CBS ถอดบทเรียน UN ผลิตนิสิตทำธุรกิจจากปัญหาสังคม

จุฬา
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เรื่องความยั่งยืน” หรือ “sustainability” เป็นสิ่งที่ทั่วโลกกำลังให้ความสำคัญในทุกภาคอุตสาหกรรม ไม่เว้นแม้แต่ภาคการศึกษาโดยเฉพาะช่วงหลัง ๆ มักถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นประเด็นในการเข้ามาบริหารจัดการองค์กร รวมถึงยังใช้เป็นแนวคิดสำหรับการขับเคลื่อนนวัตกรรมใหม่ ๆ เพื่อดูแลชุมชน สังคม หรือแม้แต่การพัฒนาหลักสูตรใหม่ ๆ

โดยเฉพาะเมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2565 ที่ผ่านมา มีการประกาศผลการจัดอันดับมหาวิทยาลัยด้านความยั่งยืนประจำปี 2030 (QS World University Rankings : Sustainability 2023) ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่มีการจัดอันดับ

โดยประเมินจากการดำเนินงานของมหาวิทยาลัยในการส่งเสริมเรื่องความยั่งยืนที่ครอบคลุมด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล (ESG : environment, social และ governance) พร้อมกับการแสวงหาแนวทางรับมือกับความท้าทายระดับโลกที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

ผลจากการจัดอันดับมหาวิทยาลัยกว่า 700 แห่งทั่วโลก ปรากฏว่ามหาวิทยาลัยไทยติดอันดับ 7 แห่ง และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยขึ้นแท่นอันดับ 1 ในไทย ทั้งยังเป็นอันดับที่ 5 ของอาเซียน ซึ่งผ่านมาจุฬาฯดำเนินการเรื่องความยั่งยืนมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งในแง่ของการจัดการศึกษา พัฒนาหลักสูตร การนำงานวิจัยออกมาช่วยเหลือสังคม

รศ.ดร.วิเลิศ ภูริวัชร
รศ.ดร.วิเลิศ ภูริวัชร

“รศ.ดร.วิเลิศ ภูริวัชร” คณบดีคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (Chulalongkorn Business School : CBS) กล่าวถึงเรื่องนี้ว่าทั่วโลกกำลังให้ความสำคัญกับเรื่องความยั่งยืน ในส่วนของภาคการศึกษาก็ต้องมีบทบาทในการสร้างความรู้ความเข้าใจแก่นักศึกษา ประชาชนทั่วไป

โดยอันดับแรกต้องเข้าใจความหมายของคำว่ายั่งยืนก่อน และมีแนวทางอย่างไรบ้างที่จะส่งเสริมให้เศรษฐกิจ สังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อม เกิดการพัฒนาไปในทางที่ดีขึ้น ซึ่งมหาวิทยาลัยต้องมีตัวอย่างมีบทเรียน แสดงให้เขาเห็นภาพ

“ไม่นานผ่านมา ผมมีโอกาสไปเป็นคณะกรรมการเวที Youth4South Entrepreneurship Competition at UN ESCAP BANGKOK ซึ่งเป็นหนึ่งในกิจกรรมการประชุมระดับโลก Global South-South Development Expo 2022 (GSSD EXPO 2022)

ทั้งยังเป็นการแข่งขันที่เปิดโอกาสให้เยาวชน และบุคคลทั่วไปอายุระหว่าง 18-35 ปี นำเสนอไอเดียสร้างสรรค์นวัตกรรมด้านการประกอบการที่ช่วยขับเคลื่อนการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (sustainable development goals-SDGs) ขององค์การสหประชาชาติ โดยมีผู้สมัครจากภูมิภาคต่าง ๆ กว่า 200 คน จาก 45 ประเทศกำลังพัฒนาทั่วโลก”

จากการเป็นคณะกรรมการในเวทีดังกล่าว ทำให้ต้องมาถอดบทเรียนสำหรับนำมาสู่การเรียนการสอนในคณะพาณิชยศาสตร์ฯ เพราะแนวคิดหลักที่ผู้ประกอบการระดับนานาชาติให้ความสำคัญ ไม่ใช่การทำธุรกิจที่มุ่งสร้างคุณค่ากับสินค้าอย่างเดียว หรือมองแค่ความต้องการลูกค้า

แต่ดูว่าธุรกิจจะสร้างกำไรได้มากหรือน้อย หรือจะเป็นการสร้างธุรกิจที่เริ่มต้นมาจากปัญหาของสังคม และปัญหาของลูกค้าเป็นหลัก เพื่อนำมาพัฒนาต่อยอดในการสร้างธุรกิจ โดยมีการนำนวัตกรรมเข้ามามีส่วนร่วม

“รศ.ดร.วิเลิศ” กล่าวต่อว่า การสร้างโมเดลธุรกิจจากนี้ไปแน่นอนว่าไม่เหมือนเดิม เมื่อก่อนทุกคนต่างทำธุรกิจมุ่งแสวงหาแต่กำไร การผลิตจะมองเรื่องความต้องการลูกค้าเป็นหลัก และมุ่งเน้นผลิตสินค้าให้ได้คุณภาพ ซึ่งเป็นเรื่องพื้นฐานที่คนทำธุรกิจต้องทำอยู่แล้ว แต่การจะทำให้ธุรกิจยั่งยืนไปได้ ต้องเห็นปัญหารอบตัวด้วย

“ประเทศไทยมีปัญหาสังคมจำนวนมาก ผมไม่อยากให้คนรุ่นใหม่มองว่าปัญหาสังคมมีแค่เรื่องการเมืองอย่างเดียว เพราะจริง ๆ แล้วทุกคนต่างรู้ว่าประเทศไทยมีปัญหาเยอะ และเราสามารถนำปัญหามาเป็นโจทย์ในการสร้างธุรกิจได้ เช่น เกษตรกรมีปัญหาในการเก็บเกี่ยวผลผลิตทางเกษตร

เนื่องจากผลผลิตเน่าเสียง่าย ทำให้จำหน่ายผลผลิตได้น้อยลง ขาดรายได้ ดังนั้น การเป็นผู้ประกอบการรุ่นใหม่ต้องมองหานวัตกรรมที่จะมาช่วยเก็บความสดใหม่ของผลิตภัณฑ์ให้แก่เกษตรกร ตรงนี้เป็นการช่วยแก้ปัญหาสังคมอย่างหนึ่ง”

ตัวอย่างผลงานนวัตกรรมของผู้ประกอบการบนเวทีประกวดระดับโลกที่ผมเป็นกรรมการ เขายกตัวอย่างปัญหาโรคซึมเศร้ามานำเสนอ โดยนวัตกรรมที่เขาทำคือมีการรวมกลุ่มของจิตแพทย์ และให้ทุกคนสามารถเข้าถึงจิตแพทย์ โดยผ่านแอปพลิเคชั่นที่ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย เริ่มจากกลุ่มของเด็ก ก่อนที่จะขยายสู่กลุ่มเป้าหมายของคนทั่วไป ซึ่งเป็นอีกตัวอย่างที่น่าสนใจ

“รศ.ดร.วิเลิศ” กล่าวต่อว่า ดังนั้น บทบาทของจุฬาฯ โดยเฉพาะ CBS ซึ่งเป็นสถาบันการศึกษาบริหารธุรกิจที่เปิดสอนระดับปริญญาบัณฑิต และระดับบัณฑิตศึกษา มีสาขาวิชาซึ่งสังกัดภาควิชาต่าง ๆ อาทิ ภาควิชาการบัญชี พาณิชยศาสตร์ การธนาคารและการเงิน การตลาด และสถิติ

รวมทั้งเปิดสอนหลักสูตรนานาชาติ business administration ในระดับปริญญาตรี โท และเอก เราจึงต้องบ่มเพาะธุรกิจให้เด็กรุ่นใหม่แตกต่างออกไปจากเดิม ฉะนั้น มหาวิทยาลัยต้องปรับการเรียนการสอน เพื่อมุ่งสู่การสร้างผู้ประกอบการที่ยั่งยืน มองมิติชุมชน และสังคมร่วมด้วย ด้วยการนำแนวคิดของปัญหาชุมชน สังคมเป็นจุดเริ่มต้นในการทำธุรกิจ

คณะCBS

“การเรียนการสอนในรั้วมหาวิทยาลัยจะถูกดิสรัปต์ เพราะทุกวันนี้สามารถหาความรู้ เรียนรู้ผ่านออนไลน์ได้ ดังนั้น มหาวิทยาลัยจึงต้องปรับตัวจากเป็น knowledge based เป็น wisdom based คือไม่ใช่เป็นแหล่งความรู้ แต่เป็นแหล่งบ่มเพาะปัญญาทางความคิด

เพราะการใช้ knowledge based สามารถเรียนรู้ผ่านออนไลน์ได้ แต่ถ้าเป็น wisdom based จะเป็นแหล่งเรียนรู้จากประสบการณ์จริงในการเข้าสังคม เรียนรู้จากเพื่อน จากคณาจารย์ รวมถึงเครือข่าย และชุมชน”

การเรียนการสอนในมหาวิทยาลัยจะเน้นสร้างความยั่งยืน ปลูกจิตสำนึกให้แก่นิสิต ดังนั้น ทุกหลักสูตรจะเป็น wisdom based เพราะการเรียนความรู้ล้าสมัยได้ แต่ความฉลาดในปัญญาไม่เคยล้าสมัย ถ้าเรามีหลักการในการดำรงชีวิต การทำธุรกิจ และการทำงาน การเรียนรู้ทั้งหลายจะทำให้เราประสบความสำเร็จทั้งในปัจจุบัน และอนาคต

อย่างไรก็ตาม “รศ.ดร.วิเลิศ” กล่าวอีกว่า ตลอดระยะเวลา 4 ปี ของนิสิต CBS จะเรียนรู้ และได้รับประสบการณ์ตั้งแต่วันแรก เราจะทำให้นิสิตทุกคนเปรียบเสมือนคนทำงานจริง ๆ โดยรูปแบบการเรียนการสอนจะเน้นการทำงานควบคู่ไปกับการเรียนรู้

ซึ่งมีการนำดิจิทัลเข้ามาใช้ นิสิตจะได้เรียนรู้ควบคู่การทำงานผ่านแอปพลิเคชั่น-ออนไลน์ได้ และนิสิตจะได้ฝึกทำธุรกิจเพื่อสังคม ไม่ใช่แค่ social enterprise แต่เป็น social solutions enterprise คือสร้างธุรกิจโซลูชั่นเพื่อสังคม

ด้วยการหยิบประเด็นทางสังคมมาสร้างธุรกิจ ซึ่งผู้ประกอบการทั่วโลกต่างพัฒนาไปแนวนี้ และนำนวัตกรรมที่ก้าวหน้ามาใช้ทำธุรกิจ องค์กรต้องไม่ใช่ก้าวทันโลก แต่ต้องก้าวล้ำโลก มีแนวคิดในการพัฒนาผู้เรียน และมีจิตสำนึกในการดูแลแก้ไขปัญหาสังคม เพื่อให้เราเป็นผู้ประกอบการระดับโลก เราจึงสอดแทรกแนวคิดใหม่ ๆ โดยเฉพาะเรื่องความยั่งยืนจะเข้าไปอยู่ในทุกสาขาวิชา

ที่สำคัญ นอกจากรู้จักเรื่องการแก้ปัญหาสังคมแล้ว สิ่งสำคัญคือต้องเข้าใจบริบทสภาวะเศรษฐกิจสังคมโลก หากเมื่อนักศึกษาจบไปเป็นผู้ประกอบการ เป็นนักธุรกิจ หรือแม้แต่เป็นพนักงานองค์กร ต้องรู้จักการตั้งรับอย่างถูกวิธี รู้ข้อมูลอย่างถูกต้อง เพื่อดำเนินชีวิตให้รอดจากทุกสถานการณ์ ต้องมีการกระตุ้นให้นักศึกษา ผู้ประกอบการไทย พัฒนาขีดความสามารถของตนเองเข้าสู่มาตรฐานระดับโลก

ดังนั้น ทาง CBS จึงมีแนวคิดของการสร้างธุรกิจจริงตามแนวคิดของ ed-enterprise ที่ไม่ได้ให้ผู้เรียนได้แค่ความรู้ในห้องเรียน แต่จะหลอมให้พวกเขากลายเป็นพนักงานของบริษัท chula business enterprise ที่ไม่เพียงเรียน และทำงานพร้อมกันตลอดระยะเวลา 4 ปี แต่ยังเรียนรู้การแก้ปัญหาไปพร้อม ๆ กันด้วย

เพราะคอนเซ็ปต์ของการสร้างบริษัท chula business enterprise เราต้องการให้เป็น real business in the school ครั้งแรกของโลกการศึกษา พูดง่าย ๆ คือเป็น new model of business ed-enterprise เพื่อนำร่องคณะด้านบริหารธุรกิจที่นิสิตกลายเป็นผู้เรียน และทำงานในบริษัทควบคู่กันไปผ่านแพลตฟอร์มทั้งออนไลน์ และออฟไลน์

โดยโครงการแรกเป็นความร่วมมือกับพีทีจี เอ็นเนอยี จำกัด (PTG) ที่มาช่วยสนับสนุนการสร้างพื้นที่ CBS Lounge ประกอบด้วย coworking space สำหรับเป็นพื้นที่ในการสร้างไอเดียทางธุรกิจของนิสิต, CBS Cafe การสร้างธุรกิจแบรนด์ร้านกาแฟ โดยได้รับการสนับสนุนจากกาแฟพันธุ์ไทย และ CBS Mart การสร้างธุรกิจร้านสะดวกซื้อ โดยได้รับการสนับสนุนจาก PT Max Mart เพื่อให้นิสิตเรียนและทำงานควบคู่กันไป

ทั้งนี้ โมเดล ed-enterprise ของคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี เป็นโครงการนำร่องการเรียนรู้ควบคู่การทำงานที่จะนำผกำไรส่วนหนึ่งมาช่วยเหลือสังคม โดยเฉพาะนักเรียนที่ขาดทุนทรัพย์ และการช่วยเหลือสังคมรูปแบบอื่น ๆ

สิ่งเหล่านี้นับเป็นต้นแบบของการเรียนทางด้านบริหารธุรกิจสมัยใหม่ในยุคดิจิทัลเพื่อให้เกิดเป็น digital social enterprise อย่างแท้จริง ทั้งยังเป็นจุดเริ่มต้นของสตาร์ตอัพที่ควบคู่ไปกับการศึกษา และในอนาคตจะมีโครงการแบบนี้เพิ่มขึ้นอีก

ซึ่งจะเป็นโมเดลใหม่ในการสร้างคุณค่าของประสบการณ์ในรั้วมหาวิทยาลัย เพื่อให้นิสิตมีความพร้อมต่อการทำงานอย่างเต็มศักยภาพในอนาคต