Shopee-Lazada กอดคอขึ้นค่าธรรมเนียม ดีเดย์ 1 เม.ย.นี้

ค้าออนไลน์
ภาพจาก https://unsplash.com/

ผู้ค้าออนไลน์ไทยหนีเสือปะจระเข้ 2 ยักษ์อีคอมเมิร์ซ Shopee-Lazada พร้อมใจขึ้นค่าธรรมเนียมการขาย-บริการสูงสุด 4.28% ดีเดย์ 1 เมษายน 2566 นี้

วันที่ 18 มีนาคม 2566 ยักษ์อีคอมเมิร์ซ 2 รายใหญ่ทั้ง Shopee และ Lazada พร้อมใจกันขึ้นค่าธรรมเนียมการขาย และค่าธรรมเนียมการใช้บริการ ซึ่งผู้ค้าต้องจ่ายให้แพลตฟอร์มในอัตรา 2.14 – 4.28% เท่ากันทั้ง 2 แพลตฟอร์ม เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2566 นี้ เป็นต้นไป

Shopee ขึ้นค่าธรรมเนียมผู้ค้า Non-Mall

โดย Shopee ประกาศขึ้นค่าธรรมเนียมการขาย สำหรับผู้ค้า Non-Mall Seller ทุกราย จาก 2.14% เป็นอัตรา 4.28% ใน 3 หมวด คือ

  1. สินค้าแฟชั่นทุกหมวดหมู่ยกเว้นเครื่องประดับ
  2. เครื่องประดับที่ไม่ใช่เครื่องประดับมีมูลค่า (Fine Jewelry)
  3. เครื่องประดับมีมูลค่า แต่ไม่ใช่ทอง แพลตตินั่ม

ส่วนสินค้าอื่น ได้แก่ หมวดอิเล็คทรอนิกส์ เครื่องประดับทอง เครื่องประดับแพลตตินั่มและทอง รวมถึงสินค้าไลฟ์สไตล์ อุปโภค-บริโภคและอื่น ๆ จะเสียค่าธรรมเนียมการขายเพิ่มจาก 2.14% เป็น 3.21%

ขณะที่อัตราค่าธรรมเนียมการทำธุรกรรมของ Shopee จะยังเท่าเดิม ไม่ว่าจะเป็นส่วนที่เรียกเก็บ 3.21% เมื่อผู้ซื้อชำระค่าสินค้าด้วยวิธีการอื่นๆ นอกจากบัตรเครดิต หรือค่าธรรมเนียมการผ่อนผ่านบัตรเครดิตระยะ 3, 6 และ 10 เดือน ในอัตรา 3.75%, 5.35% และ 5.89% ตามลำดับ

Advertisment

เช่นเดียวกับค่าธรรมเนียม ทำธุรกรรมผ่าน Spcial SPAYLATER ในอัตรา 3.21 – 5.89% ขึ้นกับระยะเวลาผ่อน

Lazada ขึ้นค่าธรรมเนียมการใช้บริการ

Advertisment

ขณะที่ Lazada ประกาศขึ้นอัตราค่าธรรมเนียมการใช้บริการมาร์เก็ตเพลซ ในอัตราเดียวกับ Shopee คือ จากอัตราเดิมที่ 2.14% (รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% แล้ว) เท่ากันทุกหมวดสินค้า เป็นอัตรา 3.21-4.28% ขึ้นอยู่กับหมวดสินค้าที่ผู้ค้าแต่ละรายขาย

โดยหลังจากวันที่ 1 เมษายน 2566 หมวดสินค้าแฟชั่นอื่น ๆ (นอกเหนือจากเครื่องประดับ) จะเสียค่าธรรมเนียมสูงสุดในอัตรา 4.28% หรือเพิ่มขึ้นเท่าตัวจากอัตราเดิมที่ 2.14% ในขณะที่กลุ่มอื่นได้แก่ สินค้าดิจิทัล สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ สินค้าอุปโภคบริโภค สินค้าทั่วไป สินค้าแฟชั่นที่เป็นเครื่องประดับ เครื่องประดับมีมูลค่า เครื่องประดับเพื่อการลงทุน แพลทินัมและทอง ต่างเสียค่าธรมเนียมในระดับ 3.21%

อย่างไรก็ตาม การปรับค่าธรรมเนียมของลาซาด้านั้น ยังมีจุดแตกต่างจาก Shopee คือ การเสนอส่วนลดค่าธรรมเนียมส่วนเพิ่ม 1.07% เป็นระยะเวลาสูงสุด 3 เดือน (1 เม.ย.-30 มิ.ย. 66) ให้กับร้านค้าที่ผ่านเงื่อนไข 3 ข้อ คือ

  1. เป็นร้านที่เข้าร่วมโปรแกรมจัดส่งเร็วพิเศษหรือใช้บริการขนส่ง Lazada Express รวมถึงบริการผู้จัดส่งแบบเข้ารับ 2 ราย (MPU)
  2. มีอัตราการจัดส่งเร็วพิเศษมากกว่า 95%
  3. เป็นร้านค้าในระดับ 4 หรือสูงกว่า

โดยจะมีการตรวจสอบร้านค้าที่ผ่านเงื่อนไขดังกล่าวทุกสิ้นเดือน และร้านค้าจะต้องจ่ายค่าธรรมเนียมในอัตราปกติไปก่อน แต่จะได้รับเงินส่วนต่างค่าธรรมเนียมคืนภายใน 2 เดือน

แนะรัฐจับตา กันการผูกขาด

หลังการประกาศขึ้นค่าธรรมเนียมนี้ ภาวุธ พงษ์วิทยภานุ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทเพย์ โซลูชั่น จำกัด และผู้ก่อตั้งบริษัท ตลาด ดอท คอม กรุ๊ป จำกัด โพสเฟสบุ๊กแสดงความกังวลว่า อาจเกิดการผูกขาดการค้าออนไลน์ เนื่องจากปัจจุบันในไทยเหลือแพลตฟอร์มมาร์เก็ตเพลสใหญ่เพียง 2 ราย คือ Shopee และ Lazada เท่านั้น

พร้อมแนะให้หน่วยงานรัฐอย่างกระทรวงพาณิชย์และสำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า เริ่มสังเกตปัจจัยต่าง ๆ เช่น ราคาค่าบริการ การขึ้นราคาว่าเป็นธรรมหรือไม่ เพื่อให้มั่นใจได้ว่ามาร์เก็ตเพลส ไทยมีการแข่งขันและการให้บริการเป็นธรรมกับทุกฝ่ายทั้งผู้ค้า ผู้บริโภค รวมไปถึงเจ้าของแพลตฟอร์มซึ่งที่ผ่านมาลงทุนวางรากฐานและสร้างตลาดไประดับหมื่นล้านเหมือนกัน

“อย่างที่ผมคาดการณ์ในเทรนด์ E-Commerce ประเทศไทยปีนี้เป๊ะ คือ เมื่อสงคราม E-Marketplace จบลงแล้ว Lazada และ Shopee ก็จะกอดคอกันขึ้นราคาค่าบริการ เพื่อเริ่มเข้าสู่ เกมทำกำไร เต็มรูปแบบ

โดยเริ่มขึ้นราคาค่าบริการ และเก็บค่าบริการต่าง ๆ เพิ่มขึ้น เพราะเขาเองก็ ลงทุนใช้เงินจำนวนมาก ขาดทุนไปเป็นหมื่นล้านตลอด 10 ปี และเมื่อการลงทุนไปมากมาย (แจกคูปอง โปรโมชั่นส่งฟรี, อัดโฆษณาต่าง ๆ มากมาย) ตอนนี้ก็ได้เวลาเก็บผลผลิตที่ได้ลงทุนทำไว้…

แต่ผมกังวลเรื่อง “การผูกขาดการค้าออนไลน์”​ โดยเฉพาะ Marketplace เพราะตอนนี้ในประเทศไทย เรามีแค่ Lazada กับ Shopee เท่านั้นจริงๆ เจ้าอื่นไปหมดแล้ว หน่วยงานรัฐ (กระทรวงพาณิชย์ และ สำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า) ควรเริ่มสังเกตุดูถึงการราคาค่าบริการ การขึ้นราคา เป็นธรรมกับลูกค้าหรือไม่? ซึ่งเอาจริงๆ ก็ต้องแฟร์กับเค้าด้วย เพราะเค้าก็เทเงินเป็นหมื่นๆ ล้าน ที่ผ่านมา

ดังนั้นการมีตัวกลางอย่างรัฐเข้ามาดูและสอดส่อง จะได้ทำให้เรามั่นใจว่า การให้บริการ E-Marketplace ไทย แข่งขันและเป็นธรรมกับทุกๆ ฝ่ายจริง ๆ” ภาวุธ พงษ์วิทยภานุ กล่าว