คุณรู้อะไรแล้วบ้างเกี่ยวกับ ChatGPT ทั้งข้อดีและข้อพึงระวัง

“ปัญญาประดิษฐ์” นอกจากจะมีบทบาทสำคัญต่อแวดวงไอทีแล้ว ยังรุกคืบมาสร้างผลกระทบต่อวงการอื่น ๆ ด้วยไม่ว่าจะเป็นวงการศิลปะ การศึกษา ดนตรี การท่องเที่ยว การเมือง รวมไปจนถึงสื่อมวลชน หลังจากได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง

ในเดือน ส.ค. ปีที่แล้ว บีบีซีไทยได้เล่าถึงข้อถกเถียงในวงการศิลปะจาก AI หลังกระแสการเปิดตัวของ Midjourney ที่สร้างแรงสั่นสะเทือนในวงการศิลปะ เนื่องจากเครื่องมือดังกล่าวสามารถรังสรรค์ศิลปะได้จากคำสั่งของศิลปิน

ในปีนี้คำที่กำลังเป็นที่พูดถึงก็คือ ChatGPT หรือ Chatbot Generative Pre-trained Transformer เป็นซอฟท์แวร์ที่ได้รับการพัฒนาให้สามารถตอบโต้กับมนุษย์ในรูปแบบปัญญาประดิษฐ์ โดยมีผู้พัฒนาคือ Open AI บริษัทวิจัยและพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ ที่มีอีลอน มัสก์ มหาเศรษฐีระดับโลกเคยเป็นหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้ง

ความน่าสนใจของแชทบอทนี้ ความสามารถของมันที่จะสามารถโต้ตอบกับผู้ใช้งานได้เป็นอย่างดีเยี่ยมและเป็นธรรมชาติ โดยใช้ฐานข้อมูลที่เป็นข้อความจากระบบอินเทอร์เน็ต เช่น หนังสือออนไลน์ นิตยสารออนไลน์ และวิกิพีเดีย ประเมินเบื้องต้นรวมราว 3 แสนล้านคำ

ดังนั้น อาจจะกล่าวได้ว่า แชทบอทตัวนี้มีความสามารถจนน่าขนลุก ด้วยการโต้ตอบราวกับเป็นมนุษย์ที่มีคลังความรู้เทียบเท่ากับสารานุกรมโลก

ด้วยจุดเด่นต่าง ๆ ของ Chat GPT ที่เป็นที่พูดถึงและคาดว่าจะมีบทบาทในชีวิตคนเรามากขึ้น บีบีซีไทยได้รวบรวมข้อมูลที่น่าสนใจมาเล่าดังนี้

Chat GPT ทำงานอย่างไร

ผู้ใช้งานแชทบอทนี้จะเป็นจำเป็นต้องดาวนโหลดแอปพลิเคชันนี้มาในอุปกรณ์ส่วนตัวเพื่อใช้งานและต้องลงทะเบียนเป็นสมาชิกก่อน การสื่อสารกับแชทบอทตัวนี้ไม่ซับซ้อน หากใครคุ้นชินกับการพูดคุยกับผู้ช่วยเสมือนจริงอย่าง สิริ ในผลิตภัณฑ์ของแอปเปิล หรือ อเล็กซาของเอมาซอน ก็แทบไม่มีปัญหา

ภาพประกอบ

Getty Images

เว็บไซต์บีบีซีนิวส์ในบทความ ” Could AI swamp social media with fake accounts?” (เอไอจะทำให้สื่อสังคมออนไลน์เต็มไปด้วยบัญชีปลอมหรือไม่) ได้อธิบายวิธีการใช้งานแชทบอทที่ว่านี้ “คุณสามารถถามสูตรทำอาหารจาก ChatPGT ได้โดยระบุว่าอุปกรณ์หรือส่วนประกอบอาหารที่คุณมีในครัวได้เลย และมันจะให้คำแนะนำมาเป็นข้อ ๆ ได้เลย”

นอกจากนี้ จากการสำรวจยูทิวเบอร์สายไอทีบางราย ยังแนะนำการใช้แชทบอทในการช่วยคิดคอนเทนต์สำหรับสร้างช่องยูทิวป์อีกด้วย

ช่วยเขียนหนังสือ เขียนข่าว โปรโมตสินค้า

ความสามารถของปัญญาประดิษฐ์ที่ทำให้บรรดาศิลปินรู้สึกขนลุกและตั้งคำถามด้านจริยธรรมจากผลงานที่เกิดขึ้นจนกลายเป็นกระแสเมื่อปลายปีที่แล้ว คือ กรณีที่นายอัมมาร์ เรชี ผู้จัดการด้านการออกแบบผลิตภัณฑ์จากบริษัทด้านเทคโนโลยีการเงินในนครซานฟรานซิสโก ของสหรัฐอเมริกา ใช้เวลาเพียง 72 ชั่วโมงในการใช้ ChatGPT และ Midjourney รวมทั้ง AI อื่น ๆ ในการเขียนหนังสือสำหรับเด็กอ่านก่อนนอนขึ้นโดยมีทั้งเนื้อหาและภาพประกอบจำนวน 12 หน้า ชื่อว่า “Alice and Sparkle” และวางจำหน่ายบนแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ส “เอมาซอน” โดยปราศจากการใช้ปากกาหรือกระดาษเลย

https://twitter.com/ammaar/status/1601284293363261441

หลังจากเขาเปิดขายในเอมาซอนเมื่อวันที่ 4 ธ.ค. ปีที่แล้ว หนังสือของเขาขายไปถึง 70 ฉบับ คิดเป็นค่าตอบแทน (royalty) ราว 200 ดอลลาร์สหรัฐ หรือ ราว 7,000 บาท และเขายังมีแผนที่จะบริจาคหนังสือเล่มนี้ให้กับห้องสมุดสาธารณะอีกด้วย

เรื่องราวของได้รับความสนใจจากสื่อมวลชนท้องถิ่นและระดับโลกอย่างนิตยสารไทม์ และเว็บไซต์ด้านธุรกิจชื่อดังอย่างบิสเนส อินไซเดอร์

“ใคร ๆ ก็ใช้งานได้ ซอฟต์แวร์มีความพร้อมเข้าถึงง่าย และก็ใช้งานไม่ยากเลย” เรชีบอกกับนิตยสารไทม์ส

พิธีกรรายการบีบีซี นิวส์ไนท์ เมื่อวันที่ 6 ก.พ. ที่ผ่านมา พิธิกรใช้ลองใช้ ChatGPT เขียนสคริปต์เปิดรายการ

BBC
พิธีกรรายการบีบีซี นิวส์ไนท์ เมื่อวันที่ 6 ก.พ. ที่ผ่านมา พิธิกรใช้ลองใช้ ChatGPT เขียนสคริปต์เปิดรายการ

นอกจากกรณีการใช้ AI ในการเขียนหนังสือขึ้นมาใหม่แล้ว วงการข่าวก็ไม่มีข้อยกเว้น อย่างกรณีรายงาน บีบีซี นิวส์ไนท์ เมื่อวันที่ 6 ก.พ. ที่ผ่านมา พิธีกรใช้ลองใช้ ChatGPT เขียนสคริปต์เปิดรายการและแนะนำเข้ารายงานเกี่ยวกับผลกระทบของ AI อย่างไรต่อบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำของโลกว่าจะเข้ามาช่วยกอบกู้สถานการณ์ที่ย่ำแย่จากผลกระทบจากกำไรหดและปลดแรงงาน ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว

คุณประโยชน์ของ AI อย่าง ChatGPT ยังถูกเฝ้ามองโดยกลุ่มเจ้าของสินค้าและธุรกิจมากขึ้น นิตยสารฟอร์บส์ได้เผยแพร่บทความ (31 ม.ค.) เสนอแนะวิธีที่แบรนด์จะใช้เทคโนโลยีนี้อย่างไรในการสร้างเนื้อหาเพื่อประโยชน์ด้านการตลาด เช่น การใช้ ChatGPT ในการร่างรูปแบบเนื้อหา หรือข้อความที่จะใช้โพสต์เพื่อโปรโมตในสื่อสังคมออนไลน์ และเนื้อหาที่สามารถทำงานสอดคล้องกับพฤติกรรมการค้นหาข้อมูลของผู้บริโภค

อย่างไรก็ตามต้องพิจารณาข้อจำกัดบางอย่าง ที่อาจจะส่งผลกระทบต่ออัลกอริธึมของเซิร์จเอนจินอย่างกูเกิลด้วย เพราะอาจจะส่งผลกระทบให้ข้อความที่ได้ไม่ถูกแนะนำ

ข้อกังวล-ถกเถียงความเป็นเจ้าของงาน

กลไกการทำงานของเครื่องมือที่พัฒนามาจากปัญญาประดิษฐ์ ทำงานบนพื้นฐานของคำสั่งของผู้ใช้งานและประมวลข้อมูลจากระบบออนไลน์ทั้งหมดมา จึงทำให้เกิดข้อถกเถียงในหลายประเด็น เช่น ความถูกต้องของฐานข้อมูล ความเป็นเจ้าของของเนื้อหาที่ได้ และข่าวลวง (fake news) เป็นต้น

ภาพประกอบ

Getty Images

อย่างกรณีหนังสือสำหรับเด็ก “Alice and Sparkle” ที่สร้างจาก ChatGPT และ Midjourney ของเรซี ซึ่งเขาให้สัมภาษณ์กับเว็บไซต์บิสเนส อินไซเดอร์ ว่า เขาไม่เคยอ้างความเป็นเจ้าของของโครงการดังกล่าว รวมทั้งภาพที่เกิดขึ้นจากการใช้ Midjourney เพราะงานสร้างสรรค์ที่เกิดขึ้นมาจากการประมวลของ AI

นั่นจึงทำให้เกิดคำถามขึ้นจากคนในสังคมออนไลน์ว่า แล้วใครคือเข้าของเนื้อหาที่แท้จริงจากโปรเจกต์นี้

หวั่นถูกใช้เป็นเครื่องมือในการโฆษณาชวนเชื่อ

นักวิชาการ นักวิจัยด้านความมั่นคงทางไซเบอร์ และผู้เชี่ยวชาญด้านปัญญาประดิษฐ์ เตือนว่า ChatGPT สามารถถูกใช้เป็นเรื่องมือในการสร้างความแตกแยกและส่งข้อความโฆษณาชวนเชื่อผ่านสื่อสังคมออนไลน์ได้

เว็บไซต์บีบีซีรายงานข่าวโดยอ้างรายงานของมหาวิทยาลัยจอร์จทาวน์ เผยแพร่เมื่อเดือน ม.ค. ที่ผ่านมา ระบุว่า จนถึงตอนนี้ ข้อมูลที่ผิดๆ จำเป็นต้องใช้วิจารณญาณแยกแยะโดยแรงงานมนุษย์ แต่สำหรับการทำงานของปัญญาประดิษฐ์อย่างเช่น ChatGPT กลายเป็นเรื่องง่ายสำหรับกลุ่มผู้ที่ต้องการหวังผลประโยชน์ด้านปฏิบัติการข้อมูลข่าวสารผ่านทางสื่อสังคมออนไลน์ ด้วยการสร้างบัญชีในสื่อสังคมออนไลน์ อย่าง เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ อินสตาแกรม และยูทิวบ์ เพื่อเผยแพร่ข้อมูลข่าวลวงจำนวนมาก โดยใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่นี้ ซึ่งมีต้นทุนต่ำกว่าการใช้แรงงานมนุษย์ แต่จะสามารถระบุผลได้อย่างจำเพาะเจาะจงได้มากขึ้นและมีแนวโน้มที่จะมีประสิทธิภาพมากกว่า

จอร์จ โกลด์สไตน์ ผู้ร่วมเขียนบทความวิชาการดังกล่าว ระบุว่า ระบบ AI สามารถพัฒนาในเชิงคุณภาพของเนื้อหาที่สามารถโน้มน้าวใจผู้รับสาร โดยไม่ทำให้พวกเขาแยกแยะได้ยากลำบากกว่าเดิมว่าข้อมูลนั้นเป็นข้อมูลที่มีคนจงใจให้เข้าใจผิด

ด้านวินเซนต์ โคนิตเซอร์ ศาสตราจารย์ด้านวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์จากมหาวิทยาลัยคาร์เนกีเมลลอน กล่าวว่า “สิ่งที่เรียกว่า ChatGPT สามารถขยายจำนวนบัญชีปลอมเพิ่มขึ้นไปยังระดับที่เราอาจจะไม่เคยพบเจอมาก่อน”

เมื่อเหรียญมีสองด้าน นี่คือหนึ่งในด้านที่หลายฝ่ายกำลังเป็นห่วงกังวลจากการพัฒนาของเทคโนโลยีใหม่อย่าง ChatGPT

หมายเหตุ : ข่าว บีบีซี ไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว