ฟูจิตสึ สวนกระแสบริษัทไอที ทรานส์ฟอร์มองค์กรแบบไม่ลดคน แต่รับเพิ่ม

ฟูจิตสึชี้การทรานส์ฟอร์มองค์กรไม่ใช่การเปลี่ยนไปใช้เทคโนโลยี พนักงานคือหัวใจขับเคลื่อนองค์กร จึงต้องเน้นทรานส์ฟอร์มวัฒนธรรม เผยสงครามแย่งพนักงานยังมี ลั่นไม่ลดคน มีแต่จะรับคนเพิ่ม  

วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2566 นางสาวกนกกมล เลาหบูรณะกิจ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฟูจิตสึ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้บริหารหญิงและคนไทยคนแรกของฟูจิตสึ (Fujitsu) บริษัทเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) ชั้นนำของญี่ปุ่น เปิดเผยว่า ฟูจิตสึ ประเทศไทย ปีนี้ก้าวสู่ปีที่ 33 ผ่านการสร้างองค์กรให้มีความแข็งแกร่ง และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในระดับสากลได้เป็นอย่างดี

โดยฟูจิตสึเล็งเห็นว่า ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีการเติบโตทางด้านเศรษฐกิจสูง ในภูมิภาคเดียวกัน (Fastest Economic Growing Country)

ส่วนบริษัท ฟูจิตสึ (ประเทศไทย) ได้เดินหน้าชูระเบียบวิธีการทรานส์ฟอร์มองค์กรของตัวเอง เพื่อเป็นตัวอย่างให้เห็นว่าการทำดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่นไม่ใช่การใช้เทคโนโลยี แต่คือการ “เปลี่ยนวัฒนธรรมองค์กร”

FUJITRA วิถีทรานส์ฟอร์มองค์กรสไตล์ฟูจิตสึ

โดยฟูจิตสึได้ใช้วิธีการที่เรียกว่า FUJITRA (Fujitsu Transformation) ผลักดันองค์กรเพื่อสังคมยั่งยืน ขับเคลื่อนด้วยการนำดิจิทัล (Digital Transformation) มาช่วยปรับเปลี่ยน หน่วยงาน วัฒนธรรมองค์กร ผลิตภัณฑ์ บริการ และโมเดลทางธุรกิจ

โดยการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ส่งผลลัพธ์ที่ดีในการสำรวจความผูกพันของพนักงาน (Employee Engagement Survey) และยังเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ฟูจิตสึ เป็นหนึ่งในองค์กรที่ได้รับการคัดเลือกในปี 2022 ว่า เป็นหนึ่งในสถานที่ทำงานที่ดีที่สุดในโลก (Best Places to Work)

นอกจากนี้ “ผู้สื่อข่าวประชาชาติธุรกิจ” ได้สอบถามความเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์ของบริษัทเทคโนโลยีทั่วโลก โดยเฉพาะกระแสลดคน ปลดพนักงาน ตั้งแต่ต้นปี 2023 หรือ The Great Layoff ระดับโลก โดยเฉพาะยักษ์ Tech Company ทั้ง PayPal ปลด 2,000 คน, Amazon ปลด 18,000 คน, Google ปลด 12,000 คน, Microsoft ปลด 10,000 คน, Salesforce ปลด 8,000 คน, IBM ปลด 3,900 คน หรือในไทยเอง ที่ JD Central ปิดกิจการ เลิกจ้าง, AIS ปลด 200 คน และ Shopee ปลดต่อเนื่อง

องค์กรโตไว ปะทุ Talent War

นางสาวกนกกมล เปิดเผยกับ “ผู้สื่อข่าวประชาชาติธุรกิจ” ว่า แนวโน้มการปลดคนงานมักเกิดในกลุ่มบริษัทที่เติบโตเร็วและเพิ่มจำนวนพนักงานเร็วมากในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา จึงเป็นต้นทุนที่ต้องตัด ขณะที่บริษัทญี่ปุ่นอย่างฟูจิตสึ เน้นที่การเติบโตยั่งยืน

“เราจะเห็นได้ว่าช่วงที่ผ่านมามีความผันผวนของทรัพยากร มีคนเข้าออกมาก ทรัพยากรไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาดด้วยซ้ำ จึงเกิด Talent War แย่งพนักงานด้านไอทีกันเยอะมาก ในขณะที่ดีมานด์มาก การเพิ่มขึ้นของตำแหน่งจึงเร็ว อย่างไรก็ตาม ปีที่ผ่านมาจนถึงปีนี้ เรายังเห็น Talent War อยู่ มีงานและโปรเจ็กต์จำนวนมากที่ต้องการบริษัทไอทีอย่างเรา ซึ่งฟูจิตสึเอง ตอนนี้คนทำงานไม่เพียงพอต่องานที่เราได้มาด้วยซ้ำ และเรายังคงเดินหน้ารับพนักงานอีกมาก ไม่ได้จะปลดคนหรือเลิกจ้าง แต่ขาดคนจนเปิดรับเพิ่มมากก็ยังหาได้ยาก”

นางสาวกนกกมลยังเน้นย้ำเรื่องการปรับวัฒนธรรมองค์กร ที่สอดคล้องกับการเป็นผู้นำหญิงคนแรกในเอเชียของฟูจิตสึ โดยเฉพาะการปรับใช้วิธี FUJITRA ที่ทำให้ในภาพรวมขององค์มีสภาพเเวดล้อมที่ดี เอื้อแก่การทำงานในยุคใหม่ โดยเฉพาะหลังโควิด

การนำ FUJITRA มาช่วยปรับเปลี่ยนองค์กรครั้งนี้ ถือเป็นเวลาที่เหมาะสมเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ฟูจิตสึได้เปลี่ยนรูปแบบการทำงานเต็มรูปแบบ เป็นแบบ Hybrid Working หรือการทำงานรูปแบบผสมผสาน โดยพนักงานทุกคนไม่จำเป็นต้องเข้าทำงานที่ออฟฟิศทุกวัน สามารถทำงานจากที่ไหนก็ได้ในโลก นอกจากความยืดหยุ่นเรื่องสถานที่ทำงานแล้ว ยังได้เสริมความคล่องตัวด้วยการนำเครื่องมือทาง IT ต่าง ๆ มาใช้ในการทำงาน รวมทั้งปรับปรุงกระบวนการทำงานและวัฒนธรรมองค์กร

ฟูจิตสึมองว่า การเปลี่ยนแปลงองค์กรภายในเป็นเรื่องจำเป็นและสำคัญมาก และพนักงานทุกคน เป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยกันขับเคลื่อนองค์กร เพื่อให้เกิดความคล่องตัว รวมทั้งสามารถช่วยลูกค้าขับเคลื่อนธุรกิจ และสร้างการเปลี่ยนแปลงแบบยั่งยืนได้ดียิ่งขึ้นนางสาวกนกกมลกล่าว ในการเปลี่ยนแปลงองค์กร ฟูจิตสึใช้กรอบความคิด “FUJITRA” ในการผลักดันการเปลี่ยนแปลง ซึ่งประกอบด้วย

  1. Leadership
  2. Culture
  3. Data-driven
  4. DX (Digital Transformation)

การริเริ่มเปลี่ยนแปลงตัวเองโดยใช้ “FUJITRA” ทำให้ฟูจิตสึ ซึ่งถือหลักการในการเปลี่ยนแปลงตนเองก่อนที่จะไปช่วยเปลี่ยนแปลงให้ลูกค้า สามารถพิสูจน์ให้เห็นว่า การทำ Digital Transformation ให้เกิดความสำเร็จอย่างยั่งยืน จำเป็นต้องมีองค์ประกอบที่มากกว่าเทคโนโลยีและข้อมูล แต่ต้องอาศัยผู้นำองค์กรในการขับเคลื่อนเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมไปพร้อม ๆ กันอีกด้วย

4 องค์ประกอบการดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่น

ปัจจุบันฟูจิตสีมีความพร้อม สามารถช่วยองค์กรทั่วโลก สร้างการเปลี่ยนแปลงด้วยโซลูชั่น Fujitsu Uvance ที่ช่วยส่งเสริมความยั่งยืนในอุตสาหกรรมด้านต่าง ๆ 4 ด้าน คือ

  1. อุสาหกรรมการผลิตแบบยั่งยืน (Sustainable Manufacturing)
  2. ประสบการณ์สำหรับผู้บริโภค (Consumer Experience)
  3. การใช้ชีวิตที่มีสุขภาพดี (Healthy Living)
  4. และสังคมที่เชื่อถือได้ (Trusted Society) 

โดยขับเคลื่อนผ่านกลุ่มเทคโนโลยีสำคัญ 3 กลุ่มคือ

  1. การปรับเปลี่ยนสู่ดิจิทัล (Digital Shifts)
  2. แอปพลิเคชั่นทางธุรกิจ (Business Applications)
  3. ระบบไอทีแบบไฮบริด (Hybrid IT)