พรรคเปลี่ยน ขึ้นแท่นจ่ายโฆษณาการเมืองมากสุดบน Facebook

นอก กองสลากพลัส META

อัพเดต อันดับผู้จ่ายค่าโฆษณาการเมืองมากสุดบน Facebook พรรคเปลี่ยน หรือ “นอท กองสลากพลัส” ทุ่มรวดเดียว 6.5 แสนบาท ใน 7 วัน 

วันที่ 13 เมษายน 2566 ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่าในรอบ 7 วันที่ผ่านมา (3 เม.ย. – 9 เม.ย.2566) สถิติการจ่ายเงินค่าโฆษณาทางการเมืองบน Facebook มีความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจเกิดขึ้น

ก่อนหน้านี้ Meta บริษัทแม่ของ Facebook ได้เปิดฟีเจอร์ Ad Library หรือ “คลังโฆษณา” เพื่อสร้างความโปร่งใสในการตรวจสอบข้อมูลย้อนหลัง โดยมีการแยกหมวดหมู่ “ประเด็นทางสังคม การเมือง หรือการเลือกตั้ง” ออกจากโฆษณาทั่วไป ทั้งยังเพิ่มแบนเนอร์ได้รับสปอนเซอร์ เพื่อให้ผู้คนในประเทศไทยรับรู้ว่าใครเป็นผู้ซื้อโฆษณาดังกล่าว

โดย Facebook ได้ขยายขอบเขตนับรวมไปถึงองค์กรไม่แสวงผลกำไร (NGOs) ที่รณรงค์ด้านการเมือง หรือข่าวสารด้านประเด็นทางสังคมอื่นๆ ด้วย

จากข้อมูลบน Ad Library ที่เริ่มเก็บตั้งแต่เดือนกันยายน 2565 ที่ผ่านมาถึงวันนี้ มีโพสต์เกี่ยวกับ ประเด็นทางสังคม การเมือง หรือการเลือกตั้ง ที่มีการซื้อโฆษณา ทั้งหมด 23,655 คอนเทนต์ ยอดเงินโฆษณา 15,324,762 บาท

สถิติน่าสนใจคือ ในรอบ 7 วันที่ผ่านมาเพจ “พรรคเปลี่ยน” ของนายพันธ์ธวัช นาควิสุทธิ์ หรือ นอท กองสลากพลัส เป็นเจ้าของแพลตฟอร์มกองสลากพลัส ลอตเตอรี่ออนไลน์ยอดนิยม และเป็น CEO บริษัท ลอตเตอรี่ออนไลน์ จำกัด มีการทุ่มเม็ดเงินโฆษณา 6.52 แสนบาท ในระยะเวลา 7 วันที่ผ่านมา (3 เม.ย. – 9 เม.ย.2566) ขึ้นแท่นจากอันดับ 8 มาเป็นที่ 1 แทนที่เพจ “ป้าโส FC by Tacina” เพจแฟนคลลับของวชิราภรณ์ กาญจนะ ผู้สมัคร ส.ส.เขต 3 จังหวัดสุราษฎร์ธานี พรรครวมไทยสร้างชาติ

Advertisment

อันดับผู้ซื้อโฆษณาทางการเมืองในรอบ 30 วัน

    1. พรรคเปลี่ยน
      เพจพรรคการเมืองใหม่ที่ก่อตั้งโดย นายพันธ์ธวัช นาควิสุทธิ์ หรือ นอท กองสลากพลัส จำนวนโฆษณา 26 ชิ้น ใช้เงิน 677,800 บาท
    2. ป้าโส FC by Tacina
      เพจแฟนคลับของวชิราภรณ์ กาญจนะ ผู้สมัคร ส.ส.เขต 3 จังหวัดสุราษฎร์ธานี พรรครวมไทยสร้างชาติ จำนวนโฆษณา 240 ชิ้น ใช้เงิน 218,736 บาท
    3. เพจพรรครวมไทยสร้างชาติ United Thai Nation Party
      จำนวนโฆษณา 107 ชิ้น ใช้เงิน 149,159 บาท
    4. เพจ ดร. วิทยา อินาลา พรรคไทยพร้อม
      เพจส่วนตัวของหัวหน้าพรรคไทยพร้อม
      จำนวนโฆษณา 23 ชิ้น ใช้เงิน 133,974 บาท
    5. เพจ ร้อยเอก ดร.จองชัย วงศ์ทรายทอง-ผู้กองเบิร์ด
      เพจส่วนตัวของผู้สมัคร ส.ส.เขต 2 จ.ชลบุรี พรรพลังประชารัฐ
      จำนวนโฆษณา 159 ชิ้น ใช้เงิน 123,721 บาท
    6. เพจ KBank Live
      เพจของธนาคารกสิกรไทยโฆษณาคอนเทนต์งานสัมนาทางเศรษฐกิจ โดยมีนายวรวุธ ศิลปอาชา เป็นวิทยากร ทำให้โฆษณาดังกล่าวถูกจัดในประเภทการเมือง
      จำนวนโฆษณา 13 ชิ้น ใช้เงิน 121,545 บาท
    7. เพจ สืบจากข่าว
      เพจข่าวสารที่มีคอยเทนต์วิพากษ์วิจารณ์การทำงานของหน่วยงานกำกับดูแลของรัฐบาล ถูกจัดในประเภทคอนเทนต์ทางการเมืองด้วย
      จำนวนโฆษณา 6 ชิ้น ใช้เงิน 117,040 บาท
    8. เพจ จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ Aoodda
      หัวหน้าพรรประชาธิปัตย์
      จำนวนโฆษณา 64 ชิ้น ใช้เงิน 110,128 บาท
    9. เพจ ดร.ตั้น กฤชนนท์ อัยยปัญญา
      เพจส่วนตัวของผู้สมัคร สส. กทม. เขต 29 พรรคเพื่อไทย
      จำนวนโฆษณา 21 ชิ้น ใช้เงิน 106,783 บาท
    10. เพจ เทมส์ ไกรทัศน์-ภูเก็ต
      เพจส่วนตัวผู้สมัคร ส.ส.ภูเก็ต พรรคชาติพัฒนากล้า
      ใช้เงิน 80,696 บาท จำนวนโฆษณา 32 ชิ้น

ข้อมูลดังกล่าวอยู่ในช่วงเวลา 11 มี.ค. – 9 เม.ย. 2566

งบฯใช้จ่ายหาเสียงเลือกตั้ง คำนวณอย่างไร ?

การคำนวณค่าใช้จ่ายของผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งหรือของพรรคการเมืองที่ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ สำหรับการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแต่ละครั้ง ให้คำนวณตามค่าใช้จ่ายที่ใช้จ่ายจริงในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในระหว่างระยะเวลาดังต่อไปนี้

Advertisment

1.เลือกตั้งเพราะสภาผู้แทนราษฎร ครบวาระ ให้คำนวณค่าใช้จ่ายที่ใช้จ่ายไปตั้งแต่ 240 วัน ก่อนวันที่คณะกรรมการการเลือกตั้งประกาศให้มีการเลือกตั้ง จนถึงวันเลือกตั้ง

2.เลือกตั้งเพราะยุบสภา หรือการเลือกตั้งแทนตำแหน่งที่ว่าง ให้คำนวณค่าใช้จ่ายที่ใช้จ่ายไปตั้งแต่วันที่ยุบสภาหรือวันที่ตำแหน่งว่างลง แล้วแต่กรณี จนถึงวันเลือกตั้ง

สำหรับค่าใช้จ่ายที่ กกต. กำหนดให้แต่ละผู้สมัคร ส.ส. แบบแบ่งเขต หรือพรรคการเมืองที่ส่งผู้สมัคร ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ สามารถใช้จ่ายได้ตามจริง แต่ไม่เกินที่กำหนด ดังนี้

ส.ส. แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง (ต่อคน)

  • กรณีสภา ครบวาระ ใช้จ่ายได้ไม่เกิน 7,000,000 บาท (เจ็ดล้านบาทถ้วน)
  • กรณี ยุบสภา/แทนตำแหน่งที่ว่าง ใช้จ่ายได้ไม่เกิน 1,900,000 บาท (หนึ่งล้านเก้าแสนบาทถ้วน)

ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ (ต่อพรรคการเมือง)

  • สภาครบวาระ ใช้จ่ายได้ไม่เกิน 163,000,000 บาท (หนึ่งร้อยหกสิบสามล้านบาทถ้วน)
  • ยุบสภา/แทนตำแหน่งที่ว่าง ใช้จ่ายได้ไม่เกิน 44,000,000 บาท (สี่สิบสี่ล้านบาทถ้วน)