
กลุ่มทรูรายงานผลประกอบการไตรมาสที่ 2/2566 มีรายได้จากการให้บริการ 39,431 ล้านบาท ขาดทุน 2,320 ล้านบาท ยอดผู้ใช้บริการ 5G เพิ่ม 32% เป็น 8.3 ล้านราย จากไตรมาสก่อน
วันที่ 27 กรกฎาคม 2566 บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น รายงานผลประกอบการไตรมาสที่ 2/2566 ต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยว่า มีรายได้รวม 39,431 ล้านบาท ขาดทุนรวม 2,320 ล้านบาท โดยแบ่งรายละเอียดดังนี้
- เช็กเงินช่วยเหลือชาวนาไร่ละ 1,000 บาท เข้าบัญชีวันนี้ 5 จังหวัด
- EV จีนทุบราคาเลือดสาด ฉางอานท้ารบ-BYD เกทับลดอีกแสน
- วิธีเช็กเงินช่วยเหลือชาวนา ไร่ละ 1,000 บาท chongkho.inbaac.com
บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น ในไตรมาส 2/2566 มีรายได้รวม 49,113 ล้านบาท ขณะที่รายได้จากการให้บริการอยู่ที่ 39,431 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.1 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน โดยมีสาเหตุมาจากรายได้จากการให้บริการที่เติบโตขึ้นจากธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่และธุรกิจออนไลน์
ธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่
มีรายได้จากการให้บริการ 31,269 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.8 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน โดยมีสาเหตุมาจากการปรับตัวของการแข่งขันในตลาด นำไปสู่การเติบโตของรายได้เฉลี่ยต่อผู้ใช้บริการ (ARPU) และการเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้ใช้บริการเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ผู้ใช้บริการระบบเติมเงินยังคงเติบโตแข็งแกร่งมาอยู่ที่ 35.4 ล้านราย เป็นผลจากการกลับมาอย่างต่อเนื่องของนักท่องเที่ยวและแรงงานต่างด้าว ในขณะที่ผู้ใช้บริการระบบรายเดือนทรงตัวอยู่ที่ 15.7 ล้านราย
ทั้งนี้ผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ทั้งหมดเติบโตขึ้นร้อยละ 1.3 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน โดย ณ สิ้นไตรมาส 2 มีฐานผู้ใช้บริการรวม 51.1 ล้านราย
ธุรกิจออนไลน์
มีรายได้จากการให้บริการ 5,935 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.2 จากไตรมาสก่อน จาก ARPU ที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.5 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน เป็นผลมาจากการเพิ่มคุณภาพของการได้มาซึ่งผู้ใช้บริการใหม่ ผ่านการยกเลิกส่วนลดและการเพิ่มโอกาสจากการขายพ่วงหลังจากการควบรวมบริษัท
ธุรกิจโทรทัศน์บอกรับสมาชิก
มีรายได้จากการให้บริการ 1,569 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 5.7 จากไตรมาสก่อน เนื่องจากการลดลงของรายได้ จากค่าสมาชิกและค่าติดตั้งที่คิดเป็นร้อยละ 76 ของรายได้จากการให้บริการ
รายได้จากธุรกิจดนตรีและบันเทิงลดลงในไตรมาส 2 สืบเนื่องมาจากการจัดกิจกรรมที่ลดลง จํานวนผู้ใช้บริการและรายได้เฉลี่ย ต่อผู้ใช้บริการ (ARPU) ทรงตัวเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน
รายได้จากการเชื่อมต่อโครงข่าย
มีรายได้ 382 ล้านบาทลดลงร้อยละ 75.4 จากไตรมาสก่อน โดยในไตรมาส 1/2566 มีรายได้จากการเชื่อมต่อโครงข่ายที่สูง เนื่องจากผลกระทบที่เกิดขึ้นเพียงครั้งเดียวจากการบรรลุข้อตกลงในเชิงบวกของข้อพิพาททางกฎหมาย
รายได้จากการขาย
มีรายได้ 4,107 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 28.5 จากไตรมาสก่อนจากการขายที่ลดลงตามฤดูกาล
ค่าใช้จ่าย
ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานไม่รวมค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย 26,793 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 16.7 จากไตรมาสก่อน จากมาตรการการเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงานและการรับรู้ผลประโยชน์อย่างรวดเร็ว จากการควบรวมค่าใช้จ่ายเชื่อมต่อโครงข่ายเป็น -1,075 ล้านบาท ในไตรมาส 2 ปี 2566 ซึ่งได้รับประโยชน์จากการกลับรายการการตั้งสํารอง สืบเนื่องจากการระงับข้อพิพาททางกฎหมาย
ค่าใช้จ่ายด้านโครงข่ายจำนวน 4,165 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 8.4 จากไตรมาสก่อน จากการลดลงของอัตราค่าไฟฟ้าและจากมาตรการการเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงาน
ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการให้บริการอื่น ๆ ลดลงร้อยละ 3.1 จากไตรมาสก่อน จากผลกระทบเชิงลบ เกิดขึ้นเพียงครั้งเดียว ในไตรมาส 1/2566
ต้นทุนขายลดลงร้อยละ 24.4 จากไตรมาสก่อน จากยอดขายสินค้าลดลงตามฤดูกาลในไตรมาส 2 ปี 2566
ค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารลดลงร้อยละ 21.3% จากไตรมาสก่อน อันเนื่องมาจากการเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการค่าใช้จ่าย ทางการตลาด การลดลงของหนี้สูญจากการเรียกเก็บเงิน และการลดลงของค่าจ่ายที่เกี่ยวข้องกับการควบรวมกิจการ
EBITDA ในไตรมาส 2/2566 เป็น 22,320 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 14.7 จากไตรมาสก่อน จากทั้งการเพิ่มขึ้นของรายได้ จากการให้บริการ และการลดลงของค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานจากมาตรการมุ่งเน้นการเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงานของบริษัท EBITDA ยังได้รับผลเชิงบวกจากการยุติข้อพิพาททางกฎหมาย
ทั้งนี้ หากปรับปรุงด้วยผลกระทบที่เกิดขึ้นเพียงครั้งเดียว EBITDA เพิ่มขึ้น 1.6 พันล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.2 จากไตรมาสก่อน อัตราส่วน EBITDA ต่อรายได้รวมยังคงแข็งแกร่ง ร้อยละ 45.4 ในไตรมาส 2 ปี 2566
ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจําหน่าย จำนวน 17,837 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.3 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน จากการขยายโครงข่ายอย่างต่อเนื่อง เพื่อเพิ่มประสบการณ์และคุณภาพการให้บริการแก่ลูกค้า
บริษัทรายงานผลขาดทุนสุทธิส่วนที่เป็นของบริษัท -2,320 ล้านบาท จากการกลับรายการของสินทรัพย์ภาษีเงินได้ บัญชีจากการยกยอดผลขาดทุนของ DTN จากความเป็นไปได้ในการปรับโครงสร้างธุรกิจ ภายใต้กลุ่มบริษัท การเพิ่มขึ้นของค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายจากการขยายโครงข่าย การปรับอายุการใช้งานของสินทรัพย์ให้สอดคล้องกัน และค่าใช้จ่ายเพื่อให้ได้มาซึ่งประโยชน์จากการควบรวม (Integration Costs) จํานวนประมาณ 250 ล้านบาท
ตัวเลขสำคัญทางการเงินในไตรมาส 2 ปี 2566 (ตามงบการเงินเสมือน)
- รายได้จากบริการไม่รวมค่าเชื่อมต่อโครงข่าย (IC) จำนวน 39,431 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.1% (QOQ)
- EBITDA อยู่ที่ 22,320 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 14.7% (QOQ)
- อัตรากำไร EBITDA (เมื่อเทียบกับรายได้รวม) อยู่ที่ 45.4%
- ขาดทุนสุทธิ จำนวน 2,320 ล้านบาท
สำหรับการคาดการณ์ในปี 2566 บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น ได้ปรับปรุงแนวโน้มสำหรับปี 2566 ซึ่งคิดเป็นระยะเวลา 10 เดือนของการดำเนินงานนับจากวันที่ควบรวมกิจการเสร็จสิ้น โดยคาดว่า EBITDA จะมีการเติบโตที่เป็นตัวเลขหลักเดียวในระดับต่ำ-ปานกลาง (low-to-mid single digit) ในขณะที่ยังคงแนวโน้มที่ทรงตัวสำหรับรายได้จากการให้บริการไม่รวมรายได้ค่าเชื่อมต่อโครงข่าย (IC) ทั้งนี้ เงินลงทุน หรือ CAPEX ประมาณการไว้ที่ 25,000-30,000 ล้านบาท ตามที่เคยประกาศไว้
หลังการควบรวมประหยัดเงินลงทุน 3,000 ล้านบาท
รายงานระบุด้วยว่า บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น ยังคงมุ่งมั่นในการดำเนินการปรับแนวทาง ปฏิบัติงานให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน และรับรู้ถึงประโยชน์จากการควบรวม นับเป็นการครบกำหนดระยะเวลา 4 เดือนในช่วงไตรมาส 2 ปี 2566 หลังจากการควบรวมบริษัท
ท่ามกลางความสำเร็จในระยะสั้นตั้งแต่ควบรวมบริษัท หนึ่งในความสำเร็จหลักคือการประสบความสำเร็จในกระบวนการพิจารณาข้อเสนอ (RFP) และแต่งตั้งคู่ค้าที่จะเข้ามามีส่วนในการดำเนินการตามแผนงานเพื่อรวมเครือข่ายเข้าด้วยกัน โดยบริษัทได้ประโยชน์จากการประหยัดต่อขนาดที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้สามารถเพิ่มประสิทธิภาพของเงินลงทุนได้อย่างเหมาะสมและช่วยประหยัดเงินลงทุนได้ถึงประมาณ 3 พันล้านบาทภายหลังจากการควบรวมบริษัท
ลูกค้าทั้งจากแบรนด์ทรูและดีแทคได้รับประโยชน์จากการรับบริการด้วย สินค้าและบริการที่หลากหลายกว่า นำไปสู่การเติบโตของการขายพ่วง และความจงรักภักดีที่ลูกค้ามีต่อแบรนด์เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า เพิ่ม โอกาสในการรับรู้รายได้ ทั้งนี้ ณ สิ้นไตรมาส 2 ปี 2566 ผู้ใช้บริการมากกว่า 29 ล้านรายได้รับประโยชน์จากความหลากหลายของคลื่นความถี่ เครือข่ายที่กว้างขึ้น และได้รับประสบการณ์ที่ดีขึ้นจากการใช้บริการข้าม โครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ภายในประเทศ
ทั้งนี้จากการยกระดับคุณภาพ โครงข่ายและการเชื่อมต่อที่ครอบคลุม ทำให้ผู้ใช้บริการดีแทคได้รับ ประสบการณ์การใช้งานบนเทคโนโลยี 5G ที่เร็วขึ้นถึง 2.3 เท่า ท่าให้การ ใช้งาน 5G เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 12
ในไตรมาส 2/2566 บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น เป็นผู้ให้บริการเทคโนโลยี 5G ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย โดยครอบคลุมประชากรถึงร้อยละ 90 มีผู้ใช้บริการ 5G เติบโตเป็น 8.3 ล้านราย นับเป็นการเติบโตเพิ่มขึ้นร้อยละ 32 เมื่อเทียบจากไตรมาสก่อน รายได้เฉลี่ยต่อผู้ใช้บริการ (ARPU) ของเทคโนโลยี 5G มีการเพิ่มขึ้นร้อยละ 10-15
โดยสาเหตุหลักมาจากการขายอุปกรณ์พร้อมบริการและการพัฒนาประสบการณ์ระบบโครงข่าย แบรนด์ทรูและดีแทคยังคงเป็นผู้ประกอบการชั้นนำสำหรับกลุ่มนักท่องเที่ยวและแรงงานต่างด้าว เป็นผลมาจากการปรับเนื้อหาให้เหมาะสมเพื่อนำมาตอบสนองความต้องการให้กับลูกค้าแบบเฉพาะบุคคล ครอบคลุมถึงความบันเทิงในระดับท้องถิ่นและโซเชียลมีเดีย
รวมถึงการให้ข้อเสนอการขายอุปกรณ์พร้อมบริการที่น่าสนใจ ทั้งนี้ จำนวนการทำธุรกรรมภายใต้โปรแกรมสิทธิพิเศษหรือโปรแกรมความภักดี เพิ่มขึ้นร้อยละ 17 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และช่วยให้สามารถรักษาฐานลูกค้าที่ใช้บริการแพ็กเกจที่มีอัตราค่าบริการในระดับสูงได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 9 จากไตรมาสก่อน โดย ณ สิ้นไตรมาส 2 ปี 2566 ผู้ใช้บริการดิจิทัลของทรู คอร์ปอเรชั่น อยู่ที่ระดับ 14 ล้านราย
- “ทรู คอร์ปอเรชั่น” ขอบคุณนักลงทุนที่เชื่อมั่น ตอบรับหุ้นกู้
- บันไดสู่ “เทค-เทเลคอม” ทรู ผนึก GSMA พัฒนา APIs แบบเปิด