วงการศึกษาไม่กังวล ChatGPT แนะคนไทยใช้เพื่อต่อยอดได้

ChatGPT

แวดวงการศึกษาไม่กังวล ChatGPT คนไทยทดลองใช้ไม่เสียหาย นำไปต่อยอดได้ แนะอาจารย์ทั่วประเทศปรับวิธีการสอน เพิ่มความลึกซึ้งของศาสตร์เอาชนะ AI

วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังเปิดตัว ChatGPT หรือแชตบอตของบริษัท OpenAI ในเดือนพฤศจิกายน 2565 ซึ่งเป็นแชตบอตที่ขับเคลื่อนด้วย AI มีข้อมูลบนโลกออนไลน์จำนวนมหาศาล สามารถโต้ตอบกับผู้ใช้งานได้อย่างไร้ขีดจำกัด จนกลายเป็นกระแสโด่งดัง

โดยเฉพาะในแวดวงการศึกษาต่างประเทศ นักเรียนนักศึกษาจำนวนหนึ่งได้ใช้เครื่องมือนี้ในการเขียนการบ้านส่งอาจารย์ หรือกระทั่งใช้ทำข้อสอบปลายภาค จนกลายเป็นประเด็นถกเถียง ขณะที่หลายมหาวิทยาลัยทั่วโลกออกกฎสั่งห้ามใช้หากฝ่าฝืนถึงขั้นไล่ออก 

ความลึกซึ้งของศาสตร์ชนะ AI

รองศาสตราจารย์ ดร.วิเลิศ ภูริวัชร คณบดีคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงประเด็นนี้ว่า ChatGPT ไม่ใช่เรื่องน่าตื่นตระหนกนัก อยากให้มองว่าเป็นเครื่องมือ AI ตัวหนึ่งที่ถูกสร้างขึ้นมา ให้ระบบการศึกษาไทยต้องตระหนักรู้ว่าเราจะสร้างกลไกอย่างไรที่สามารถสร้างระบบที่คล้าย ChatGPT เป็นของตัวเอง เพราะตัวนี้ไม่ได้เกิดขึ้นจากประเทศไทย หรือฝีมือคนไทย เรากำลังตื่นตระหนกกับมันว่ามันจะมาทำทุกอย่างแทนหรือไม่ แต่เราควรสนใจว่ามันถูกสร้างได้อย่างไร ประเทศไทยไม่ได้สอนให้เด็กคิดแบบนี้ แต่สอนให้แค่ตกใจ แล้วเอาไปใช้ 

ดร.วิเลิศ คณบดีบัญชีจุฬา
รองศาสตราจารย์ ดร.วิเลิศ ภูริวัชร คณบดีคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

“ผมมองว่า มันไม่น่ากลัว หน้าที่ของครู อาจารย์ต่างหากที่ทำให้เด็กหลอกเราไม่ได้ เช่น การบ้านที่ให้นักเรียนนักศึกษา ต้องไม่ใช่การบ้านที่ ChatGPT ทำได้ เพราะตัว AI ตัวนี้มันมีข้อมูลทางทฤษฎีมหาศาลทั่วโลก แต่สิ่งเราที่จะชนะ AI ได้คือความลึกซึ้งของศาสตร์ ฉะนั้น การสอนมันจะต้องมีความลึกซึ้งของศาสตร์ AI จะตอบคำถามไม่ได้ ฉะนั้นครู อาจารย์มหาวิทยาลัยต้องทบทวนการสอนว่ามันเบาไปหรือป่าว ความลึกซึ้งของศาสตร์ยังไม่มีใช่หรือไม่”

“ผมย้ำว่า ณ วันนี้เราไม่ต้องกลัวเรื่อง ChatGPT แต่เป็นเรื่องที่น่าตระหนักว่าเราต้องผลิตนิสิตนักศึกษาอย่างไรท่ามกลางยุคของ AI ทุก ๆ สถาบันต้องตระหนัก เรื่องการท่องจำไม่จำเป็นอีกต่อไป มันไม่เพียงพอ ต้องทำให้เกิดความรู้ความเข้าใจในแต่ละศาสตร์วิชามากขึ้น” 

แนะคนไทยใช้เพื่อต่อยอด

ด้าน ดร.ชัยพร เขมะภาตะพันธ์ คณบดีวิทยาลัยนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีและวิศวกรรมศาสตร์ (CITE) มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) ผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ กล่าวว่า ChatGPT เป็นสุดยอดปัญญาประดิษฐ์ในการค้นหาคำตอบ ที่ขณะนี้กำลังได้รับความนิยมไปทั่วโลก เป็นแชตบอตที่เก่งมาก เหมือนจาร์วิสในหนังไอรอนแมนที่คอยเป็นผู้ช่วยและเป็นเลขาฯที่มีความฉลาดเหลือล้น 

และเป็นแชตบอตที่ทำอะไรได้มากกว่าที่คิด เช่น ช่วยเขียนบทความ วางแผนทำเนื้อหานำเสนอ ช่วยในการวิจัย หาข้อมูล ช่วยทำให้งานที่เกี่ยวกับการทำ SEO ง่ายขึ้น รวมถึงยังเป็นตัวช่วย SMEs ในการทำคอนเทนต์มาร์เก็ตติ้ง และยิ่งผู้ใช้มีความรู้ในเรื่องที่จะถามมากเท่าไหร่ก็ยิ่งค้นหาได้ง่าย หรือการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์

ดร.ชัยพร เขมะภาตะพันธ์ คณบดีวิทยาลัยนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีและวิศวกรรมศาสตร์ (CITE) มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU)
ดร.ชัยพร เขมะภาตะพันธ์ คณบดีวิทยาลัยนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีและวิศวกรรมศาสตร์ (CITE) มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU)

จะเห็นว่าสามารถทำงานแทนมนุษย์ได้ในงานบางอย่าง เช่น Call center หรืองานธุรการ เป็นต้น ซึ่งต้องดูกันต่อไปในระยะยาว แต่ที่น่ากังวลมากกว่าคือ การเรียนของนักเรียน นักศึกษา อย่างในนิวยอร์ก สหรัฐ ทางหน่วยงานด้านการศึกษาถึงกับมีการแบนการใช้งาน ChatGPT เพราะมีความกังวลว่าอาจกระทบต่อการเรียนรู้ของเด็กหรือนักเรียน นักศึกษา เนื่องจากไม่เหมือนกูเกิล ที่เมื่อหาข้อมูลได้แล้วต้องนำไปกรองอีกขั้น ก่อนจะหยิบจับมาผสมร้อยเรียง แต่ ChatGPT สรุปมาเลยมี 1-2-3-4-5 และเรียบเรียงมาให้ด้วย ทำให้นักเรียนและนักศึกษาอาจขาดการศึกษาเรียนรู้ ขาดการลองผิดลองถูก

“ล่าสุดไมโครซอฟท์เพิ่งจะเพิ่มทุน 10 เท่า จากเดิม 1 พันล้านดอลลาร์ เป็น 1 หมื่นล้านดอลลาร์ หรือ 3 แสนกว่าล้านบาท ก็คาดการณ์ได้เลยว่าจะเป็นคู่แข่งที่น่ากลัวของกูเกิล อย่างไรก็ตาม อยากให้คนไทยลองใช้ก่อน แน่นอนว่าเราคงไปแข่งสร้าง ChatGPT อีกอันกับเขาไม่ได้ แต่เราอาจจะใช้เพื่อต่อยอดได้ ” 

ดร.ชัยพรกล่าวต่อว่า นักศึกษาที่เรียนในสาขาวิชาต่าง ๆ เช่น วิศวะ ก็สามารถนำมาต่อยอดงานของตัวเอง เราอาจจะใช้ ChatGPT เป็นฐานองค์ความรู้ เสริมขีดความสามารถในการแข่งขันของพี่น้องประชาชนคนไทยให้มีศักยภาพมากขึ้น นอกจากนี้ อยากส่งเสริมให้คนรุ่นใหม่เรียนรู้เรื่องเทคโนโลยีใหม่ ๆ

อย่างเรื่อง AI ตอนนี้เราควรศึกษาและพัฒนา AI ของเราเองที่เหมาะกับประเทศไทย เช่น AI เพื่ออุตสาหกรรมการเกษตร หรืออุตสาหกรรมการประมงที่ใช้ AI คัดคุณภาพปลา วิเคราะห์พันธุ์ปลา ก็เป็นเรื่องเฉพาะที่ต่อยอดได้ง่ายไม่แพ้แชตบอต ChatGPT นี้