คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (CBS) ทรานฟอร์มเมชั่นการศึกษา มองหา Turning Point พัฒนานิสิตเรียนรู้ควบคู่ทำธุรกิจ ทันยุคทันโลก พร้อมปรับตัวในยุคที่ ChatGPT ทำทุกอย่างแทน
วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2566 รองศาสตราจารย์ ดร.วิเลิศ ภูริวัชร คณบดีคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (CBS) กล่าวว่าการเติบโตทางธุรกิจที่ยั่งยืน คือสิ่งที่ทุกองค์กรปรารถนาท่ามกลางความผันผวนของสถานการณ์ต่าง ๆ ทั้งจากผลกระทบโควิด สงครามรัสเซีย-ยูเครน ภาวะเงินเฟ้อ ต้นทุนสูง และรวมถึงเทคโนโลยีที่มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง
ทำให้ทุกธุรกิจต้องปรับเปลี่ยนทั้งกลยุทธ์และการดำเนินธุรกิจแบบ Turning Point ต้องหาจุดพลิกรอบด้าน ทั้งในเรื่องคุณภาพที่ต้องใส่ใจมากขึ้น ควบคู่ความยั่งยืนที่ลงมือทำ อย่างมีเป้าหมาย และรวมทั้งเรื่องคนที่เป็นพลังขับเคลื่อนสำคัญในทุกองค์กร และที่ขาดไม่ได้คือนวัตกรรมใหม่ ๆ ที่ต้องมีเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า เป็นยุคที่ต้องรู้ว่า ตลาดขาดอะไร ลูกค้าต้องการอะไร สิ่งไหนที่มี Value ต้องคิดแทนลูกค้าให้ครบรอบด้านทุกมิติการใช้ชีวิต
ธุรกิจต้องปรับตัวอย่างชาญฉลาด
ทั้งนี้ ภาพรวมเศรษฐกิจในปี 2023 เป็นปีที่ทุกอย่างกำลังจะกลับมาเป็นปกติมากขึ้น และทุกคนกำลังตื่นเต้นไปกับอนาคตที่คืบคลานเข้ามา ธุรกิจที่เคยได้รับผลกระทบจากโควิดกำลังจะกลับมาพลิกฟื้น ส่วนธุรกิจที่ได้รับการตอบรับในช่วงโควิดจากที่เคยเติบโตมากก็จะกลับมาเติบโตแบบปกติ สิ่งที่โควิดทิ้งไว้คือแผลเป็นทางธุรกิจ ที่ต้องเยียวยาด้วยกลยุทธ์ Flick Strategy Sudden sharp movement คือต้องปรับตัว เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและชาญฉลาด
การปรับตัวให้อยู่รอด Agile อย่างรวดเร็ว เช่น ธุรกิจสุขภาพ Wellness จะเติบโตมากขึ้นเพราะทุกคนหันมาใส่ใจสุขภาพที่มากขึ้นกว่าปกติ ทำให้ทุกอย่างที่เกี่ยวกับสุขภาพเติบโตแบบก้าวกระโดด รวมทั้งธุรกิจการเงิน คนจะเริ่มตระหนักและให้ความสำคัญกับการวางแผนการเงินมากขึ้นจึงทำให้เกิดบริการการเงินใหม่ๆมากมาย และเมื่อสถานการณ์ Onsite มากขึ้นเรื่อย ๆ ผู้คนสบายใจขึ้น การเดินทางท่องเที่ยวจึงดีขึ้นตามมา ธุรกิจโรงแรมก็จะได้รับผลตอบรับที่ดีฟื้นตัวขึ้นท่ามกลางโมเดลบริหารใหม่มาตรฐานใหม่ที่ใส่ใจความสะอาดปลอดภัยมากขึ้น
ในขณะเดียวกันคนจะเริ่มคุ้นชินกับดิจิทัล ออนไลน์หลากหลายรูปแบบมากขึ้น การซื้อของออนไลน์ การประชุมออนไลน์ ฯลฯ ซึ่งเป็นความทรงจำที่เป็นประสบการณ์ในภาวะที่โลกมีความผันผวนอย่างรุนแรง และส่งผลให้บางธุรกิจเติบโตจนถึงปัจจุบัน ถึงแม้จะกลับมาปกติ แต่การซื้อของออนไลน์ที่สะดวกยังคงได้รับความสนใจ
จากอดีตสู่ปัจจุบัน บัญชี จุฬาฯ
รองศาสตราจารย์ ดร.วิเลิศกล่าวต่อว่า สำหรับภาพรวมการปรับตัวของคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (CBS) จากอดีตสู่ปัจจุบันได้มีการปรับตัวอย่างไม่หยุดนิ่ง ตั้งแต่ความสำเร็จในอดีต ที่เป็นรากแก้วที่เรายังคงสืบทอดวัฒนธรรมจากรุ่นสู่รุ่น อย่างคณะฯ เอง ก็หา Turning Point จุดที่ทำให้ธุรกิจได้ไปต่อ พลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส ผสมผสานของเก่าที่มีคุณค่าอยู่แล้ว เพิ่มเติมของใหม่ที่ตรงกับความต้องการของยุคปัจจุบัน ทันยุคทันโลก แต่ยังคงรักษาวัฒนธรรมดั้งเดิมไว้อย่างต่อเนื่อง จากเภตราที่ทรงคุณค่า สู่ใบเรือนำชีวิตที่ทันสมัยขึ้น เป็น “CBS Flagship for life” ของสังคมไทย ตามวิสัยทัศน์ เพื่อพัฒนาศักยภาพด้านบริหารธุรกิจให้กับประเทศ “A World – class business school perceived as the flagship for life”
และยึดหลักดำเนินงานตามเป้าหมายหลักคือ การเป็นเสาหลักแห่งแผ่นดินด้านการศึกษาทางธุรกิจ The Pillar of the Kingdom in Business Education ด้วยการยอมรับมากมายในระดับสากลมากมาย สู่ผู้นำด้าน Business School ที่ผลิตบุคลากรด้านการศึกษาภาคธุรกิจที่ได้รับการยอมรับในระดับโลก
ซึ่งปัจจุบัน คณะฯ ได้รับการยอมรับในระดับโลกในหลากหลายมิติและมาตรฐานรับรองระดับโลกทั้งจากอเมริกา AACSB และยุโรป EQUIS รวมทั้งการสนับสนุนสร้างกิจกรรมสัมพันธ์ต่อยอดองค์ความรู้กับองค์กรต่างๆ และทั้งนิสิตเก่าดีเด่น ที่จบออกไปเป็นส่วนขับเคลื่อนเศรษฐกิจ สังคม และประเทศชาติ
โลกที่มี ChatGPT ทำการบ้านแทนนักศึกษา
รองศาสตราจารย์ ดร.วิเลิศ กล่าวต่อว่า ปัจุบันในโลกที่มี ChatGPT สามารถทำงานแทนพนักงาน และทำการบ้านแทนนิสิต ระบบการศึกษาจึงต้องปรับตัวให้คณาจารย์และระบบการศึกษาให้มีความสามารถเท่าทันหรือเกินคำตอบจาก ChatGPT ซึ่งคุณภาพการเรียนต้องวัดความสามารถในระดับที่ ChatGPT ทำไม่ได้
ซึ่ง ChatGPT เกิดจาก AI ดังนั้นการชนะ AI (Artificial Intelligence) ต้องเป็นการศึกษาระดับ EI (Emotional Intelligence ) และย้ำถึงสิ่งที่สถาบันการเรียนการสอนด้านธุรกิจ ต้องให้ความสำคัญ เพื่อเป็นแหล่งผลิตบุคลากรคุณภาพออกสู่ตลาด ด้วยกลยุทธ์ SHIFT Segmentation by insight : ต้องทำการแบ่งส่วนตลาดใหม่
โดยแบ่งตาม Insight ของคนในช่วงเวลานี้ เพื่อวิเคราะห์หากลุ่มลูกค้าที่ยังเป็นแหล่งรายได้ ซึ่งจากนี้ไปการวัดพฤติกรรมของผู้บริโภคจะไม่ได้แบ่งตามอายุ เพศ วัย รายได้ การศึกษาอีกต่อไป แต่จะดูจากความต้องการของผู้บริโภคเป็นหลัก เช่น ในธุรกิจการศึกษา การเปิดหลักสูตร MBA ไม่ได้เจาะจงกลุ่มเป้าหมายวัยรุ่นเท่านั้น แต่เปิดกว้างให้ทุกเพศ วัย สามารถมาเรียนด้วยกันได้