คุยกับ Avengers ทีม ThaiGPT โอกาสยุค เอไอ ปฏิวัติโลก

Avengers ทีม ThaiGPT
สัมภาษณ์

กระแสการใช้ปัญญาประดิษฐ์เชิงกำเนิดยุคใหม่ (Generative A.I.) จุดชนวนขึ้นจากการเปิดตัว ChatGPT ของ OpenAI ส่งผลสะเทือนไปทุกวงการ โดยแต่ละธุรกิจต่างมองหาโอกาสในการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีเอไอแชตบอต

นั่นทำให้ “หมอจิม-นพ.ภาณุทัต เตชะเสน” คุณหมอผู้หลงใหลในการพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์มากกว่ามีดผ่าตัดที่จับตาพัฒนาการของเอไอที่ใช้โมเดล GPT มายาวนาน มองว่า การฝึกเอไอแชตบอตยังขาด “ภาษาไทย” ซึ่งเป็นพื้นฐานให้นักพัฒนาซอฟต์แวร์ และธุรกิจใช้ต่อยอดเทคโนโลยีได้แม่นยำขึ้น จึงชักชวน “โดม เจริญยศ” ผู้ก่อตั้งและซีอีโอ บริษัท โทเคนไนน์ จำกัด

ผู้เชี่ยวชาญด้านบล็อกเชน มาร่วมกันก่อตั้ง บริษัท ThaiGPT เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานการฝึกปัญญาประดิษฐ์ GPT3 ด้วยภาษาไทย โดยมี “สกลกรย์ สระกวี” ประธานกรรมการเครือบริษัท บิทคับ แคปปิตอล กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด เข้ามาอาสาคิดโมเดลธุรกิจให้

“ประชาชาติธุรกิจ” มีโอกาสพูดคุยกับทั้ง 3 บุคคลสำคัญนี้

ฉายภาพ A.I. Summer

“หมอจิม” เท้าความว่า เอไอ ได้เริ่มพัฒนามานานแล้ว โดยเฉพาะ Generative A.I. แต่มนุษย์ยังไม่เชื่อว่าจะทำอะไรได้

“เราผ่านยุค A.I. winter มาสองครั้ง ครั้งแรกปี 2012 เกิด computer vision ที่คอมพิวเตอร์จำแนกภาพต่าง ๆ ได้ หลังจากนั้นก็เงียบไปจนถึงปี 2017 เกิด neural networkทำให้เกิดแมชีนเลิร์นนิ่งอีกระดับ เกิดสิ่งที่เรียกว่า transformer โดย Google ตอนนี้เองที่โมเดลภาษา GPT1 (generative pretrained transformer) เกิดขึ้น transformer มาจาก Google”

“ในตอนแรก มีคนเก่ง ๆ ด้านเอไอได้มารวมกันตั้ง OpenAI ขึ้นเมื่อ OpenAI เกิดขึ้นก็มีการพัฒนา GPT2 ที่เก่งขึ้น จากเดิมที่เอไอตอบอะไรไม่ค่อยตรงก็เริ่มดีขึ้น ล่าสุด GPT3 ปี 2020 ที่มีการจูนใหม่ให้เป็น ChatGPT ที่ไม่ใช่แค่การเทรนเอไอให้ตอบตรงคำถามแต่เป็นการ “ตอบให้มนุษย์พอใจด้วย”

GPT3 ทำให้ผู้คนเริ่มเห็นแล้วว่าสร้างอะไรหลายได้อย่างไม่จำกัด โดยการใช้โมเดลภาษานี้ ขอแค่คิดเป็นคำพูดแล้วสั่ง และมนุษย์จะเริ่มชินกับการใช้งานแชตบอตแบบนี้มากขึ้นเรื่อย ๆ

“ตอนนี้เราอยู่ในยุค AI summer หลังผ่าน winter มาสองครั้ง ทุกคนกำลังมองหาโอกาสที่จะบูรณาการ GPT3 เข้ากับธุรกิจหรือซอฟต์แวร์ของตนเอง GPT3 ไม่ใช่แค่แชต แต่คือโครงสร้างพื้นฐานที่ทุกคนไปเชื่อมต่อกันได้ ทุกวันนี้มีแอปพลิเคชั่นเกิดใหม่วันละ 200 กว่าแอป เริ่มใช้โมเดล GPT บูรณาการเข้าไป ดังนั้นทุกคนจะโดนบังคับให้ปรับใช้โดยธรรมชาติ เอไอช่วยให้การทำงานเป็น ออโตเมชั่น มากขึ้น”

อุปสรรคของธุรกิจไทย

“หมอจิม” อธิบายว่า แอปใหม่ ๆ ที่ทยอย integrate ตัวเองกับ GPT มีอุปสรรคกับแอปที่ใช้ภาษาไทย หรือฐานข้อมูลที่เป็นภาษาไทย เพราะข้อมูลกว่า 250 ล้านเอกสาร บน GPT3 ขนาด 75 เทราไบต์ มีภาษาไทยแค่ 4.1 หมื่นฉบับ หรือมีดาต้าภาษาไทยแค่ 0.016%”

“อีกปัญหาคือ การตอบของแชต คือการนำข้อมูลจากหลายภาษามารวมกัน บางครั้งก็ผิดพลาด ยิ่งเป็นภาษาไทยยิ่งไม่แม่นยำเป็นอุปสรรคของธุรกิจในไทยที่ใช้ข้อมูลเป็นภาษาไทยอินทิเกรตตัวเองกับ GPT จึงต้องทำโซลูชั่นบน GPTภาษาไทยขึ้นมา

“ผมเฝ้าดูพัฒนาการของ GPT มานาน กระทั่งไมโครซอฟท์ลงทุนใน OpenAI เอา GPT3 เข้าไปต่อกับ Bing และอีกหลายโปรดักต์จึงเห็นสถาปัตยกรรมของ Bing ขี่อยู่บนหลังของ GPT เลยใช้จุดนี้ทำ proof of concept สถาปัตยกรรมที่เป็นภาษาไทยไปขี่บน GPT บ้าง ถามว่าทีม OpenAI เขาทำภาษาไทยไหมเขาก็ทำแต่จะช้า เพราะไม่ได้โฟกัส จึงต้องมีสักคนที่ทำตรงนี้โดยเฉพาะ”

“หมอจิม” มองว่าจะเห็นการใช้แทบทุกส่วนภายใน 6 เดือน โดยที่ผู้ใช้งานจะไม่รู้ตัวว่ากำลังใช้แอปที่มีเอไอ GPT อยู่ ซึ่ง ThaiGPT เองก็จะเริ่มทดสอบโซลูชั่นภาษาไทยในเดือนหน้า

ครีเอตโซลูชั่นภาษาไทย

“โดม เจริญยศ” อีกหนึ่งผู้ก่อตั้ง “ThaiGPT” จะเข้ามาทำโครงสร้างพื้นฐานของระบบ ไม่ว่าจะเป็นศูนย์ข้อมูล หรือการจัดหาชิปประมวลผล

“ในอนาคตทุกอย่างจะออโตเมต มากขึ้น เช่น การเขียนอีเมล์ถึงจุดหนึ่งอาจต้องมานั่งนึกว่าเคยต้องมานั่งเขียนอีเมล์ด้วยหรือ กับเรื่องอื่น ก็เช่นกัน จะกลายเป็นอัตโนมัติ”

และว่าตนมีรุ่นน้องที่ทำแบบเรียนเป็นหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ของแทบทุกระดับชั้น หากนำแบบเรียนเหล่านั้นเข้าไปเป็นฐานข้อมูลให้ ThaiGPT ได้ ก็จะดีต่อการเรียนรู้มาก ดังนั้นจึงไม่จำเป็นที่ต้องเพิ่มจำนวนข้อมูลภาษาใน GPT ให้เอไอตอบคำถามได้ครอบจักรวาลเหมือน ChatGPT แต่มาทำโซลูชั่นที่เฉพาะเจาะจง เช่น นำแบบเรียนเข้าไปสู่โมเดลเอไอกับข้อมูลของธุรกิจอื่นก็เช่นกัน ทำโซลูชั่นให้สโคปเล็กลง เฉพาะเจาะจงยิ่งขึ้น

มองโอกาสทางธุรกิจ

“สกลกรย์” พูดถึงโอกาสทางธุรกิจในการพัฒนา GPT ว่าด้วยความที่ไม่ใช่ผู้ที่เชี่ยวชาญด้านเอไอจึงเฝ้าดูตลอดมา เมื่อเห็น “หมอจิม” จะขับเคลื่อน ThaiGPT ให้เป็นโครงสร้างพื้นฐานทางธุรกิจจึงขอเข้ามาร่วมเพื่อช่วยดูแลโมเดลธุรกิจ

“บิทคับ เป็น Tech Company ที่อยากช่วยสร้างโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ การที่ ThaiGPT เป็นตัวเชื่อมด้านภาษาเข้ากับ GPT ถือเป็นโครงสร้างสำคัญในการต่อยอดธุรกิจในอนาคต การปรับใช้ในองค์กรภายในบิทคับก็ทำได้เลย โดยนำมาใช้เรื่องการบริการลูกค้าได้จากฐานข้อมูลที่เป็นภาษาไทย”

หรือในอุตสาหกรรมเกม ถ้าใส่โมเดลภาษาเข้าไปจะทำให้บทพูดแตกต่าง และ generate เรื่องราวได้ไม่สิ้นสุด หรือแม้แต่เพลงที่เริ่มมีการ generate ใน chat แล้ว

ฝั่งอุตสาหกรรมคริปโตเองก็ตื่นกระแสเอไอมากจนราคาเหรียญของโปรเจ็กต์เกี่ยวกับเอไอผันผวนรุนแรง การเข้ามาร่วมทำตรงนี้ทำให้พิจารณาเหรียญเกี่ยวกับเอไอได้ดีขึ้นทั้งต้องพิจารณาด้วยว่าจะช่วยพัฒนาเทคโนโลยีอะไรในโลกบล็อกเชนได้บ้าง หรือบล็อกเชนจะช่วยสนับสนุนการพัฒนาเอไอได้อย่างไร

AI พบบล็อกเชน-คอยน์

“โดม” กล่าวว่า เมื่อการใช้เอไอแพร่หลาย ปัญหาที่ตามมาคือ กำลังการประมวลผล ซึ่งยังเป็น “ไอเดีย” ว่าจะทำอย่างไร เป็นการทำระบบช่วยกันส่งกำลังคำนวณเหมือนทำ proof of work ในบล็อกเชน ทำเหรียญทำคอยน์เพื่อให้ผู้ที่ช่วยทำธุรกรรมดีไหมอาจต้องมีเมื่อธุรกรรมเพิ่มสูงขึ้น

“หมอจิม” เสริมว่า ให้ลองคิดดูว่า ออโตเมชั่น เท่ากับ ทรานแซกชั่น การสั่งให้เอไอทำอะไรจะเกิดการถ่ายโอนข้อมูลมหาศาล แล้วเมื่อคนจำนวนมากใช้งานออโตเมชั่นต่าง ๆ โดยไม่รู้ตัวว่ามีเอไออยู่ข้างหลัง ทรานแซกชั่นมหาศาลเหล่านั้น จะเอาไปเก็บไว้บนเซิร์ฟเวอร์ที่ไหน ถ้าไม่ใช่ “บล็อกเชน”