แต่ยังไม่ได้สรุปตัวเลขค่าเสียหายว่าเป็นเท่าไร

งานนี้ แม้ “กสทช.” จะได้ “ก้อนหินมากกว่าดอกไม้” แต่ก็เปิดโอกาสให้ทบทวนกฎ must have/must carry ใหม่ ให้สอดคล้องกับบริบทธุรกิจในปัจจุบันมากขึ้น เพื่อไม่ให้ซ้ำรอยเดิม