
เมื่อเป็นบริษัทที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี ในฐานะผู้ให้บริการออกแบบ วางระบบ และบริการที่เกี่ยวข้องในงานวิศวกรรมสายงานระบบโทรคมนาคม ระบบสื่อสารข้อมูล และระบบความปลอดภัย “TKC” หรือ บริษัท เทิร์นคีย์ คอมมูนิเคชั่น เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) ก็ต้องไปกับเมกะเทรนด์โลกเพื่อให้ให้รองรับความต้องการของลูกค้าที่เพิ่มขึ้น และเพิ่มโอกาสธุรกิจใหม่
ธุรกิจหลัก 4 กลุ่มเดิมมี 1.โครงข่ายโทรคมนาคม 2.Data Communication 3.Public Safety และ 4.Digital Services จึงเพิ่มเป็น 6 คือ Edutech และ Green Solution และอัพเกรดพอร์ตเข้าสู่ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับ Digital Solution สู่ “เลเยอร์” ใหม่ที่สูงขึ้นไปอีกขั้น
17 ม.ค.ที่ผ่านมา ครบหนึ่งปีที่ TKC เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ แม้จะยังไม่สามารถเปิดเผยตัวเลขผลประกอบการทั้งปีได้ แต่ตัวเลข 9 เดือนทำได้แล้วกว่า 1,800 ล้านบาท กับเป้าหมายปีนี้ที่ตั้งใจว่าจะโตไม่น้อยกว่า 15% “สยาม เตียวตรานนท์” ฐานะแม่ทัพใหญ่ TKC มั่นใจว่าไม่เกินความสามารถ ทั้งต้องการขยายพอร์ตการเติบโตของรายได้จากภาคเอกชนเพิ่มขึ้นด้วยดิจิทัลโซลูชั่นใหม่ ๆ จากปัจจุบันมีรายได้จากลูกค้าภาครัฐ 70% คาดว่าภายใน 2 ปี รายได้รัฐกับเอกชนจะใกล้เคียงกัน
“ที่ผ่านมาทีมงานเรามีไฟ และความสามารถที่จะทำได้อยู่แล้ว แต่ขาดเงิน มีเงินแหล่งเดียวคือเงินพ่อแม่ การนำบริษัทเข้าตลาดฯ ทำให้มีเงินทุนมาทำโครงการใหญ่ ๆ ระดับสองพันล้านก็ได้สบาย ๆ จากแต่ก่อนได้งานโครงการ 500 ล้านบาท นี่ถือว่าตึงมือแล้ว บริหารจัดการแทบไม่ไหว เมื่อคนพร้อม มีสภาพคล่อง และเครดิต ก็มีแหล่งทุนมากขึ้น ยังทำให้เกิดความมั่นใจในหมู่พาร์ตเนอร์ทำให้เกิดโอกาสธุรกิจมากมายจนต้องเลือกคัดเฉพาะที่บริษัทถนัด”
“สยาม” กล่าวว่า การพัฒนาด้านดิจิทัลเติบโตเร็ว พร้อมกับมีเทรนด์ใหม่ ๆ จึงต้องพัฒนาธุรกิจใหม่เพิ่มเติมจากธุรกิจดั้งเดิมที่ครอบคลุมการออกแบบ และให้บริการวางระบบโครงสร้างพื้นฐานให้ลูกค้ารายใหญ่อยู่แล้ว ทั้งค่ายมือถือและเวนเดอร์ต่าง ๆ
“การสร้างคนที่มีความรู้ด้านไซเบอร์ซีเคียวริตี้มีความสำคัญมาก และน่าจะทำให้เราเปลี่ยนจากการทำโปรเจ็กต์อบรมสำหรับองค์กรมาให้คนทั่วไปได้อีกส่วนเป็นเมกะเทรนด์โลกคือ Green Solution จึงแตกบริษัทลูก IBS เพื่อทำธุรกิจด้านพลังงานสะอาดโดยเฉพาะ ทั้งด้านการติดตั้งโซลาร์เซลล์ให้องค์กรใหญ่ ๆ และวิจัยพัฒนา EV Charger รวมถึงสร้างอีโคซิสเต็มแพลตฟอร์มด้านพลังงานขึ้นมา”
แม้ว่าธุรกิจดั้งเดิมจะยังเติบโตได้ต่อเนื่อง ทั้งโทรคมนาคมที่การรวมกันของสองค่ายมือถือทำให้อาจมีการเร่งลงทุนโครงข่ายแข่งกัน หรือกรณีที่รัฐต้องการนำสายไฟลงดินยังต้องใช้เวลาอีกนับสิบปี แต่การเตรียมพัฒนาบริการรับความต้องการในอนาคตก็เป็นสิ่งจำเป็น
โดยจะมุ่งไปยัง 8 Digital Solution ได้แก่ 1.Smart Building ปัจจุบันให้บริการในสนามบิน (Smart Airport) ตรวจนับความหนาแน่นของคนในสนามบิน เริ่มแล้วที่สนามบินสุวรรณภูมิ งบ 380 ล้านบาท และเห็นว่ามีโอกาสในสนามบินที่คนแน่นอย่างดอนเมือง ภูเก็ต และเชียงใหม่อีก รวมถึงมีระบบ Smart CCTV ที่เก็บข้อมูลแล้ววิเคราะห์ด้วยเอไอ เพื่อคัดกรองใบหน้า ซึ่ง AOT กรมศุลกากร และสำนักงานตำรวจนำไปใช้แล้วกว่า 10,000 ไลเซนส์
2. Smart Platform มีการทำโครงการร่วมกับทางตำรวจในโครงการศูนย์บริการประชาชน ทำระบบแจ้งความออนไลน์ให้โยงกับระบบหลังบ้านของเจ้าหน้าที่ทำให้สามารถทำงานสืบสวนสอบสวนได้เร็วขึ้น 3.Cyber Security อบรมสร้างคนด้านความปลอดภัยไซเบอร์ 4.Smart Learning จากหลักสูตรอบรมพนักงานองค์กรต่าง ๆ ขยายไปสู่การเป็นแพลตฟอร์มด้านการศึกษา 5.Automative เริ่มวิจัยสร้างรถบัสไร้คนขับ เตรียมต่อยอดรถไร้คนขับ-หุ่นยนต์โรงงาน
6.Smart Farming ที่มาจากงาน CSR หวังนำเทคโนโลยีมาช่วยเหลือเกษตรกร ซึ่งต่อยอดจากโดรนการเกษตรมาประยุกต์เป็น Smart Drone และสร้างโดรนทำความสะอาดบนตึกสูงและแผงโซลาร์เซลล์ รวมถึงเทรนด์ที่มาแน่ๆ คือ 7.Smart Hospital และ 8.Smart Logistics
“ธุรกิจดั้งเดิมเราเกี่ยวกับ Infrastructure ที่ไทยยังลงทุนน้อยเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ และกลุ่มธุรกิจ Digital Solution จะวางอยู่เหนือโครงสร้างเหล่านี้อีกทีและจะเป็น Growth สำคัญในอนาคต เป็นเมกะเทรนด์ ที่น่าจะอยู่ไปอีกอย่างน้อย 5-10 ปี”