Business Model แบบไหน ที่ใช่กับธุรกิจยุคใหม่

Business Model
คอลัมน์ : Pawoot.com
ผู้เขียน : ภาวุธ พงษ์วิทยภานุ

เมื่อพูดถึงการทำธุรกิจในวันนี้ ถ้าเรายังทำแบบเดิมผมว่าไม่ได้แล้ว ทำไมเราไม่ลองเปลี่ยนมาใช้ business model ใหม่ ๆ ดูบ้าง ที่อยากยกมาเป็นตัวอย่าง เช่น การผลิตรถยนต์ของ Tesla ที่ออกมาเพียง 4 โมเดล แต่สามารถขายได้เป็นสิบปีเลยทีเดียว อัพเดตซอฟต์แวร์ให้ทำได้เหมือนรุ่นที่ออกใหม่ได้ตลอด ผมเองก็เกือบจองรถยนต์ของเทสลาไปแล้วเช่นกันในช่วงที่เปิดตัวในประเทศไทย เพราะค่าจองไม่กี่พันบาทและสามารถปรับโน่นนี่ได้ตลอด อันนี้ผมว่าเป็นโมเดลที่น่าสนใจมาก

ผมเพิ่งได้ข้อมูลจากเพื่อนคนที่กำลังจะซื้อเทสลาว่า เทสลาไม่ได้ขายแค่รถยนต์เท่านั้น แต่เขาขายประกันด้วย เพราะเขามี data ของลูกค้าอยู่ในมือ เนื่องจากเทสลารู้พฤติกรรมคนขับแต่ละคนอยู่แล้วว่าการขับเป็นอย่างไร เขาจึงสามารถให้แผนการจ่ายเบี้ยประกันตามพฤติกรรมการขับขี่ได้เลย

จะเห็นว่า เทสลาเริ่มขยับตัวเองจากธุรกิจขายรถมาทำเกี่ยวกับเรื่องประกันด้วย นี่คือความได้เปรียบของการทำธุรกิจแล้วสามารถมีข้อมูลของลูกค้าและนำมาต่อยอดธุรกิจได้ด้วย

ใครที่มีโอกาสได้เข้าไปดูในเว็บไซต์ของ tesla.com จะเห็นว่าเวลาที่จะเลือกรถจะเหมือนการเลือกซื้อเสื้อผ้าที่สามารถ DIY หรือ customized ได้เลย หรือสนใจรถก็กดซื้อ จ่ายมัดจำไว้ก่อนแล้วเลือกวันรับรถได้เลย ฯลฯ

ผมว่าโมเดลนี้สนุก และน่าสนใจ ถึงแม้ว่าแบรนด์ของเทสลาจะแข็งแรงอยู่แล้ว แต่วิธีการคิดของเขาน่าสนใจ ขนาดรถราคาเป็นล้านแต่ก็สามารถทำให้คนมากดซื้อทางออนไลน์ได้เลย (แต่ราคาจองรถก็ถูกจนน่าตกใจเหมือนกัน คือไม่ถึง 10% ของราคารถ) และตอนที่เปิดตัวสามารถรับคนทั้งประเทศโดยไม่ต้องผ่านโชว์รูมหรือตัวแทนเลย ทุกอย่างใช้ออนไลน์ได้ทั้งหมด

และอีกโมเดลหนึ่งที่น่าสนใจ และผมค่อนข้างชอบ คือเครื่องกรองน้ำยี่ห้อหนึ่งของเกาหลี ที่เมื่อก่อนเราเคยต้องซื้อเครื่องกรองน้ำราคาหลายพัน บางทีเป็นหมื่นเลยก็มี แต่เดี๋ยวนี้ไม่ต้องซื้อแพง แต่เป็นการจ่ายแบบรายเดือนไม่กี่ร้อยบาท ทำเป็น subscription แทน และนี่เป็นเครื่องกรองน้ำอย่างดีที่เมื่อมาติดตั้งแล้ว คุณจ่ายแค่เป็นรายเดือน เดือนละไม่กี่ร้อย จ่ายไปเรื่อย ๆ เหมือนเป็นระบบเช่านั่นเอง

ผมว่าเทรนด์นี้น่าสนใจและเริ่มเห็นได้ชัด อย่าง Toyota ที่เมื่อก่อนต้องซื้อรถมา แต่เดี๋ยวนี้มี Toyota Kinto ที่เป็นผู้ให้บริการรถเช่าจาก Toyota เราสามารถจ่ายเช่ารถเป็นรายเดือนไปเรื่อย ๆ ไม่ต้องเป็นเจ้าของ เหมือน ๆ กับการที่ใช้บริการเครื่องถ่ายเอกสารเป็นรายเดือน จ่ายแบบ pay per use

ผมว่าบริการแบบนี้น่าสนใจ ฉะนั้นท่านใดที่มีธุรกิจหรือขายของราคาแพง ทำไมไม่ลองนำเอาโมเดลแบบ subscription หรือสมัครสมาชิกไปใช้ดูบ้าง บางท่านที่กังวลในเรื่องของ cash flow เดี๋ยวนี้มีบริษัทที่ทำเกี่ยวกับไฟแนนซ์ให้มาเป็นพาร์ตเนอร์กับเราได้

วิธีการทำธุรกิจสมัยนี้มีเครื่องมือ มีวิธีการทำได้หลายรูปแบบ จากเดิมจะกู้เงินต้องไปธนาคาร แต่เดี๋ยวนี้อาจจะเคยได้ยินคำว่า crowdfunding ซึ่ง ก.ล.ต.ก็เปิดอนุญาตให้มีผู้ให้บริการปล่อยกู้ ตอนนี้มีบริษัทเทคโนโลยีหรือสตาร์ตอัพในเมืองไทยหลายแห่งแล้วมาเปิดเป็นแพลตฟอร์ม เปิดให้คนนำเงินมาฝากโดยเขาจะเป็นตัวกลางในการนำไปปล่อยกู้

ผมเองก็นำเงินไปฝากไว้เหมือนกัน ชื่อว่า PeerPower.co.th คือแพลตฟอร์มคราวด์ฟันดิ้งที่ใครต้องการเงินกู้ แต่ไม่ต้องการขั้นตอนที่มากมายเหมือนธนาคารก็สามารถมาที่นี่ได้ โดยเพียร์ พาวเวอร์ จะทำการออดิตหรือตรวจสอบบริษัทที่ต้องการกู้เงินว่าน่าเชื่อถือหรือไม่ และให้เป็นเกรดออกมา และตกลงในเรื่องของดอกเบี้ยว่าบริษัทที่ต้องการกู้จะสามารถให้ได้เท่าไหร่ กี่เดือน ฯลฯ

โดยทุกเดือนผมจะได้รับเงินปันผลกลับมา และสุดท้ายเมื่อครบกำหนด ผมก็ได้รับเงินต้นกลับมา

ผมอยากให้ทุกท่านลองไปดูธุรกิจอื่น ๆ ครับว่า ตอนนี้เขาใช้โมเดลแบบไหน มีเครื่องมืออะไรใหม่ ๆ ออกมาบ้าง ฯลฯ แล้วลองมาปรับใช้กับธุรกิจของเรา อาจได้แนวทางที่ดีกว่าที่ทำกันอยู่ครับ