Tiktok ลุยควบคุมบัญชีผู้ใช้ประเด็นการเมือง

TikTok ย้ำ ไม่ให้รณรงค์ทางการเมืองบนแพลตฟอร์ม ลุยจัดประเภทบัญชีผู้ใช้พรรคการเมือง คุมเข้มคอนเทนต์การเมือง จัดการแบนข่าวลวง รับศึกเลือกตั้ง 2566

วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2566 นายจิรภัทร หลี่ Product Policy Lead ติ๊กตอก ประเทศไทย กล่าวว่า “ที่ผ่านมา TikTok มีความมุ่งมั่นที่จะจัดการกับเนื้อหาที่มีความบิดเบือน เป็นอันตราย และเนื้อหาที่ละเมิดหลักเกณฑ์ของชุมชนในแง่มุมต่างๆ ออกไปจากแพลตฟอร์ม TikTok อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ผู้ใช้งานมั่นใจได้ว่าจะได้รับความปลอดภัยเมื่ออยู่บนแพลตฟอร์มของเรา”

โดยจากข้อมูลรายงานการบังคับใช้หลักเกณฑ์สำหรับชุมชน (Community Guideline Enforcement Report) ครั้งล่าสุด ในระหว่างเดือนกรกฏาคม – กันยายน ปี 2565 พบว่ามีการลบวิดีโอออกในเชิงรุกบนแพลตฟอร์มมากกว่า 96.5% การลบออกภายใน 24 ชั่วโมงถึง 92.7% และมีการลบออกก่อนมียอดเข้าชมถึง 89.5% แสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพของเทคโนโลยี ทีมปฏิบัติงานและความร่วมมือจากผู้ใช้งาน TikTok ได้เป็นอย่างดี

ลุยจัดการบัญชีผู้ใช้ประเภทนักการเมือง

ด้าน นางสาวชนิดา คล้ายพันธ์ Head of Public Policy ติ๊กตอก ประเทศไทย กล่าวว่า TikTok ให้ความสำคัญกับการสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้กับทุกคน และยึดมั่นในจุดยืนของแพลตฟอร์มในช่วงของการเลือกตั้ง 2566 ในการต่อต้านข้อมูลที่ไม่ถูกต้องและถูกบิดเบือนทุกประเภทให้ออกไปจากแพลตฟอร์ม”

“เราได้มีการวางแผนดำเนินงานอย่างต่อเนื่องในการสร้างความร่วมมือกับองค์กรและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการสร้างการรับรู้และให้ข้อมูลที่มีความถูกต้องจากแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือ เพราะ TikTok เชื่อว่าประเด็นการสร้างความเข้าใจในการใช้เทคโนโลยีอย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพ (Digital Literacy) โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงของการเลือกตั้ง จะทำให้ทุกภาคส่วนช่วยกันสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีบนสังคมออนไลน์ได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะกับผู้ใช้งานและชุมชนบนแพลตฟอร์มของเรา”

ในช่วงใกล้เลือกตั้งที่จะมาถึงนี้ TikTok จะมีแนวทางไม่อนุญาตให้มีการโปรโมตหรือการทำโฆษณาที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับประเด็นทางการเมืองโดยเด็ดขาด 

“เราเป็นแพลตฟอร์ม Entertainment ไม่ใช่โซเชียลทั่วไป ดังนั้นก็ต้องควบคุมเนื้อหาทางการเมืองบ้างเพราะผู้ใช้อาจจะอยากรับชมเนื้อหาอื่นๆ มากกว่า”

TikTok จึงได้มีการจัดประเภทของบัญชีที่เกี่ยวข้องกับการเมืองให้เป็นบัญชีของรัฐบาล นักการเมือง และพรรคการเมือง (GPPPA: Government, Politician, and Political Party Account) เพื่อสร้างขอบเขตที่ชัดเจนในการไม่อนุญาตให้บัญชีประเภทนี้เกี่ยวข้องกับการสร้างรายได้ในทุกประเภทบนแพลตฟอร์ม TikTok ซึ่งมีการเปิดรับให้นักการเมืองหรือผู้ใช้ตัวจริงมายื่นขอ Verified บัญชีผู้ใช้ ก่อนเลือกตั้งตอนนี้ก็ทำได้แล้ว

นางสาวชนิดา ระบุว่า ปัจจุบันบัญชีผู้ใช้งานที่เข้าข่ายเป็น GPPPA มีจำนวนเพิ่มขึ้นเร็วมากจนไม่อาจระบุจำนวนที่แน่ชัดได้ แต่จะพยายามพูดคุยกับพรรคการเมือง และคณะกรรมการการเลือกตั้งเพื่อจัดประเภทที่ตัวบุคคลจริง เพราะบัญชีของแฟนคลับนักการเมืองก็มีมาก ดังนั้นการขอให้ Verified บัญชีจึงควรทำที่บุคคลจริง

“เราจะไม่โปรแอกทีฟเข้าหาเขาก่อน แต่เราอยากบอกเขาว่าถ้าอยากได้การ Verified มาขอกับเราได้ แต่อย่างไรก็ตามเราจะขยายการใช้กฎเกณฑ์เพื่อควบคุมเนื้อหาทางการเมืองไปหาเขาอยู่แล้ว”

ควบคุมการเผยแพร่เนื้อหาทางการเมือง

นางสาวชนิดา ระบุด้วยว่า การจัดประเภทผู้ใช้ให้เป็น GPPPA จะหมายรวมถึงพรรคการเมือง อดีตผู้นำ นักการเมือง โฆษกพรรค รวมถึงหน่วยงานรัฐบาล ไม่ให้ทีการ “โฆษณา” หรือ “บูสต์โพสต์” เพื่อเพิ่มการมองเห็น รวมถึงการไม่ให้เข้าถึงฟีเจอร์การคอนเทนต์ครีเอเตอร์ช่วยโปรโมตพรรคด้วย

อย่างไรก็ตาม พรรคการเมืองยังสามารถเผยแพร่นโยบายหรือข้อความขอตัวเองได้ตามปกติ แต่เพิ่มการมองเห็นไม่ได้ นอกจากนี้ผู้ใช้ทั่วไปที่มีความนิยมชมชอบในพรรคการเมืองหรืออุดมการณ์ทางการเมืองแบบใดยังสามารถเผยแพร่คอนเทนต์ของตัวเองได้ตามปกติ ซึ่งเป็นหลักเสรีภาพในการแสดงออกอยู่แล้ว

นอกจากนี้ บัญชีผู้ใช้ที่มีพฤติกรรมเสี่ยง เช่น บัญชี IO หรือบัญชีปลอมที่สร้างขึ้นเพื่อแสดงเนื้อหาซ้ำ ๆ เครื่องมือ TikTok ที่มีแมชชีนเลิร์นนิ่งจะช่วยคัดกรองและ “ปิดบัญชีถาวร” รวมถึงการแบนอุปกรณ์ที่เข้าถึงบัญชีนั้นไม่ให้ใช้งานบนแพลตฟอร์มได้อีกต่อไป ซึ่งการทำงานของแมชชีนเลิร์นนิ่งมีอยู่แล้ว ไม่ได้ใช้กับคอนเทนต์ทางการเมืองทั่วนั้น แต่บัญชีทั่วไปที่มีพฤติกรรมเสี่ยงก็จะโดนตรวจสอบเป็นมาตรฐานปกติ

ทั้งคอนเทนต์ที่แสดงความเกลียดชัง ก็จะโดนตรวจสอบและลบเนื้อหาทิ้งด้วยกระบวนการ Content Moderation ที่มีอยู่เดิมด้วยแมชชีนเลิร์นิ่งและทีมงานตรวจสอบเนื้อหา แต่หากพบว่ายังเผยแพร่ซ้ำๆ ก็จะมีการลบบัญชี และแบนอุปกรณ์ที่เข้าสู่แพลตฟอร์มด้วย

ตั้งศูนย์ข้อมูลเลือกตั้ง

นางสาวชนิดา ยังระบุด้วยว่า การเลือกตั้งที่จะถึงนี้ ผู้ใช้สิทธิ์จำนวนมากเป็น First Voter ซึ่งต้องการข้อมูลพื้นฐานที่ถูกต้องและค้นหาได้ง่ายเกี่ยวกับการเลือกตั้ง ทั้งข้อมูลสถานที่เลือกตั้ง วันเวลา และอื่นๆ ที่จำเป็น ซึ่ง เป็นคอนเทนต์ TikTok ที่จะสร้างขึ้นมาเป็นแท็บให้

“TikTok มีการสร้างศูนย์ข้อมูลการเลือกตั้ง (Election Centre) เพื่อช่วยให้ผู้ใช้งานเข้าถึงข้อมูลที่เป็นทางการเกี่ยวกับการเลือกตั้ง ทั้งขั้นตอนในการใช้สิทธิ์ ข้อมูลของพรรคการเมืองและนักการเมือง และข้อมูลอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง ซึ่งถือเป็นบริการการประกาศเพื่อประโยชน์ของสาธารณะ (Public Service Announcement) โดยมีการเชื่อมต่อข้อมูลกับสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งแห่งประเทศไทย หรือ กกต. หน่วยงานหลักที่ควมคุมดูแลการจัดการเลือกตั้งในประเทศไทย”

เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้ผู้ใช้งานส่งต่อเนื้อหาที่ไม่ถูกต้องในช่วงของการเลือกตั้ง ก่อนที่ผู้ใช้งานจะกดยืนยัน ในการส่งต่อเนื้อหานั้นๆ จะมีข้อความขึ้นเตือนให้ผู้ใช้งานพิจารณาและตรวจสอบข้อเท็จจริงก่อนเสมอ และหากผู้ใช้งานเห็นว่าเนื้อหาดังกล่าวละเมิดหลักเกณฑ์สำหรับชุมชนหรือเป็นข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง ผู้ใช้งานสามารถใช้ปุ่ม Election Report Button หรือปุ่มรายงานเนื้อหาเกี่ยวกับการเลือกตั้งเพื่อรายงานเนื้อหาดังกล่าว

เครื่องมืออื่นๆ เพื่อ พื้นที่ปลอดภัยในการไถฟีด

นอกจากนี้ ยังมีการเปิดเผยเกี่ยวกับเครื่องมือที่ TikTok ได้พัฒนาขึ้นมาเพื่อจัดการปัญหาด้านเนื้อหาที่บิดเบือนและเป็นอันตรายต่อหลักเกณฑ์ของชุมชน ภายใต้แคมเปญ #พื้นที่ปลอดภัยในการไถฟีด ได้แก่ 

1.ระบบการจัดการเนื้อหา (Content Moderation) ที่มีการผสานการทำงานระหว่างเทคโนโลยีและทีมปฏิบัติงานของ TikTok ที่คอยตรวจสอบเนื้อหาบนแพลตฟอร์มตลอด 24 ชั่วโมง รวมถึงการเปิดโอกาสให้ผู้ใช้งานที่พบเห็นเนื้อหาที่ละเมิดหรือมีความเสี่ยง สามารถรายงานเนื้อหาดังกล่าว ส่งให้ทีมปฏิบัติงานของ TikTok ตรวจสอบและดำเนินการต่อไป

2.Information Hub ที่เครื่องมือทำให้ผู้ใช้งานสามารถเข้าถึงแหล่งข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์ที่ส่งผลกระทบต่อสังคม เช่นในช่วง COVID-19 TikTok มีการนำข้อมูลจากศูนย์ข้อมูล COVID-19 มาไว้บนแพลตฟอร์ม เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ใช้งานเข้าถึงข้อมูลที่ถูกต้องได้ง่ายยิ่งขึ้น รวมถึงเครื่องมืออย่าง Information Tag และ Live Banner ที่จะปรากฏอยู่บนวิดีโอหรือไลฟ์สตรีมมิ่งที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับประเด็นทางสังคมต่างๆ เพื่อให้ผู้ใช้งานเข้าถึงแหล่งข้อมูลที่เป็นทางการได้

3.พันธมิตรที่มีความเชี่ยวชาญในด้านการตรวจสอบข้อมูล (Fact-Checking) ทั้งในระดับโลกและในประเทศ อาทิ สำนักข่าวต่างประเทศ อาช็องซ์ ฟร็องซ์ เปร็ส (Agence France-Presse) หรือ AFP และหน่วยงานอย่าง Lead Stories รวมถึงการทำแคมเปญร่วมกับ โคแฟค (COFACT) ในการสร้างศูนย์รวมข้อมูลการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลอย่างปลอดภัยและสร้างสรรค์ สร้างแคมเปญสร้างการรับรู้ และการให้ความรู้เกี่ยวกับระบบความปลอดภัยบนแพลตฟอร์ม ที่ช่วยให้ผู้ใช้งานสามารถเข้าถึงข้อมูลที่มีความถูกต้องและน่าเชื่อถือ