การเขียนหนังสือผ่าน ‘ChatGPT’

ChatGPT
คอลัมน์ : ชั้น 5 ประชาชาติ
ผู้เขียน : สาโรจน์ มณีรัตน์

“การเขียนหนังสือดูจะกลายเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ขึ้นมา”

คำกล่าวเบื้องต้นคือคำพูดของ “เบรตต์ ชิกเลอร์” เซลส์แมนจากเมืองโรเชสเตอร์ ประเทศสหรัฐอเมริกา

ผู้ซึ่งไม่เคยคิดว่าตัวเองจะเขียนหนังสือได้เลย เพราะวัน ๆ เขาต้องเดินทางติดต่อขายสินค้าตลอดเวลา แต่เมื่อเขาใช้โปรแกรมแชตบอตอัจฉริยะ “ChatGPT” ในการเขียนนิทานอีบุ๊กเรื่อง “กระต่ายน้อยเจ้าปัญญา”

โดยใช้เวลาเพียงไม่กี่ชั่วโมง แต่เขาสามารถเขียนนิทานได้มากกว่า 30 หน้า

ทั้งยังกำหนดธีมของเรื่องด้วยการเล่าผ่านตัวละคร (สัตว์ป่า) 2-3 ตัว โดยวางพลอตให้พ่อสอนลูกเกี่ยวกับวิธีการเก็บออม

เพื่อนำเงินเหล่านี้ไปลงทุน จนที่สุด ลูกก็นำเงินไปลงทุนในธุรกิจค้าลูกโอ๊ก จนร่ำรวยที่สุดในป่าใหญ่

ซึ่งเป็นพลอตง่าย ๆ ที่เกิดจากประสบการณ์ตรงของ “เบรตต์ ชิกเลอร์” แต่เมื่อเขานำนิทานเรื่องนี้ไปขายผ่านแพลตฟอร์มของแอมะซอนเมื่อเดือนมกราคม 2566 ผ่านมา ในราคา 2.99 ดอลลาร์สหรัฐ (103 บาท)

ปรากฏว่าสิ่งที่เขาไม่เคยเชื่อ กลับทำให้เขาเชื่อขึ้นมาทันที

เพราะมีคนเข้ามาซื้อหนังสือเขาอ่าน

แม้จะไม่เยอะแยะมากมาย และไม่ได้เงินเป็นกอบเป็นกำ แต่สำหรับค่าซื้ออีบุ๊กนิทานกระต่ายน้อยเจ้าปัญญา ประมาณ 100 ดอลลาร์สหรัฐ (3,450 บาท) ก็ทำให้เขาหัวใจพองโตขึ้นมา
ทันที

เพราะเขาไม่เคยคิดมาก่อนเลยว่า…ชีวิตนี้เขาจะเขียนหนังสือได้ แม้จะใช้โปรแกรม ChatGPT มาช่วยก็ตาม

กล่าวกันว่า ยอดขายหนังสือผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ของแอมะซอน โดยมีผู้เขียน และผู้เขียนร่วมเป็น ChatGPT เติบโตขึ้นอย่างน่าสนใจ

โดยเฉพาะเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2566 ผ่านมา มีหนังสือขายผ่านแพลตฟอร์มแอมะซอนมากกว่า 200 เล่ม

ทั้งยังมีแนวโน้มที่จะเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ อีกด้วย

ถามว่าตรงนี้เป็นการฉีกตลาดวงการเขียนหนังสือหรือไม่ ?

มาก…เพราะดั่งที่ทุกคนทราบดี การเขียนหนังสือไม่ว่าจะเป็นบทความ เรื่องสั้น กวีนิพนธ์ นวนิยาย หรืออื่น ๆ อีกมากมาย ผู้เขียนจะต้องมีความรอบรู้พอสมควร ทั้งยังต้องมีต้นทุนการอ่านสะสมมาอย่างยาวนาน แต่เมื่อ ChatGPT เกิดขึ้น ผมว่าคนที่ทำงานตรงนี้คงต้องหันกลับมามองตัวเองบ้างซะแล้ว

ไม่ต้องมองอย่างวิเคราะห์อะไรหรอก ?

หรือไม่ต้องมองอย่างกังวล แต่อยากให้มองว่าโลกของการเขียน ซึ่งมีโลกแห่งจินตนาการซุกซ่อนอยู่นั้น ไม่จำเป็นจะต้องเป็น “นักเขียนอาชีพ” เท่านั้น ถึงจะสามารถเขียนหนังสือได้ แต่บางทีอาจเป็นคนแก่ เด็ก หรือคนที่ไม่มีทักษะทางด้านนี้เพียงพอ ก็สามารถเขียนหนังสือได้เช่นกัน

เพราะหนังสือที่ถูกเขียนผ่านโปรแกรม ChatGPT ไม่จำเป็นต้องมีภาษาสวย ไม่จำเป็นต้องมีธีมสลับซับซ้อน หรือไม่จำเป็นจะต้องมีตัวละครมากมาย

แค่เล่าเรื่องง่าย ๆ น่าติดตาม และมีคำตอบสุดท้ายของเรื่องอย่างชัดเจน แค่นั้นก็จะทำให้คนอยากอ่านหนังสือขึ้นมาแล้ว

ผมเองก็รู้สึกอย่างนั้นเหมือนกัน

คุณล่ะคิดอย่างไร ?