ศุภจี CEO ดุสิตธานี ชี้โจทย์ใหญ่ Great Remake เน้นนักท่องเที่ยวคุณภาพ

ศุภจี สุธรรมพันธุ์
ศุภจี สุธรรมพันธุ์

“ศุภจี” มั่นใจตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติปีนี้ถึงเป้า 10 ล้านคน ชี้อัตราเข้าพักเฉลี่ยสั้นลง ทุบตัวเลขการใช้จ่ายต่อคนต่อทริปร่วง ย้ำไทยต้องปรับโฟกัสภาคท่องเที่ยว เน้นนักท่องเที่ยวคุณภาพมากกว่าปริมาณ พร้อมแนะผู้ประกอบการออกแบบ Story-telling อัพเกรดผลิตภัณฑ์ หวังดันรายได้รวมภาคท่องเที่ยว

วันที่ 2 พฤศจิกายน 2565 นางศุภจี สุธรรมพันธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท ดุสิตธานี จำกัด (มหาชน) เปิดเผยในงานสัมมนา “Thailand 2023 : The Great Remake เศรษฐกิจไทย” จัดโดยหนังสือพิมพ์ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่าก่อนการระบาดของโควิด-19 ประเทศไทยมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าประเทศไทยจำนวน 39.79 ล้านคน สร้างรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติราว 1.93 ล้านล้านบาท

โดยนักท่องเที่ยวมีระยะเวลาพักค้างแรมเฉลี่ย 9.26 คืน มีค่าใช้จ่ายรายวันเฉลี่ยอยู่ที่ 5,172 บาท ค่าใช้จ่ายรวมอยู่ที่ 48,000 ต่อคนต่อทริป ส่วนการท่องเที่ยวในประเทศ มีนักท่องเที่ยวชาวไทยออกเดินทางประมาณ 166.84 ล้านคน-ครั้ง สร้างรายได้ราว 1.08 ล้านล้านบาท

“จากเป้าของกระทรวงการท่องเที่ยวฯ และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย หรือ ททท. ที่คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไทยในปีนี้ 10 ล้านคน คิดว่าเป็นไปได้แน่นอน แต่สิ่งที่น่าจับตาคือ ยอดรายได้จากภาคการท่องเที่ยว เพราะนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาในระยะนี้เป็นการเดินทางระยะใกล้ ซึ่งอาจทำตัวเลขรายได้จากภาคการท่องเที่ยวไม่สูงนัก” นางศุภจีกล่าว

ศุภจี สุธรรมพันธุ์

ทั้งนี้ ข้อมูลล่าสุดจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ระบุว่า ขณะที่จำนวนนักท่องเที่ยวในปี 2565 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม-30 ตุลาคม 2565 พบว่ามีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าประเทศไทยจำนวนสะสมรวม 7,565,049 คน เป็นนักท่องเที่ยวจากตลาดระยะใกล้เดินทางเข้าประเทศไทย มีจำนวนสะสมรวม 4,939,175 คน คิดเป็นสัดส่วน 65% ของนักท่องเที่ยวต่างประเทศทั้งหมดที่เดินทางมาประเทศไทย

โดยตลาดนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้าประเทศไทยมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ อันดับ 1 มาเลเซีย 1,285,194 คน รองลงมาคือ อินเดีย 679,050 คน สปป.ลาว 556,597 คน กัมพูชา 385,144 คน และ 5 สิงคโปร์ 374,997 คน ขณะที่เดิมในปี 2562 นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ 5 อันดับแรกมาจาก จีน มาเลเซีย อินเดีย เกาหลีใต้ และลาว ตามลำดับ

“ส่วนตัวเชื่อว่าในปีนี้ยอดนักท่องเที่ยวอาจถึงเป้า หรือใกล้เคียงที่กระทรวงการท่องเที่ยวฯ ตั้งเป้า แต่รายได้อาจไม่เป็นไปตามเป้าหมาย เพราะรายจ่ายกับการท่องเที่ยวลดน้อยลง ส่วนหนึ่งอาจเกิดจากผู้ประกอบการในตลาดพยายามลดราคาผลิตภัณฑ์ เช่น โรงแรมระดับบนลดราคาที่พักเหลือหลักไม่กี่พันบาท เป็นต้น” นางศุภจีกล่าว

นางศุภจีกล่าวต่อว่า ประเทศไทยควรปรับการให้ความสำคัญภาคการท่องเที่ยวจากเชิง “ปริมาณ” เป็นการให้ความสำคัญกับการท่องเที่ยวเชิง “คุณภาพ” โดยให้กระตุ้นการจับจ่ายให้มากขึ้น รวมถึงทำการตลาดให้ตรงกลุ่มเป้าหมาย เพื่อให้นักท่องเที่ยวมีระยะเวลาพักแรมที่ยาวนานมากขึ้น

“ถามว่าเรามีความหวังกับการท่องเที่ยวได้มั้ย มีได้ แต่เราต้องแก้ เราจะทำการท่องเที่ยวแบบเดิมไม่ได้” นางศุภจีกล่าว

ข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทย ประเมินว่า ในปี 2562 ก่อนการระบาดของโควิด-19 อุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยสร้างรายได้สูงถึง 2.9 ล้านล้านบาท

ในจำนวนนี้เป็นรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติอยู่ที่ 1.9 ล้านล้านบาท ซึ่งมาจากนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้าประเทศไทยราว 40 ล้านคน คูณด้วยค่าใช้จ่ายต่อคนต่อทริปที่ประมาณ 48,000 บาท คิดเป็นสัดส่วน 20% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศไทย (GDP)

สำหรับการหันมาให้ความสำคัญกับนักท่องเที่ยวคุณภาพมากขึ้น มีการจำลองฉากทัศน์ว่า หากประเทศไทยมีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเดินทางเข้าประเทศไทยราว 32 ล้านคน หากทำให้นักท่องเที่ยวมีค่าใช้จ่ายต่อคนต่อทริปอยู่ที่ 60,000-70,000 บาท จะสามารถสร้างรายได้ให้กับประเทศไทย 1.9 ล้านล้านบาท เท่ากับปี 2562 ที่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติ 40 ล้านคน

“ถ้าเราใช้แนวคิด Less is more ไม่ต้องให้นักท่องเที่ยวกลับมาที่ 40 ล้านคนก็ได้” นางศุภจีกล่าว

นางศุภจีกล่าวต่อว่า ในการปรับเปลี่ยนแนวคิดการท่องเที่ยว ภาครัฐและเอกชนจะต้องร่วมกันสร้างผลิตภัณฑ์การท่องเที่ยว โดยนำเสนอด้านประสบการณ์ กระจายการเดินทางให้มีจุดประสงค์ รวมถึงสร้างความสะดวกสบายแก่นักท่องเที่ยว

โดยโมเดลธุรกิจที่ควรเกิดขึ้นคือ การสร้างพันธมิตรและต้องข้ามสายกับธุรกิจ เช่น ชุมชนท้องถิ่น โรงพยาบาล ฯลฯ สร้างประสบการณ์ที่หลากหลายแปลกใหม่ให้กับนักท่องเที่ยว คำนึงถึงการได้รับประโยชน์ของชุมชนร่วมด้วย

“ไม่จำเป็นต้องเป็นคนตัวใหญ่ทำ คนตัวเล็กก็สามารถทำได้ โรงแรมขนาดเล็กอาจหาเอกลักษณ์หรือจุดเด่นของตน ออกแบบการนำเสนอเรื่องราวท้องถิ่นให้เข้ากับผลิตภัณฑ์ที่มี เช่น โรงแรมอาจนำเสนอแหล่งท่องเที่ยวใกล้เคียง ออกแบบเส้นทางตะลุยร้านอร่อยใกล้เคียงกับโรงแรมก็สามารถอยู่รอดได้” นางศุภจีกล่าว

นางศุภจีกล่าวอีกว่า ขณะนี้ภาคการท่องเที่ยวทั่วโลก เกิดเทรนด์การท่องเที่ยวที่น่าจับตามองใน 6 ประเด็นหลัก ประกอบด้วย 1.เทคโนโลยี กุญแจสำคัญของภาคท่องเที่ยว ผู้ประกอบการสร้างสรรค์ประสบการณ์ได้ตรงกลุ่มเป้าหมายได้มากขึ้น 2.การเติบโตของธุรกิจสุขภาพ-เวลเนส โดยปัจจุบันคนให้ความสำคัญกับการชะลอวัยมากขึ้น ไทยสามารถสร้างมูลค่าจากการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพได้

3.ความยั่งยืนคือสิ่งจำเป็น “Sustainability is a must” 4.กระแสการท่องเที่ยวและทำงานไปด้วย (Workation) ยังคงมีอยู่ต่อไป 5.การเชื่อมต่อกับท้องถิ่น ยังเป็นปัจจัยสำคัญ สามารถสร้างสรรค์ประสบการณ์ท้องถิ่นและนำเสนอแก่นักท่องเที่ยวได้ และ 6.พำนักยาวนานขึ้น เนื่องจากปัจจุบันค่าใช้จ่ายปรับตัวสูงขึ้น และเทรนด์การเดินทางมีแนวโน้มจะใช้ระยะเวลานานมากขึ้น และต้องการสัมผัสประสบการณ์ที่มากขึ้น

“โจทย์ใหญ่ของการ Remake ภาคท่องเที่ยวไทยคือ การเพิ่มค่าใช้จ่ายต่อทริป ถ้าเราปรับโฟกัสสู่การท่องเที่ยวเชิงคุณภาพ ใส่วัตถุประสงค์การท่องเที่ยวเข้าไป ท่องเที่ยวไทยจะมีเอกลักษณ์โดดเด่นอย่างแน่นอน” นางศุภจี กล่าว

ศุภจี the great remake