ChatGPT เขย่าวงการ HR

ChatGPT
คอลัมน์ : SD Talk
ผู้เขียน : ดร.วัลลภา ซึ้งกมลพิสุทธิ์ วิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล

ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2023 คงไม่มี AI หรือปัญญาประดิษฐ์ไหนจะโด่งดัง และเป็นกระแสตอนนี้มากที่สุด อย่าง Open. AI’s ChatGPT หรือเรียกกันสั้น ๆ ว่า “ChatGPT” ปัญญาประดิษฐ์สุดล้ำ ซึ่งเปิดตัวไปเมื่อปลายปีที่แล้วนั่นเอง โดยการทำงานของ ChatGPT ช่วยตอบโต้ คำถาม และสร้างบทสนทนาอย่างเป็นธรรมชาติ รวมถึงช่วยในการทำงานด้านเอกสาร การเขียนจดหมาย และบันทึกต่าง ๆ อีกทั้งยังช่วยให้ข้อเสนอแนะความคิดต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี

อย่างไรก็ตาม ในช่วงสองสามปีที่ผ่านมา เราต้องเผชิญกับการรับมือกับการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เทคโนโลยีด้านไอทีต่าง ๆ เริ่มมีบทบาทมากขึ้น โดยเฉพาะการนำหุ่นยนต์และเทคโนโลยีมาทดแทนอัตรากำลังคนในหลายภาคธุรกิจ และในปีนี้ ChatGPT เป็นสิ่งที่ตอกย้ำอีกครั้งว่านวัตกรรมด้านปัญญาประดิษฐ์ยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยทำหน้าที่ต่าง ๆ แทนมนุษย์เป็นอย่างดี ยิ่งเฉพาะในตำแหน่งงานที่ไม่มีความซับซ้อน

ทั้งนี้ ในส่วนงานด้าน HR นั้น ChatGPT จะเข้ามาช่วย หรือเข้ามาทดแทน HR อย่างไร ?

ตรงนี้เป็นคำถามที่น่าสนใจอย่างมาก หากเราพิจารณาถึงการนำ ChatGPT ในการช่วยงาน HR ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยเฉพาะความสามารถในการจัดการและสื่อสารกับพนักงาน และผู้สมัครงานได้อย่างรวดเร็ว น่าจะเป็นตัวช่วยที่ดีเยี่ยม เป็นต้น

ยกตัวอย่างบทสนทนากับพนักงาน ChatGPT สามารถช่วยให้ HR business partner (HRBP) ตอบคำถามและให้ข้อมูลพนักงานในเรื่องของหน้าที่ความรับผิดชอบตาม JD, สวัสดิการของพนักงาน รวมถึงแผนการพัฒนาฝึกอบรมรายบุคคล แผนความก้าวหน้าทางสายอาชีพ และข้อมูลต่าง ๆ ที่อยู่ภายใต้การดูแลของฝ่ายงาน HR

สำหรับผู้สมัครงาน ChatGPT สามารถช่วยให้ข้อมูลพื้นฐานขององค์กร ตำแหน่งงานที่เปิดรับสมัคร รวมถึงขั้นตอนการส่งใบสมัคร เงื่อนไขการทำงานต่าง ๆ และสำหรับส่วนงานความรับผิดชอบอื่น ๆ ChatGPT ยังสามารถทำงานได้อย่างรวดเร็ว อาทิ การเขียน job description การเขียนนโยบาย กฎ ระเบียบต่าง ๆ เป็นต้น สิ่งเหล่านี้จะช่วยประหยัดเวลาและลดขั้นตอนการทำงานของ HR เป็นอย่างดี

สิ่งหนึ่งที่น่าสนใจโดยการนำนวัตกรรม ChatGPT มาต่อยอดในงาน HR โดยการใช้ ChatGPT เป็นตัวช่วยในการสำรวจปัจจัยความสุข และปัญหาในการทำงานที่แท้จริงของพนักงานในองค์กร ซึ่งน่าจะเป็นประโยชน์มากกว่าเมื่อเทียบกับวิธีดั้งเดิม

โดยวิธีนี้อาจทำให้พนักงานเพิ่มความมั่นใจ และกล้าแสดงความคิดเห็นต่าง ๆ อย่างปลอดภัย อีกทั้งยังช่วย HR และทีมผู้บริหารได้ข้อมูลที่ถูกต้องเพื่อพัฒนาองค์กรและเก็บรักษาพนักงานที่มีความสามารถไว้กับองค์กรเช่นกัน

ในทางกลับกัน หาก ChatGPT เข้ามาทำหน้าที่ทดแทนในงาน HR ข้างต้นแล้วนั้น องค์กรจำเป็นต้องมี HR ปฏิบัติงานในตำแหน่งดังกล่าวหรือไม่ ตรงนี้ก็เป็นคำถามที่น่าสนใจ เพราะขึ้นอยู่กับว่า HR สามารถปฏิบัติงานได้แตกต่างจาก ChatGPT หรือไม่ หากไม่มีอะไรแตกต่างแล้วนั้น ผู้เขียนเชื่อว่าหลาย ๆ ท่านมีคำตอบอยู่ในใจบ้างแล้ว

อย่างไรก็ตาม HR สามารถพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส โดยการนำประโยชน์ของ ChatGPT มาช่วยแบ่งเบาภาระในการทำงาน ทั้งนี้ เราจะมีเวลาเพิ่มขึ้นสำหรับการต่อยอดพัฒนาความรู้ ทักษะของ HR ให้สามารถปฏิบัติงานในส่วนที่ AI ChatGPT ยังทำหน้าที่ไม่สมบูรณ์นั่นเอง

เพราะในปัจจุบัน ChatGPT ยังมีข้อจำกัดอยู่บ้าง เช่น การให้ข้อมูลบางอย่างยังไม่ครบถ้วน หรือความถูกต้องแม่นยำยังไม่สามารถสร้างกลยุทธ์ด้านธุรกิจให้เหนือกว่าคู่แข่ง รวมถึงยังไม่สามารถแจ้งระบบเตือน หรือสามารถปรับเปลี่ยนข้อมูลอัตโนมัติต่าง ๆ ให้ทันต่อสถานการณ์ปัจจุบันแบบ real time

อย่างไรก็ตาม เราไม่สามารถปฏิเสธได้ว่าเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์นั้นมีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว ดังนั้น ไม่นานเกินรอเราอาจจะเห็น ChatGPT เป็นตัวช่วยหนึ่งที่มีประสิทธิภาพอย่างมากมายและลดข้อจำกัดต่าง ๆ ในเวอร์ชั่นปัจจุบัน

สุดท้าย ดิฉันอยากให้ทุกท่านทดสอบสมรรถนะความสามารถของ ChatGPT และเมื่อลองเล่นแล้วจะพบการการทำงานในชิ้นเดียวกันกับท่านอาจไม่รวดเร็วเท่า ChatGPT ซึ่งเป็นผู้สมัครที่เป็นคู่แข่งตัวสำคัญในงาน HR ที่อาจจะยึดตำแหน่งของท่านได้ในที่สุด