กลุ่มทรู ลงทุน 21% ใน ไฮฟ์กราวนด์ ลุยผลิตโดรนเกษตร

กลุ่มทรู
กลุ่มทรู ลุยผลิตโดรนเกษตร

กลุ่มทรู ลงทุน 21% ใน AgTech สตาร์ตอัพ ลุยตั้งโรงงานผลิตโดรนเกษตรในไทย นำร่องเทคโนโลยีหุ่นยนต์เชิงลึก ตั้งเป้าขาย 500 ลำในปี 2566

วันที่ 20 มกราคม 2565 นายณัฐวุฒิ อมรวิวัฒน์ ประธานกรรมการ บริษัท ทรู ดิจิทัล กรุ๊ป จำกัด กล่าวว่า ผนึกพลังกับ HiveGround  (ไฮฟ์กราวนด์) เทคสตาร์ตอัพ ด้านธุรกิจหุ่นยนต์และโดรนโซลูชั่น เป็นหนึ่งในแผยการรุกตลาด AgTech (ธุรกิจเทคโนโลยีการเกษตร) โดยนำเทคโนโลยีดิจิทัล ยกระดับภาคเกษตรกรรมไทย ซึ่งเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมหลักของประเทศ

“แม้ว่าการทำโดรนเกษตรจะมีผู้แข่งขันมากมาย แต่ส่วนใหญ่แล้วเป็นผู้ที่นำเข้ามาในประเทศ ทำให้เราไม่ได้รัลวิทยาการเชิงลึกต่าง ๆ ทำให้การ Customized โดรนให้มีลักษณะเฉพาะทำได้ยาก เพราะเมื่อเราพูดถึงโดรนมันคือหุ่นยนต์แบบหนึ่ง ทรู ได้เล็งเห็นว่า ไฮฟ์กราวนด์ ประกอบด้วยผู้ที่มี Passion สูง

ทั้งมีความสามารถจากนักประดิษฐ์หุ่นยนต์ไทยที่ไปแข่งขันและกวาดรางวัลมาทั่วโลกที่กลับมาประกอบธุรกิจในบ้านเรา จะทำให้เทคโนโลยีและวิทยาการเชิงลึกต่าง ๆ อยู่ในประเทศไทยและต่อยอดไปสู่โดรนอื่น ๆ เช่น โดรนเซอร์เวย์ หรือเทคโนโลยีหุ่นยนต์อื่น ๆ ในโรงงานได้ด้วย”

กลุ่มทรู

โดยการลงทุนใน “ไฮฟ์กราวนด์” ของกลุ่มทรูครั้งนี้ จะถือครองสัดส่วน 21.7% จะช่วยเพิ่มศักยภาพและกำลังการผลิตโดรนจากการเปิดโรงงานแห่งใหม่ให้กับ ไฮฟ์กราวนด์ เพื่อรองรับความต้องการของตลาดโดรนการเกษตรที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ดร.มหิศร ว่องผาติ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ก่อตั้ง บริษัท ไฮฟ์กราวนด์ จำกัด กล่าวว่า จากสถิติการใช้โดรนการเกษตร ที่เปิดเผยโดยสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เห็นได้ว่าในช่วงปี พ.ศ. 2563-2565 ที่ผ่านมา โดรนการเกษตรมีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นประมาณปีละ 200% และจากแนวโน้มการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเช่นนี้

คาดว่าตลาดโดรนการเกษตรในปี พ.ศ. 2566 จะมีอัตราการเติบโตใกล้เคียงกับปีก่อน โดยคาดว่าจะมีจำนวนโดรนเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 10,000 ลำ หรือคิดเป็นมูลค่าตลาดรวมมากกว่า 3,000 ล้านบาท และยังคงมีแนวโน้มความต้องการใช้งานที่เติบโตสูงขึ้นต่อไป

จากหลายปัจจัยของอุตสาหกรรมเกษตรในไทย ที่ยังคงขาดแคลนแรงงานเนื่องจากการเข้าสู่สังคมสูงวัย และการขยายตัวของเมืองทำให้มีการย้ายถิ่นฐานของแรงงาน รวมถึงการเพิ่มขึ้นของค่าแรง

ดังนั้น จึงได้ออกแบบโดรนการเกษตรเป็น “เรือธง” เจาะตลาดทั้งไทย และต่างประเทศ (ฟิลิปปินส์) ในชื่อ “ไทเกอร์โดรน” โดยกำลังการผลิตปัจจุบันขึ้นอยู่กับจำนวนออร์เดอร์ แต่โรงงานใหม่ที่พึ่งเปิดหลังระดมทุนซีรีย์บีสามารถผลิตได้เต็มศักยภาพ 150 ลำต่อเดือน

อย่างไรก็ตาม ดร.มหิศรกล่าวว่า การเเข่งขันในตลาดโดรนเพื่อการเกษตรยังสูงมาก ดังนั้นในปีนี้ขอเพียงเเย่งส่วนแบ่งโดรนเกษตรได้ 5% จาก 10,000ลำ (ราว 500 ลำ) จากสถิติโดรนของ กสทช. ในปีที่ผ่านมาถือว่าเป็นเป้าหทายที่ท้าทาย

นอกจากนี้ ความร่วมมือกับกลุ่มทรู ทำให้ ไทเกอร์โดรน สามารถต่อยอดการทำงานร่วมกับโซลูชั่น ทรูฟาร์ม ของทรู ดิจิทัล เพื่อช่วยในการบริหารจัดการฟาร์มเกษตรพืชได้อย่างมีประสิทธิภาพ

กลุ่มทรู

“ไทเกอร์โดรน” มีคุณสมบัติที่โดดเด่นดังนี้

  • ระบบ Smart Planning ระบบวางแผนเส้นทางการบิน ที่มีความแม่นยำสูง
  • ใช้งานง่ายด้วยเมนูภาษาไทย ผ่านแอปพลิเคชั่น HiveGround Mission Control (HGMC)
  • สามารถแสดงค่าพื้นที่และหน่วยวัดต่าง ๆ ตามการใช้งาน
  • ขนาดกะทัดรัด ใช้งานคนเดียวได้อย่างสะดวกสบาย
  • บินทำงานพร้อมกันได้หลายตัว ด้วยระบบการบินอัตโนมัติ ไทเกอร์ แชร์
  • แจ้งเตือนสิ่งกีดขวาง ด้วยภาพและเสียง พร้อมระบบเบรกอัตโนมัติ
  • มีฟังก์ชั่นการใช้งานที่หลากหลายที่พัฒนาเพื่อเกษตรกรไทยโดยเฉพาะ อาทิ โหมดโชยรวง ที่ช่วยให้ผลผลิตการเกษตรไม่เสียหายจากการบินโดรน, โหมดกันข้าวไหม้ ที่ช่วยให้การฉีดพ่นเป็นไปได้อย่างสม่ำเสมอไม่มากเกินไป เป็นต้น