กสทช. เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็น ควบรวม AIS-3BB

ais 3bb

กสทช. เปิดเวทีประชาพิจารณ์ กรณีควบรวม AIS-3BB จับตาเรื่องที่กังวล มุมมองตัวแทนผู้บริโภค ผู้ประกอบการ นักวิชาการ 

วันที่ 25 กรกฎาคม 2566 ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานจากสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ว่าในวันนี้มีการจัดรับฟังความคิดเห็นต่อการขอควบรวมธุรกิจด้านบริการอินเทอร์เน็ตประจำที่ (บรอดแบรนด์) ระหว่าง บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด (AWN) บริษัทลูก AIS และบริษัท ทริปเปิลที บรอดแบนด์ จำกัด (มหาชน)

โดย “ประชาชาติธุรกิจ” ได้รวบรวมข้อคิดเห็น ข้อห่วงกังวล และข้อเสนอแนะจากผู้ขอควบรวมธุรกิจ ผู้ประกอบการรายอื่น ตัวแทนผู้บริโภคและนักวิชาการจากสำนักงาน กสทช. ได้รวบรวมไว้ในเบื้องต้น ได้แก่

ความเห็นจากผู้ขอควบรวมธุรกิจ

1.การควบรวมนำไปสู่การให้บริการแบบ FMC-Fixed Mobile Convergence หรือบริการในลักษณะของการรวมกลุ่มบริการอินเทอร์เน็ตประจำที่ และโทรศัพท์เคลื่อนที่ แล้วก็อาจจะมีบางเจ้าที่มีการเสริมการตลาด อาจจะเป็นเนื้อหาภาพยนตร์ เป็นกล่องโทรทัศน์ หากมีการรวมธุรกิจ 3BB ก็สามารถให้บริการในลักษณะนี้ได้ด้วยในส่วนต่อมา ผู้ขอรวมธุรกิจมองว่าถ้าเกิดการควบรวมขึ้น ผู้ให้บริการก็จะมีความหลากหลายทางเนื้อหาในการให้บริการ ทั้งเทคโนโลยีที่เอไอเอส หรือ AWN มีใช้ แต่ 3BB ไม่มี จะทำให้สามารถให้บริการร่วมกันได้ เช่น เมชไวไฟ รวมถึงการลากสายไฟเบอร์ออฟติก

การรวมธุรกิจครั้งนี้จะทำให้สถานะการเงินของ 3BB แข็งแรง สามารถชำระหนี้ให้กับกองทุน JASIF ได้ และสามารถให้บริการต่อในตลาดได้

ส่วนสุดท้ายที่เป็นผลกระทบในเชิงบวก ผู้ควบรวมธุรกิจให้ความเห็นไว้ว่า จะเกิดการใช้โครงสร้างพื้นฐานโดยเฉพาะสายสื่อสารร่วมกัน ลดปัญหาการลากสายซ้ำซ้อนที่เป็นปัญหาในปัจจุบัน

ADVERTISMENT

ประเด็นความเห็นอื่นที่เกี่ยวข้อง ผู้ควบรวมธุรกิจให้ความเห็นว่า 1.แม้การรวมธุรกิจอาจทำให้ตัวเลือกของผู้บริโภคลดลง แต่ว่าผลกระทบจะไม่ได้กระทบระดับประเทศ อาจจะกระทบเป็นเขตเมือง เนื่องจากในตลาดเขตต่างจังหวัด แทบจะไม่ได้มีการแข่งขันระหว่าง AWN และ 3BB อยู่แล้ว

2.การรวมธุรกิจ ไม่ได้เป็นการกีดกันการเข้าสู่ตลาดของผู้ให้บริการรายใหม่ เนื่องจากอินเทอร์เน็ตประจำ (บรอดแบรนด์) มีลักษณะตลาดที่แตกต่างจากโทรศัพท์เคลื่อนที่ โดยที่ผู้ให้บริการไม่จำเป็นต้องให้บริการทั่วประเทศ แต่ให้บริการเฉพาะพื้นที่นั้น ๆ จึงมองว่าผู้ให้บริการรายใหม่ก็จะไม่ไม่ได้ถูกกีดกันมากเท่าในกลุ่มของโทรศัพท์เคลื่อนที่

ADVERTISMENT

3.กรณีควบรวมธุรกิจ ของ AWN และ 3BB เป็นผู้ให้บริการโทรคมนาคมที่มีมูลค่าขนาดเล็ก มูลค่าโดยรวมน้อยกว่าการรวมธุรกิจครั้งก่อน 7-8 เท่า

4.ส่วนสุดท้าย กรณีของพื้นที่การให้บริการของผู้ขอควบรวมธุรกิจ มีลักษณะซ้อนทับกันเป็นส่วนน้อย หากนำดัชนี HHI (ดัชนีวัดความกระจุกตัวและการผูกขาดของตลาด) มาพิจารณาเพียงปัจจัยเดียวอาจจะไม่ครบถ้วน

ความเห็นจากผู้ให้บริการอื่น

กลุ่มผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตประจำที่อยู่ในกลุ่มอื่น ๆ จะมีประเด็นอยู่ 3 ประเด็น ได้แก่ ข้อกังวล ประเด็นที่เกี่ยวข้อง และข้อเสนอแนะต่อ กสทช.

1.ข้อห่วงกังวล

กลุ่มผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตประจำที่รายอื่น มีข้อห่วงกังวลในเรื่องของราคา โครงสร้างพื้นฐาน ทั้งในส่วนท่อร้อยสายและสายเคเบิลหลักที่อาจสูงขึ้นหลังการรวมธุรกิจ เนื่องจากจำนวนผู้ให้บริการที่ลดลง ทั้งผู้แจ้งการรวมธุรกิจอาจจะมีอำนาจต่อรองมากขึ้น หลังจากการรวมธุรกิจ ทำให้ผู้ขอร่วมธุรกิจมีต้นทุนที่ต่ำกว่าผู้ให้บริการรายอื่น และอาจได้เปรียบมากในการแข่งขันในตลาด คอร์ปอเรตหรือตลาดองค์กร ที่มีผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตประจำที่รายอื่นให้บริการอยู่แล้ว

หากเกิดการรวมธุรกิจ จะทำให้คู่ค้าของผู้ให้บริการรายอื่นลดลง และจะเกิดความได้เปรียบเสียเปรียบ เนื่องจากการให้บริการแบบ FMC ที่จะทำให้มีการขายแพ็กเกจมือถือคู่กับอินเทอร์เน็ตบ้าน หรืออินเทอร์เน็ตประจำที่ ซึ่งผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตประจำที่รายอื่นแข่งขันได้ยาก เนื่องจากไม่มีศักยภาพที่จะส่งเสริมการตลาดด้วยบริการอินเทอร์เน็ตเคลื่อนที่

นอกจากนี้ จำนวนผู้ให้บริการจะลดลงจาก 4 ราย เหลือเพียง 3 ราย ทำให้การแข่งขันในตลาดภาพรวมลดลง ทำให้ทางเลือกของผู้ให้ผู้ใช้บริการลดลงด้วย ผู้ใช้บริการอาจได้รับผลกระทบโดยไม่ได้รับบริการใหม่ในพื้นที่ หากในพื้นที่นั้นมีผู้ให้บริการเพียง 2 ราย และอาจจะไม่เกิดการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเพิ่มเติมด้วย

ทั้งนี้ การรวมธุรกิจจะทำให้ผู้บริโภคอาจจะมีความสับสนว่าจะใช้บริการใคร หรือบริการที่ใช้อยู่เป็นของผู้ให้บริการรายใด เนื่องจากในปัจจุบันยังไม่มีความชัดเจนเรื่องของผลของหลังการรวมธุรกิจว่าจะเป็นองค์กรในลักษณะใด

2.ประเด็นอื่นที่เกี่ยวข้อง

ตามการแจ้งของผู้ประสงค์รวมธุรกิจ จะทำให้ผู้ร่วมธุรกิจมีความเข้มแข็งด้านการให้บริการแบบ FMC อาจจะไม่ได้ถึงขนาดที่ทำให้เกิดการเสียเปรียบในการแข่งขันอย่างรุนแรง น่าจะทำให้ข้อเสนอทางธุรกิจหรือการแข่งขันในกรณีที่เป็นการแข่งขันในลักษณะของการให้บริการในอาคารชุด เช่น กรณีการให้บริการในนิติบุคคลอาคารชุดคอนโดฯต่าง ๆ หรือหมู่บ้านต่าง ๆ ที่มีการตกลงกันระหว่างผู้ให้บริการและนิติบุคคลของแต่ละส่วน

3.ข้อเสนอแนะต่อ กสทช.

กลุ่มผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตมีข้อเสนอแนะต่อ กสทช. 2 ประการคือ หนึ่ง ในเรื่องของการกำกับเรื่องราคาและการให้บริการ อยากให้ กสทช.กำกับให้มีความเหมาะสม และ สอง ให้มีมาตรการที่สนับสนุนให้ผู้ให้บริการอื่น สามารถเข้าถึงโครงสร้างพื้นฐานและใช้โครงข่ายได้อย่างมีประสิทธิภาพเพิ่มเติม

ความเห็นกลุ่มหน่วยงานคุ้มครองผู้บริโภค

สภาองค์กรของผู้บริโภค และคณะกรรมการคุ้มครองสิทธิ ในกลุ่มนี้มีข้อเสนอ 2 ประการ คือ ข้อห่วงกังวล และข้อเสนอแนะต่อสำนักงาน หรือต่อ กสทช.

ข้อห่วงกังวลของกลุ่มที่เป็นหน่วยงานเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค

คือ จำนวนผู้แข่งขันในตลาดจะเหลือเพียง 3 ราย ทำให้การแข่งขันในตลาดน้อยลง นอกจากนี้ อาจไม่เกิดการพัฒนาด้านคุณภาพการให้บริการ และอาจมีราคาการให้บริการที่สูงขึ้น เนื่องจากผู้ให้บริการมีจำนวนน้อยราย โดยกลุ่มนี้นะครับมีข้อเสนอแนะต่อ กสทช. 5 ประการคือ

1) ให้กำหนดเงื่อนไขหลังการควบรวมธุรกิจระหว่าง AIS และ 3BB โดยให้ กสทช. กำหนดมาตรการในการกำกับดูแลด้านราคาที่เคร่งครัด เช่น กำหนดเพดานราคาค่าบริการเพื่อเป็นประโยชน์ต่อการใช้งานของผู้บริโภค

2) กำหนดให้ผู้ให้บริการขยายโครงข่ายให้ครอบคลุมในทุกพื้นที่ เพื่อให้บริการแก่ประชาชนที่อยู่ชายขอบสามารถเข้าถึงบริการได้ทั่วประเทศ

3) กำหนดให้ผู้ให้บริการรายงานว่ามีหน่วยงานใดขอข้อมูลผู้ใช้บริการไปดำเนินการอย่างไรบ้าง และมีการเปิดเผยข้อมูลดังกล่าว เป็นจำนวนตัวเลขให้ประชาชนทราบทุกปี เพื่อที่จะปกป้องข้อมูลในส่วนของข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ใช้บริการ

4) กำหนดและกำกับดูแลคุณภาพการให้บริการของผู้ให้บริการ ให้มีคุณภาพใกล้เคียงกันในแต่ละเจ้า ให้มีคุณภาพดีใกล้เคียงกัน

5) กำหนดมาตรการในการทำให้เกิดผู้ให้บริการรายใหม่ในตลาด หรือสนับสนุนให้มีผู้เข้าแข่งขันรายใหม่เพิ่มขึ้น

ความเห็นจากกลุ่มผู้เชี่ยวชาญและนักวิชาการ

แบ่งเป็นสองส่วนคือ ส่วนของข้อห่วงกังวลและข้อเสนอแนะต่อ กสทช.

ในส่วนของข้อห่วงกังวลคือ การรวมธุรกิจครั้งนี้อาจทำให้ผู้ให้บริการมุ่งเน้นการให้บริการแบบ FMC และไม่ให้บริการแบบแยกประเภท เป็นเหตุให้ราคาค่าบริการของบริการแบบ FMC มีราคาสูงขึ้น

นอกจากนี้ อาจเกิดรายการส่งเสริมการขายแบบ FMC มากขึ้นในตลาด ทำให้เกิดอุปสรรคในการเข้าสู่ตลาดของผู้แข่งขันรายใหม่ที่ไม่สามารถให้บริการแบบ FMC ได้

ทั้งจะเกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจ ด้วยจากผลการศึกษาพบว่า เมื่อผู้ให้บริการมีอำนาจในการตลาดที่สูงขึ้นอาจจะเป็นปัจจัยที่ทำให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้น แล้วยังลดทอนประสิทธิภาพนโยบายการบริหารทางการเงินของสถาบันทางการเงินด้วย ประกอบกับผู้ให้บริการที่มีอำนาจตลาดสูงขึ้น จะส่งผลกระทบต่อตลาดแรงงาน ทำให้ผู้ให้บริการมีอำนาจต่อรองกับพนักงานสูงขึ้น และทำให้ตัวเลือกนายจ้างสำหรับผู้ที่เป็นแรงงานลดน้อยลง

นอกจากนี้ เมื่อเกิดการรวมธุรกิจอาจทำให้ผู้ให้บริการรายใดรายหนึ่ง มีข้อมูลของผู้ใช้บริการมากเกินกว่าผู้ให้บริการรายอื่น ทำให้เกิดข้อได้เปรียบ

เรื่องการให้ข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ใช้บริการ เป็นการลดตัวเลือกของของผู้ใช้บริการที่จะใช้บริการ และพิจารณาว่าข้อมูลส่วนบุคคลของตนจะไปอยู่ในมือของผู้ให้บริการรายใด

ข้อกังวลสุดท้าย เป็นเรื่องของพื้นที่ชนบท ที่ดัชนี HHI ควรน้อยกว่า 3,000 จุด แต่การควบรวมครั้งนี้อาจจะทำให้ค่าสูงไปถึง 3,500 จุด อาจเกิดการกระจุกตัวเพิ่มขึ้นทำให้ค่าบริการเพิ่มขึ้นโดยอาจเพิ่มขึ้น 8-20%

ส่วนข้อเสนอแนะในกลุ่มนักวิชาการ หรือผู้เชี่ยวชาญต่อ กสทช. จะมีอยู่ 3 ประการ

1) กำหนดให้มีบริการแยกที่เป็นทางเลือกให้ผู้ใช้บริการ ไม่ต้องใช้บริการในลักษณะเหมารวมแบบ FMC หรือสามารถเลือกใช้บริการได้ตามที่ต้องการ

2) รักษาและเพิ่มทางเลือกให้กับผู้บริโภค โดยพยายามที่จะทำให้มีผู้ให้บริการอย่างน้อย 3 รายในทุกพื้นที่ และกำหนดเงื่อนไขสัญญาไม่ให้ผู้ให้บริการเพิ่มราคาในพื้นที่ที่มีผู้แข่งขันน้อยราย

3) พัฒนาการเข้าถึงการค้าส่งและเกตเวย์ กำหนดเงื่อนไขสัญญาและคุณภาพของการเข้าถึงบริการและโครงข่ายอินเทอร์เน็ต ในส่วนนี้จะเป็นเรื่องของการกำกับดูแลเกี่ยวกับการขายส่งบริการอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ด้วย