เจาะแนวคิด CEO ใช้ TikTok หาเทรนด์ใหม่ ต่อยอดธุรกิจจากคอมเมนต์

ติ๊กต๊อก

ครีเอเตอร์ เป็นอาชีพในฝันของคนยุคปัจจุบัน หากพิจารณาผลการศึกษาที่น่าสนใจจาก Adobe เกี่ยวกับ Creator Economy พบว่า อุตสาหกรรมดิจิทัลมีครีเอเตอร์มากกว่า 303 ล้านคนทั่วโลก

โดยมากกว่าครึ่งเริ่มเป็นครีเอเตอร์ในปี 2563 การเติบโตอย่างก้าวกระโดดของจำนวนครีเอเตอร์จากทั่วโลก สัมพันธ์กับแพลตฟอร์มต่าง ๆ ที่เปิดโอกาสให้ทุกคนสามารถเป็นครีเอเตอร์ได้ เพราะเป็นเครื่องมือที่รองรับการสร้างคอนเทนต์ให้เข้าถึงได้มากขึ้น และสำหรับ TikTok ได้กลายเป็นพื้นที่แห่งโอกาส เพราะไม่ว่าใครก็เป็น TikTok Creators ได้ง่าย ๆ ด้วยสมาร์ทดีไวซ์เพียงเครื่องเดียว

มีครีเอเตอร์จำนวนนับไม่ถ้วนที่เกิดและเติบโตอย่างมั่นคงบน TikTok ซึ่งในอีกมุมหนึ่งชี้ให้เห็นว่า ไม่ได้เป็นแค่แพลตฟอร์มในการแสดงออกความเป็นตัวตนเท่านั้น แต่ยังเต็มไปด้วยชุดข้อมูลความรู้ และเป็นช่องทางสื่อสารสำคัญอีกช่องทางหนึ่งขององค์กรหรือแบรนด์ด้วย จึงมีซีอีโอจำนวนมากสวมหมวกเป็นครีเอเตอร์บน TikTok ดังเช่น “ขจร เจียรนัยพานิชย์” หรือที่รู้จักกันในชื่อ แฟนพันธุ์แท้สตีฟจ็อบส์ ผู้ก่อตั้ง MacThai MangoZero และ RAiNMaker และล่าสุดในฐานะผู้จัดงาน iCreator Coference 2022 มหกรรมรวมครีเอเตอร์แนวหน้าและแพลตฟอร์มชั้นนำที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของประเทศ และ พรรณระพี โกสิยพงษ์” (@preaw.panrapee) เจ้าของธุรกิจในอุตสาหกรรมแฟชั่น ผู้ให้คำจำกัดความตัวเองว่า เป็นเจ้าของโรงงานตัดเย็บและสกรีนแห่งหนึ่ง เธอคือผู้ก่อตั้ง ทำ-มา-หา-กิน

โลกแห่งความท้าทายและการค้นพบ

“ขจร” กล่าวว่า เส้นทางการเป็นครีเอเตอร์นั้นเต็มไปด้วยประสบการณ์ ตนเริ่มต้นกับ TikTok ด้วยการทดลองใช้ จากการไถฟีดอย่างเดียว ไปจนถึงการลองสร้างคอนเทนต์หลาย ๆ แนว จนค้นพบสิ่งที่เหมาะกับตัวเอง

“ในโลกดิจิทัลเต็มไปด้วยโอกาส คนที่มองเห็นและหยิบมาใช้ก่อนจะได้เปรียบกว่า โดยเฉพาะถ้าอยู่ในจุดที่เป็นผู้นำองค์กร ต้องรับผิดชอบองค์กรและทีมงาน คอยมองหาโอกาสที่สามารถนำมาปรับใช้กับธุรกิจได้ ต้องกล้าที่ลอง ก้าวไปก่อน เป็นตัวอย่างให้ทีม

การที่อยู่ในแวดวงของเทคโนโลยีและสื่อทำให้เห็นเทรนด์ และเห็นแพลตฟอร์มใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นตลอด รู้ว่าถ้ามีกระแสในต่างประเทศเกิดขึ้น จากนั้นอีก 1-2 ปี จะมาฮิตในไทยแน่นอน ต้องบอกว่า TikTok เป็นแพลตฟอร์มที่เติบโตเร็วเกินคาดมาก ๆ ผมรู้จัก TikTok ตั้งแต่เริ่มดังที่สหรัฐอเมริกา พริบตาเดียวคือมาไทยแล้ว เร็วกว่าที่คิด และใช้เวลาสั้นมากสำหรับการขยายฐานผู้ใช้ทั้งในไทยและทั่วโลก

ขจร เจียรนัยพานิชย์
ขจร เจียรนัยพานิชย์ ผู้ก่อตั้ง MacThai MangoZero และ RAiNMaker

เสน่ห์ของ TikTok สำหรับผมคือความฉลาดของอัลกอริทึมของแพลตฟอร์มนี้ ที่เข้าใจผู้ใช้และเข้าใจเทรนด์ สิ่งที่ปรากฏอยู่หน้าฟีดจะสะกดให้คุณเลื่อนดูไปเรื่อย ๆ ด้วยความเพลิดเพลินและความสุข เพราะมันตรงกับความสนใจของแต่ละคน แต่ในขณะเดียวก็นำเสนอเรื่องอื่น ๆ ที่ผู้ดูอาจจะสนใจเช่นกัน

จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่คนจะใช้เวลากับ TikTok ไปอย่างไม่รู้ตัว นอกจากจะเอื้อต่อผู้ใช้แล้ว ฟีเจอร์หรือเครื่องมือต่าง ๆ ของ TikTok ยังสนับสนุนการเป็นผู้สร้างด้วยเช่นกัน การผลิตคอนเทนต์วิดีโอที่มีความซับซ้อน ไม่ว่าจะการถ่าย ตัดต่อ ใส่เพลง ใส่ซับไตเติ้ล ใส่วิดีโอเอฟเฟคต่าง ๆ สามารถครีเอทได้ภายในสมาร์ทโฟนเครื่องเดียว ง่าย สะดวก ประหยัด ขนาดอาม่าผมยังทำเองได้เลย

แรก ๆ ที่เริ่มทำคอนเทนต์บน TikTok ลองทำทุกแนว เต้นก็ลองมาแล้ว จนเริ่มทำคอนเทนต์ให้ความรู้ตามความถนัดของเรา ทีนี้อะไรที่เป็นตัวตนจริง ๆ กลายเป็นสิ่งที่ตรงกับความสนใจของคนอื่น ยอดวิวพุ่งขึ้นต่อเนื่อง จากหลักร้อย พัน ไปจนถึงหลักล้าน และค้นพบว่า คนดูเราเพราะเป็นเรา เพราะความรู้ที่ได้จากเรา ไม่ใช่การพยายามเป็นเหมือนคนอื่น”

“ขจร” กล่าวด้วยว่า ความพิเศษของ TikTok คือ เราไม่สามารถ copy & paste คอนเทนต์จากแพลตฟอร์มอื่น ๆ มาใช้ได้ เพราะมีความแตกต่างกัน บน TikTok เราต้องใส่ความคิดสร้างสรรค์ไปด้วย ทำคอนเทนต์เล่าเรื่องยังไงให้สนุก อันนี้เป็นสิ่งที่ท้าทายมาก

“การสร้างช่องทางของตัวเอง แบรนด์ หรือองค์กรบนโลกดิจิทัล คนมักจะเข้าใจว่าจะต้องมีจำนวนผู้ใช้เยอะ ๆ ก่อน แต่สำหรับผมมองว่าคนที่เข้าไปในช่วงการเติบโตของแพลตฟอร์มนั้นได้เปรียบ เพราะช่วงการเติบโตจะพุ่งไวกว่า และที่สำคัญการสร้างช่องให้โตไปพร้อมกับแพลตฟอร์มนั้นใช้งบน้อยกว่าแน่นอน ถึงยุคที่ผู้นำต้องเป็นทั้งภาพลักษณ์และกระบอกเสียงขององค์กรแล้ว ในเมื่อช่องทางของการสื่อสารบน TikTok ง่ายและเอื้ออำนวยขนาดนี้ ก็ไม่มีเหตุผลที่จะไม่ลองใช้”

โอกาสและการต่อยอดธุรกิจ

“พรรณระพี” เล่าเบื้องลึกเบื้องหลังอุตสาหกรรมแฟชั่นที่เน้นรณรงค์ให้ผู้คนมาสนใจเรื่องของ fast fashion ว่าส่งผลต่อสิ่งแวดล้อม และมีความตั้งใจที่จะผลักดันอุตสหกรรมเสื้อผ้าให้ไปได้ไกลอย่างยั่งยืน กล่าวว่า ตอนแรกคิดว่า TikTok ไม่ใช่พื้นที่ของตนเอง เพราะผู้คนใน TikTok ส่วนใหญ่สนุกและเต้นเก่ง ในขณะที่ตัวเองทำคอนเทนต์บนโซเชียลมีเดียอื่น ๆ มาแบบเนิร์ด คือเป็นความรู้เชิงลึกเกี่ยวกับการผลิตเสื้อผ้า

“สิ่งที่ลงใน TikTok ช่วงแรก ๆ เป็น video info-graphic ที่มีอยู่แล้ว เอามาโพสต์ ซึ่งคนไม่สนใจ อาจเพราะดูไม่ friendly ดูไม่เข้ากัน แต่สิ่งหนึ่งที่พบตอนนั้นคือ มีกลุ่มคนให้ความสนใจเรื่องสิ่งแวดล้อม เรื่องของขยะ และความยั่งยืนในอุตสาหกรรมแฟชั่น ซึ่งตรงกับความตั้งใจของเรา ที่อยากสร้างการรับรู้และการมีส่วนร่วมของผู้คนในเรื่องนี้

จากนั้นเริ่มต้นจริง ๆ คงมาจากการทำวิดีโอสั้น ๆ เล่าถึงนิทรรศการของตัวเองที่จัดขึ้นที่ Gallery ที่เจริญกรุง (ATT19) แล้วมีคนสนใจเข้ามาดูทำให้เราเริ่มเข้าใจว่า คนบน TikTok เค้าดูอะไรที่เป็นจริง จับต้องได้ เลยเริ่มเอาคอนเทนต์ที่เราทำอยู่แล้วเกี่ยวกับเบื้องหลังของแวดวงแฟชั่นมาย่อย และมีการพาไปดูโรงงานผลิตเสื้อผ้า ขั้นตอนการผลิต แหล่งซื้อผ้า แหล่งขายวัสดุตกแต่งเสื้อผ้า เพราะอยากให้คนเข้าใจที่มาที่ไปของเสื้อผ้า ว่าแต่ละต้องผ่านกระบวนการอะไรมากมาย เพื่อให้คนเห็นคุณค่า

พรรณระพี โกสิยพงษ์
พรรณระพี โกสิยพงษ์ ผู้ก่อตั้ง ทำ-มา-หา-กิน เจ้าของธุรกิจในอุตสาหกรรมแฟชั่น

กลายเป็นว่าคอนเทนต์ความรู้เชิงลึกที่เราทำ กลับมีกลุ่มคนที่ให้ความสนใจอย่างจริงจัง มี engagement ที่ดีมากกว่าแพลตฟอร์มอื่น ๆ คนที่มาคอมเมนต์ส่วนใหญ่ เป็นลูกค้ และคนที่อยู่ในอุตสาหกรรมเดียวกับเรา จึงมีความเรียล (real) มาก ซึ่งมีประโยชน์ทั้งต่อผู้ใช้และตัวเองไปจนถึงธุรกิจของเรา”

จากความไม่มั่นใจในช่วงแรก แต่ในวันนี้เรียกได้ว่า “พรรณระพี” ยืนหนึ่งในการทำคอนเทนต์ให้ความรู้เกี่ยวกับอุตสาหกรรมเสื้อผ้าบน TikTok ที่ผู้ประกอบการธุรกิจแฟชั่นไม่ควรพลาดไปพร้อมกับการขยายธุรกิจในแบบที่ทุกคนต้องทึ่ง

“เมื่อก่อนเราทำธุรกิจแบบ B2B อย่างเดียว ไม่สนใจอย่างอื่น TikTok เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ขยายธุรกิจมาเป็น B2C และพบว่าประสบความสำเร็จสูงมาก ล่าสุดคือเพิ่งจะเปิดสาขา 2 ไปเมื่อเร็ว ๆ นี้ กลุ่มลูกค้าก็ขยายขึ้นเติบโตขึ้นแบบที่เรียกว่าก้าวกระโดดเลย” พรรณระพีกล่าว

“พรรณระพี” กล่าวด้วยว่า ตอกนแรกมองว่าการทำคอนเทนต์บน TikTok คือการให้ความรู้ แต่กลายเป็นว่า คนทำได้รับอะไรกลับมาเยอะมาก ทั้งมุมมองใหม่ ๆ จากลูกค้าไปจนถึงคู่ค้าใหม่ ๆ ได้รับความเชื่อมั่นกลับมามากจริง ๆ มีคนเข้าใจและเห็นภาพรวมอุตสาหกรรมไปในทิศทางเดียวกัน

“ไอเดียขยายธุรกิจมาจากคอมเมนต์บน TikTok สำหรับเรามองว่า TikTok เป็นเหมือน R&D ที่รวมตัวกับทีมการตลาดที่ช่วยสะท้อนและฉายภาพให้เราเห็นทิศทางธุรกิจที่กำลังจะเติบโต ก้าวต่อไปของบริษัทที่จะเกิดขึ้นในปีนี้คือการเข้าไปอยู่บน TikTok Shop เพราะเรามองว่าอีคอมเมิร์ซโซลูชันนี้สามารถตอบโจทย์ธุรกิจได้แน่นอน และในฐานะผู้นำบริษัทเรามองว่า TikTok เป็นหนึ่งในทางเลือกที่ดีที่ช่วยให้ธุรกิจเติบโตได้”

มุมมองจาก CEO ที่สวมหมวกของครีเอเตอร์ ทั้ง 2 ท่านที่แชร์ประสบการณ์เหล่านี้ นอกจากจะย้ำความเป็น Trusted Entertainment Platform Powered by Our Community ของ TikTok แล้ว ยังแสดงให้เห็นถึง โอกาสและแนวคิดใหม่ ๆ ที่สามารถสร้างประโยชน์ให้ทั้งกับผู้ใช้ ครีเอเตอร์ ตลอดจนแบรนด์และผู้ประกอบการในแง่มุมอื่น ๆ อีกมากมายเช่นกัน