
หัวเว่ย (Huawei) เผยผลประกอบการปี 2565 รายได้ เพิ่มขึ้น 0.82% จากปี 2564 แต่กำไรลดลงมากถึง 69% เป็นผลมาจากการที่สหรัฐกีดกันบริษัทเทคจีนจากการเข้าถึงเทคโนโลยีที่สำคัญ กระทบหลายหน่วยธุรกิจ
เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2566 บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (Huawei Technologies Co., Ltd.) ประเทศจีน แถลงผลประกอบการปี 2565 ว่าบริษัทมีรายได้ในปี 2565 จำนวน 642,000 ล้านหยวน (ประมาณ 93,098 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) กำไรสุทธิ 35,600 ล้านหยวน (ประมาณ 5,180 ล้านดอลลาร์สหรัฐ)
- บางกอกไพรด์ 2023 ชาว LGBTQ+ ฉลอง Pride Month พิธาประกาศนำ “สมรสเท่าเทียม” เข้าสภา
- วันหยุดเดือนมิถุนายน 2566 เช็กวันหยุดราชการ วันหยุดชดเชย วันสำคัญ
- ปฏิกิริยา “ร้อนใจ” แบบรัว ๆ ของจีน หลังญี่ปุ่นร่วมสหรัฐ “แบน” ชิปขั้นสูง
รายได้ 642,000 ล้านหยวนในปี 2565 นั้นเพิ่มขึ้น 0.82 % จากปี 2564 ซึ่งรายได้อยู่ที่ 636,800 ล้านหยวน ส่วนกำไรจำนวน 35,600 ล้านหยวน ลดลงมากถึง 69% จากปี 2564 ที่มีกำไร 113,700 ล้านหยวน เป็นการลดลงมากที่สุดตลอดกาล มากกว่าสถิติก่อนหน้านี้ในปี 2554 ซึ่งลดลง 54% จากปี 2553
รายได้ของหัวเว่ยจำแนกที่มาของรายได้ตามกลุ่มธุรกิจ 3 กลุ่ม คือ รายได้จากกลุ่มธุรกิจผู้ให้บริการโครงข่าย 284,000 ล้านหยวน รายได้จากกลุ่มธุรกิจลูกค้าองค์กร 133,000 ล้านหยวน และรายได้จากกลุ่มธุรกิจลูกค้าผู้บริโภคของหัวเว่ย 214,000 ล้านหยวน
สำนักข่าว CNBC รายงานว่า ตลอดปี 2562 และ 2563 หัวเว่ย ในฐานะยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีของจีนถูกกีดกันจากการเข้าถึงเทคโนโลยีที่สำคัญของอเมริกัน เช่น ระบบปฏิบัติการ Android ของ Google และส่วนประกอบที่จำเป็นในการผลิตสมาร์ทโฟน เช่น เซมิคอนดักเตอร์ นั่นทำให้ธุรกิจสมาร์ทโฟนของหัวเว่ยซึ่งเคยเป็นเบอร์ 1 ของโลก ต้องตกอยู่ในสภาพพิการ ส่งผลให้กลุ่มธุรกิจลูกค้าผู้บริโภคของหัวเว่ย ซึ่งหน่วยธุรกิจสมาร์ทโฟนอยู่ในกลุ่มนี้ มีรายได้ลดลงมากกว่า 11% จากปี 2564
หัวเว่ยเปิดตัวอุปกรณ์ใหม่ ๆ อย่างต่อเนื่องตั้งแต่สมาร์ทโฟนไปจนถึงสมาร์ทวอทช์ แต่ก็ประสบปัญหาในการขายอุปกรณ์นอกประเทศจีน เนื่องจากไม่สามารถใช้ Android ซึ่งเป็นระบบปฏิบัติการที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในต่างประเทศ แม้ว่าหัวเว่ยเปิดตัวระบบปฏิบัติการของตัวเองชื่อว่า HarmonyOS ซึ่งบริษัทระบุว่ามีการติดตั้งบนอุปกรณ์ 330 ล้านเครื่อง ณ สิ้นปี 2565 เพิ่มขึ้น 113% เมื่อเทียบกับปี 2564 แต่ระบบปฏิบัติการนี้ก็ไม่สามารถดึงดูดผู้ใช้นอกประเทศจีนได้

ส่วนรายได้จากกลุ่มธุรกิจผู้ให้บริการโครงข่าย ซึ่งรวมถึงการขายอุปกรณ์ให้กับบริษัทโทรคมนาคมสร้างรายได้ 284,000 ล้านหยวน เพิ่มขึ้น 0.9% จากปี 2564 แต่เป็นเพียงการฟื้นตัวขึ้นจากที่รายได้ปี 2564 ลดลงจากปี 2563 ซึ่งเป็นผลกระทบจากในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาสหรัฐอเมริกาได้เรียกร้องให้ประเทศต่าง ๆ ห้ามหัวเว่ยไม่ให้เข้าถึงเครือข่าย 5G ซึ่งบางประเทศ เช่น สหราชอาณาจักรได้ดำเนินการไปแล้ว ส่วนเยอรมนีกำลังพิจารณาที่จะดำเนินการ
ด้วยความท้าทายทั้งในด้านธุรกิจให้บริการโครงข่ายและธุรกิจลูกค้าผู้บริโภค หัวเว่ยจึงพยายามที่จะกระจายธุรกิจของบริษัทไปยังธุรกิจใหม่ ๆ ส่วนกลุ่มธุรกิจลูกค้าองค์กร ซึ่งรวมถึงรายได้จากการประมวลผลบนคลาวด์บางส่วน มีรายได้ 133,200 ล้านหยวน เพิ่มขึ้น 30% เมื่อเทียบกับปี 2564
หัวเว่ยพยายามนำโปรดักต์ของบริษัท ซึ่งรวมถึงคลาวด์คอมพิวติ้งเข้าไปให้บริการในอุตสาหกรรมเฉพาะ เช่น การเงินและการขุดเหมือง เพื่อช่วยให้บริษัทต่าง ๆ ทำ digitalize บริษัทของตนเอง ซึ่งหัวเว่ยได้เปิดเผยรายได้จากธุรกิจคลาวด์คอมพิวติ้งเป็นครั้งแรก โดยระบุว่าในปี 2565 ธุรกิจคลาวด์คอมพิวติ้งมีรายได้ 45,300 ล้านหยวน
นอกจากนี้ หัวเว่ยยังก้าวกระโดดตามความเฟื่องฟูของรถยนต์ไฟฟ้าของจีน และได้เปิดตัวรถยนต์ที่ร่วมพัฒนากับผู้ผลิตรถยนต์แบรนด์ Seres หน่วยธุรกิจ Intelligent Automotive Solutions ที่หัวเว่ยเพิ่งตั้งขึ้นทำรายได้ 2,100 ล้านหยวนในปี 2565 และหัวเว่ยบอกรายละเอียดว่าได้ลงทุนในหน่วยนี้ไปแล้ว 3,000 ล้านดอลลาร์นับตั้งแต่ก่อตั้งขึ้นในปี 2562 และปัจจุบันหน่วยธุรกิจนี้มีพนักงานวิจัยและพัฒนา 7,000 คน

จากข้อมูลอย่างเป็นทางการของหัวเว่ย อีริค สวี (Eric Xu) ประธานกรรมการบริหารหมุนเวียนตามวาระของหัวเว่ย กล่าวในการแถลงข่าวว่า ตลอดปี 2565 หัวเว่ยยังคงมีผลประกอบการที่มั่นคง และยังคงให้ความสำคัญกับการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนา (R&D) อย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2565 มีการลงทุนทั้งปี 161,500 ล้านหยวน คิดเป็น 25.1% ของรายได้ทั้งปี และทำให้ยอดรวมการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาของหัวเว่ยในรอบ 10 ปีที่ผ่านมามีมูลค่าสูงกว่า 977,300 ล้านหยวน
“สำหรับปี 2565 สภาพแวดล้อมภายนอกที่ท้าทายและปัจจัยอื่น ๆ ของตลาดยังคงส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานของหัวเว่ย แต่ท่ามกลางมรสุมในครั้งนี้ เรายังคงต้องก้าวไปข้างหน้าอย่างรวดเร็ว ทำทุกอย่างภายใต้ขอบเขตการดำเนินงานเพื่อรักษาความต่อเนื่องทางธุรกิจ และการให้บริการลูกค้า นอกจากนี้ เรายังพยายามอย่างเต็มที่เพื่อสร้างการเติบโต สร้างรายได้ที่สม่ำเสมอ เพื่อรักษาความอยู่รอดและวางรากฐานสำหรับการพัฒนาในอนาคต”
ซาบรีนา เมิ่ง (Sabrina Meng) ประธานกรรมการบริษัทหมุนเวียนตามวาระ และผู้บริหารสูงสุดด้านการเงิน (CFO) ของหัวเว่ย กล่าวว่า แม้ว่าในปี 2565 ที่ผ่านมาจะมีแรงกดดันมากมาย แต่ผลประกอบการทางธุรกิจโดยรวมยังเป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้ และสถานะทางการเงินของหัวเว่ยยังคงแข็งแกร่ง มีความยืดหยุ่นและมั่นคง การใช้จ่ายในด้านการวิจัยและพัฒนาในปี 2565 ซึ่งเป็นยอดใช้จ่ายที่สูงสุดในประวัติศาสตร์ของหัวเว่ย แสดงให้เห็นว่าในช่วงเวลาแห่งความกดดัน หัวเว่ยยังคงพร้อมรับมือด้วยความมั่นใจ
สำหรับในประเทศไทย หัวเว่ยได้ประกาศถึงความมุ่งมั่นในการต่อยอดการพัฒนาบุคลากรด้านดิจิทัลในประเทศไทยมาอย่างต่อเนื่อง โดยได้ตั้งเป้าหมายในการฝึกอบรมนักพัฒนากว่า 20,000 คน รวมไปถึงวิศวกรพลังงานสะอาดอีกกว่า 10,000 คน ภายในระยะเวลา 3 ปี ซึ่งในปี 2566 นี้ หัวเว่ยจะเดินหน้าตามแผนฝึกอบรมบุคลากรผู้เชี่ยวชาญด้านไอซีทีกว่า 14,000 คน ผ่านโครงการเรือธงอย่าง Huawei ASEAN Academy
และเดวิด หลี่ (David Li) ประธานกรรมการบริหาร บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด ยังคงตอกย้ำวิสัยทัศน์ของบริษัทในเรื่อง “เติบโตในประเทศไทย ร่วมสนับสนุนประเทศไทย”