เลือกตั้ง 2566 แต่ละพรรคการเมือง ใช้งบหาเสียงได้เท่าไร ?

การเลือกตั้ง หาเสียง

เปิดตัวเลขงบประมาณหาเสียงเลือกตั้ง กกต. กำหนดให้ ส.ส. ทั้งแบ่งเขตเลือกตั้ง และบัญชีรายชื่อ ของแต่ละพรรค ใช้จ่ายได้เท่าไร ?

หลังจากสัญญาณการเลือกต้ังรอบใหม่ ปี 2566 เริ่มชัดเจนขึ้นในทุก ๆ วัน ทั้งไทม์ไลน์การจัดการเลือกตั้ง ไปจนถึงสัญญาณของรัฐบาลชุดปัจจุบันที่จะต้องวางมือในไม่กี่เดือนข้างหน้า และสัญญาณของแต่ละพรรคการเมืองที่เริ่มเผยโฉมว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. และนโยบายต่าง ๆ ที่จะใช้เพื่อดึงดูดคะแนนเสียงและที่นั่งในสภา

และแน่นอนว่า การเลือกตั้งในแต่ละครั้ง คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จะมีการวางกฎเกณฑ์และระเบียบต่าง ๆ สำหรับการเลือกต้ัง และหนึ่งในนั้นคือ การกำหนดงบประมาณเพื่อการหาเสียงเลือกตั้งของแต่ละพรรคการเมือง

จากมติคณะกรรมการการเลือกตั้ง เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2566 ที่ได้พิจารณากำหนดจำนวนค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ตามมาตรา 62 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2563 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2566

โดยให้ความเห็นชอบรูปแบบที่พรรคการเมืองแสดงความเห็นด้วยจำนวนมากที่สุดในการหารือร่วมกันระหว่างคณะกรรมการการเลือกตั้งและพรรคการเมือง เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2566 ตามที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งเสนอ

งบใช้จ่ายหาเสียงเลือกตั้ง ตำนวณอย่างไร?

การคำนวณค่าใช้จ่ายของผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งหรือของพรรคการเมืองที่ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ สำหรับการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแต่ละครั้ง ให้คำนวณตามค่าใช้จ่ายที่ใช้จ่ายจริงในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในระหว่างระยะเวลาดังต่อไปนี้

1. เลือกตั้งเพราะสภาผู้แทนราษฎร ครบวาระ

ให้คำนวณค่าใช้จ่ายที่ใช้จ่ายไปตั้งแต่ 240 วัน ก่อนวันที่คณะกรรมการการเลือกตั้งประกาศให้มีการเลือกตั้ง
จนถึงวันเลือกตั้ง

2. เลือกตั้งเพราะยุบสภา หรือการเลือกตั้งแทนตำแหน่งที่ว่าง

ให้คำนวณค่าใช้จ่ายที่ใช้จ่ายไปตั้งแต่วันที่ยุบสภาหรือวันที่ตำแหน่งว่างลง แล้วแต่กรณี จนถึงวันเลือกตั้ง

แต่ละพรรคการเมือง ใช้จ่ายเพื่อหาเสียงได้เท่าไร?

สำหรับค่าใช้จ่ายที่ กกต. กำหนดให้แต่ละผู้สมัคร ส.ส. แบบแบ่งเขต หรือ พรรคการเมืองที่ส่งผู้สมัคร ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ สามารถใช้จ่ายได้ตามจริง แต่ไม่เกินที่กำหนด ดังนี้

ส.ส. แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง (ต่อคน)

  • สภาฯ ครบวาระ ใช้จ่ายได้ไม่เกิน 7,000,000 บาท (เจ็ดล้านบาทถ้วน)
  • ยุบสภา/แทนตำแหน่งที่ว่าง ใช้จ่ายได้ไม่เกิน 1,900,000 บาท (หนึ่งล้านเก้าแสนบาทถ้วน)

ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ (ต่อพรรคการเมือง)

  • สภาฯ ครบวาระ ใช้จ่ายได้ไม่เกิน 163,000,000 บาท (หนึ่งร้อยหกสิบสามล้านบาทถ้วน)
  • ยุบสภา/แทนตำแหน่งที่ว่าง ใช้จ่ายได้ไม่เกิน 44,000,000 บาท (สี่สิบสี่ล้านบาทถ้วน)

ในกรณีที่ผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ ได้ใช้จ่ายไปเพื่อการเลือกตั้งเป็นจำนวนเท่าใด ให้นับรวมเป็นค่าใช้จ่ายของพรรคการเมืองด้วย

การใช้งบหาเสียงเลือกตั้ง สำหรับกรณีอื่น

ในกรณีที่มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรใหมในเขตเลือกตั้งใด ก่อนประกาศผลการเลือกตั้ง ให้ผู้สมัคร ส.ส. แบบแบ่งเขตแต่ละคน ต้องใช้จ่ายในการเลือกตั้งใหม่ ดังนี้

  • กรณีต้องรับสมัครใหม่ ใช้จ่ายได้ไม่เกิน 950,000 บาท (เก้าแสนห้าหมื่นบาทถ้วน)
  • กรณีไม่ต้องรับสมัครใหม่ ใช้จ่ายได้ไม่เกิน 630,000 บาท (หกแสนสามหมื่นบาทถ้วน)

ส่วนกรณีอื่น ๆ ที่ต้องเลือกตั้งใหม่ มีการกำหนดค่าใช้จ่ายไว้ดังนี้

กรณีไม่มีผู้ได้รับคะแนนเสียงมากกว่าคะแนนเสียงที่ไม่เลือกผู้ใด และต้อรับสมัตรใหม่ ผู้สมัคร ส.ส. แบบแบ่งเขตแต่ละคน ต้องใช้จ่ายไม่เกิน 950,000 บาท (เก้าแสนห้าหมื่นบาทถ้วน)

ในกรณีที่มีการประกาศผลการเลือกตั้งแล้ว และมีเหตุให้ต้องมีการเลือกตั้งแทนตำแหน่งที่ว่าง ผู้สมัคร ส.ส. แบบแบ่งเขตแต่ละคน ต้องใช้จ่ายในการเลือกตั้งไม่เกิน 1,900,000 บาท (หนึ่งล้านเก้าแสนบาทถ้วน)