เทคจีนแห่ร่วมสมรภูมิ AI ท้าชน ChatGPT

chatGPT

ความร้อนแรงของ “แชตจีพีที” (ChatGPT) แชตบอตอัจฉริยะที่พัฒนาด้วยปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) โดย “โอเพนเอไอ” ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากยักษ์ใหญ่ “ไมโครซอฟท์” สร้างกระแสฮือฮา ด้วยความสามารถในการประมวลผลสุดล้ำ ขณะที่บริษัทเทคโนโลยีจำนวนมากก็ให้ความสนใจเทคโนโลยีนี้ และแน่นอนว่ายักษ์เทคโนโลยีจีนย่อมไม่พลาดในสมรภูมินี้

นิกเคอิ เอเชีย รายงานว่า บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ของจีนพาเหรดออกมาเปิดเผยถึงการพัฒนาเทคโนโลยีแชตบอตเอไอในรูปแบบเดียวกับแชตจีพีทีในเวอร์ชั่น ของตนเอง ภายหลังการเปิดตัวแชตจีพีทีเมื่อ พ.ย. 2022 ที่ได้รับความสนใจอย่างมากและกลายเป็นแอปพลิเคชั่นที่เติบโตเร็วสุดเป็นประวัติการณ์ โดยมียอดผู้ใช้งานถึง 100 ล้านรายใน ม.ค. 2022

ขณะที่หุ้นของ “ไป่ตู้” (Baidu) ผู้ให้บริการเสิร์ชเอนจิ้นรายใหญ่ของจีนพุ่งขึ้นสูงสุดในรอบ 11 เดือนเมื่อ 6 ก.พ. หลังเผยแผนการเปิดตัว “เออร์นีบอต” (Ernie Bot) ซึ่งเป็นแชตบอตเอไอคล้ายกับแชตจีพีที ที่ไป่ตู้ได้พัฒนามาตั้งแต่ปี 2019 โดยมีเป้าหมายจะทดสอบให้เสร็จสิ้นภายใน มี.ค.นี้ ก่อนที่จะเปิดตัวสู่สาธารณะ

หลังจากความเคลื่อนไหวของไป่ตู้ ไม่นาน “อาลีบาบา” อีคอมเมิร์ซจีนรายใหญ่ก็เปิดเผยว่า บริษัทอยู่ระหว่างการทดสอบแชตบอตเอไอเช่นกัน โดยระบุว่าเป็นเทคโนโลยีเกี่ยวข้องกับการสร้างใหม่โดยเอไอ (generative AI)

เช่นกันกับบริษัทอินเทอร์เน็ตรายใหญ่อย่าง “เทนเซ็นต์” ที่ออกมายืนยันว่า บริษัทกำลังดำเนินการวิจัยและพัฒนาเครื่องมือเอไอในรูปแบบเดียวกันกับแชตจีพีทีอย่างเป็นขั้นเป็นตอน

รวมทั้ง “เจดีดอตคอม” แพลตฟอร์มค้าปลีกออนไลน์ ก็เปิดเผยว่ามีแผนเปิดตัว “แชตเจดี” (ChatJD) โดยนำเทคโนโลยีที่คล้ายกับแชตจีพีทีเข้ามาผสานกับบริการอีคอมเมิร์ซ

ขณะที่รอยเตอร์สรายงานว่า “เน็ตอีส” (NetEase) ยักษ์เกมออนไลน์จีนก็มีแผนปรับใช้เทคโนโลยีแบบแชตจีพีทีเข้ากับธุรกิจการศึกษาของตน และ “คุนหลุนเทค” (Kunlun Tech) ผู้ให้บริการเกมสมาร์ทโฟนในปักกิ่ง ก็ตั้งเป้าเปิดตัวบริการแบบแชตจีพีทีเวอร์ชั่นภาษาจีนภายในปีนี้

อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญบางส่วนยังตั้งข้อสังเกตถึงความสามารถในการพัฒนาและการใช้งานแชตบอตอัจฉริยะอย่างแชตจีพีทีในจีน เนื่องจากเทคโนโลยีเหล่านี้ยังคงอยู่ในขั้นต้นของการพัฒนา

“ไค หวัง” นักวิเคราะห์หลักทรัพย์อาวุโสจากมอร์นิ่งสตาร์ เอเชีย ลิมิเต็ด ระบุว่า หลังไป่ตู้ประกาศแผนเปิดตัวเอไอที่คล้ายกับแชตจีพีที ทำให้บริษัทเทคโนโลยีจีนหลายรายต้องรีบก้าวตาม เพราะมองว่าเทคโนโลยีนี้จะเป็นตัวขับเคลื่อนการเติบโตในระยะยาว แต่ก็ยังคงมีความไม่แน่นอนอีกมาก ทั้งด้านการแข่งขัน กฎระเบียบ รวมถึงวิธีการทำงานของผลิตภัณฑ์เหล่านี้

เซาท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์รายงานว่า ต้นปีม.ค.ที่ผ่านมามีการเปิดตัว “แชตหยวน” (ChatYuan) แชตบอตสไตล์แชตจีพีทีเวอร์ชั่นภาษาจีน ซึ่งฝังอยู่ในแอป “วีแชต” ผลงาน “หยวนยู อินเทลลิเจนท์” สตาร์ตอัพเอไอในเมืองหางโจว

แต่ขณะนี้แชตหยวนสามารถตอบโจทย์ของผู้ใช้ได้ราว 70% เทียบกับการทำงานได้ถูกต้องถึง 90% ของแชตจีพีที โดย “ไบรท์ สวีเหลียง” ซีอีโอของหยวนยู ระบุว่า “การพัฒนาเอไอของจีนค่อนข้างแตกต่างจากต่างประเทศ เรามีการประมวลผลและกลั่นกรองหลายชั้น เพื่อตรวจสอบเนื้อหาที่สร้างจากเอไอ”

อย่างไรก็ตาม การเข้าถึงบริการ ChatGPTซึ่งเป็นของบริษัทต่างชาติในจีนยังคงมีอุปสรรคอย่างมาก เป็นโอกาสที่บริษัทเทคโนโลยีจีนจะเร่งพัฒนาแชตบอต เพื่อเป็นทางเลือกให้กับผู้ใช้บริการในจีน